ช่วงปีที่ผ่านมาเรื่องของประเทศไทย 4.0 ถูกพูดถึงให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงสำคัญเพราะอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็น 4.0
ที่จะเป็นยุคแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยรัฐบาลหวังจะนำพาประเทศชาติไปพบกับ "ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ให้ได้
ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและมีรายได้ปานกลางมาราว 50 ปีและยังไม่สามารถพาตัวเองไปสู่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมีรายได้สูงได้เสียทีเห็นได้ชัดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาที่ถดถอยลงเหลือเพียงปีละ 3-4% จากที่เคยเฟื่องฟูถึงปีละ 7-8% เมื่อย้อนกลับไปช่วงปี 2500-2536
ขณะเดียวกัน ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้ในสังคมค่อนข้างมาก ตลอดจนการพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศนั้นไม่ค่อยจะยั่งยืน เพราะเราพัฒนาเพียงด้านเศรษฐกิจแต่ยังอ่อนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนได้ภายใน 3-5ปี ด้วยโมเดลทางเศรษฐกิจแบบใหม่ในหลายๆ มิติ โดยเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าเชิงโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม และขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ที่จะเน้นไปที่ภาคบริการมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันภาครัฐดำเนินการบางส่วนไปแล้ว เช่น การสร้างระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ โครงการ เนชั่นแนล อีเพย์เมนท์, การแบ่งเขตการพัฒนาเป็น18 กลุ่มจังหวัด การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ต้นแบบ รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก นอกจากนั้นมีการจัดตั้งหน่วยงาน ส่งเสริมงานวิชาการ อีเวนท์ใหญ่ ที่สนับสนุนธุรกิจในเชิงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในหลายมิติ
อย่างไรก็ตามแม้แนวทางการผลักดันไปสู่ยุค 4.0 จะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่นโยบายนี้ยังเป็นที่น่ากังวลในส่วนของรายละเอียดที่ยังขาดอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาคนที่ยังไม่เป็นรูปธรรมนัก
เพราะปัจจุบันคุณภาพการศึกษาของเรายังคงเป็นปัญหาใหญ่ เห็นได้จากการที่คุณภาพการศึกษาไทยถูกจัดอันดับโดย World Economic Forum ประจำปี 2559 ให้รั้งอยู่ที่อันดับ 84 จาก 138 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้นำด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น ควรจะพัฒนาทรัพยากรบุคคลเสียก่อน
นอกเหนือไปจากการเร่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษาแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่จำเป็น คือ มาตรการที่เอื้ออำนวยและจูงใจในการดึงดูดบุคลากรคุณภาพจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ ของแรงงาน เช่น สิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วจากนโยบายทำนองเดียวกันนี้ จนปัจจุบันสามารถสร้างเทคโนโลยีเป็นของตนเอง
อย่างที่รัฐบาลมักจะกล่าวถึงเรื่องพลังประชารัฐอยู่เสมอ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจำเป็นอย่างยิ่งต่อการก้าวไปสู่ความสำเร็จของนโยบายนี้ นอกจากการสร้างแผนพัฒนาที่ชัดเจนและต่อเนื่องจากภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากภาคเอกชนแล้ว ภาคประชาชนก็ต้องทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพด้วยเช่นกัน
หากคนไทยไม่เปลี่ยนค่านิยมใหม่ และเร่งพัฒนาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่เพียงรอแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว การจะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนจนสามารถหลุดพ้นจากทั้งกับดักรายได้ปานกลาง ลดปัญหาความเลื่อมล้ำ กระทั่งสามารถก้าวไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความอยู่ดีกินดีที่แท้จริงก็จะเป็นเพียงความฝันอันสวยหรูที่ยากจะเอื้อมถึงอีกเช่นเคย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 27 ตุลาคม 2560