เมื่อเราพูดถึงการครอบครองที่ดินโดยมิชอบในประเทศไทยนั้น เราจะเห็นได้ว่ามีอยู่แทบจะทั่วทุกที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะการครอบครองของคนมีอำนาจในสังคม นักเก็งกำไรที่ดิน นายทุนที่ดินเมือง และนายทุนท้องถิ่น สิ่งที่ตามมาคือ การขาดแคลนที่ดินทำกินของประชาชนส่วนมากของประเทศ จนเป็นสาเหตุหนึ่งให้ประชาชนต้องรุกล้ำที่ดินของรัฐ
กระทั่งรัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการจัดสรรที่ดินรัฐให้กับประชาชน หนึ่งในแนวทางการจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนในอดีต เช่น การเกิดขึ้นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร(ส.ป.ก.) ที่ก่อตั้งปี 2518 เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรผู้ยากไร้ โดยมีพื้นที่ดำเนินการอยู่ที่ 40 ล้านไร่ กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ กระทั่งปัจจุบันพื้นที่ดินเนินการบางส่วนถูกครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านไร่ ที่ถูกครอบครองโดยคนไม่ใช่เกษตรกรหรือประชาชนธรรมดาที่มีปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน
ด้วยปัญหาครอบครองที่ดินมิชอบที่เรือรังมานาน หลายรัฐบาลพยายามแก้ไข ล่าสุดรัฐบาลทหารปัจจุบัน ก็ได้มีคำสั่งทวงคืนผืนป่า ยึดคืนพื้นที่ของรัฐที่ถูกบุกรุก เช่นในกรณีที่จะกล่าว ที่รัฐบาลทหาร ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 ยึดคืนที่ที่ ส.ป.ก.ขนาดใหญ่ที่ถูกครอบครองโดยมิชอบ โดยในคำสั่งได้กำหนดขั้นตอนการประกาศพื้นที่เป้าหมาย การแสดงหลักฐานการครอบครอง การแจ้งเตือนให้รื้อถอน/ย้ายออก การพัฒนาที่ดินที่ถูกยึดคืน และกาารจัดสรรให้เกษตรกร
ซึ่งกรณีศึกษาที่เป็นข่าวใหญ่ในการดำเนินการของรัฐต่อกรณีนี้ คือการยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการสวนส้มรายใหญ 3 ราย ในพื้นที่ อ.ฝาง แล อ.แม่อาย ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนกว่า 5,958 ไร่ ซึ่งครอบครองโดยไม่มีเอกสารสิทธิ และไม่ใช่เกษตรกรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. จึงได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ ซึ่งในกฎหมาย ส.ป.ก.สามารถครอบครองได้ไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ปิดประกาศให้ผู้ครอบครองทราบ เพื่อดำเนินการรื้อถอน/ย้ายออกภายในระเวลาที่กำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งแล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนตามคำสั่ง หน.คสช. ที่ 36/2559
ล่าสุด พื้นที่ยึดคืนทั้งหมด มีการแบ่งเป็นโซนเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกรวมทั้งหมด 300 ราย แต่ละรายจะได้ที่อยู่อาศัยและปลูกพืชผักสวนครัวครอบครัวละ 2 ไร่ และได้พื้นที่ทำกินที่เป็นสวนส้มเดิมที่จะต้องเข้าไปดูแลต่ออีกครอบครัวละ 11 ไร่ โดยมีเงื่อนไขที่เกษตรกรได้รับการคัดเลือกทั้ง 300 ราย จะต้องปฏิบัติตาม คือ ต้องไม่ปลูกพืชชนิดอื่นในพื้นที่ที่ได้รับจัดสรร แต่จะให้มาดูแลสวนส้มต่อไปเพื่อให้มีรายได้จากผลผลิต ทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์และสหกรณ์จังหวัดจะเข้ามาจัดระบบให้ทั้งหมด
สปก.จะจัดให้เกษตรกรได้ 300 ราย จึงต้องจัดพื้นที่สวนส้ม 5,958 ไร่ ดังนี้ 1. พื้นที่พักอาศัยพร้อมพื้นที่ทําการเกษตรทฤษฎีใหม่ รวม 600 ไร่ 2. พื้นที่ Buffer Zone เพื่อป้องกันยาฆ่าแมลง/โรคระบาด รวม 176 ไร่ 3.พื้นที่ที่จะเป็นถนน/พื้นที่ส่วนกลาง 4.พื้นที่แหล่งน้ำรวม 352 ไร่ 5.พื้นที่สวนส้ม 4,061 ไร่ 6.ทั้งนี้พื้นที่บางส่วนมีอยู่แล้ว แต่พื้นที่บางส่วนต้องถากถางสวนส้ม เนื้อที่ 947 ไร่ ซึ่งได้พื้นที่ที่เป็นต้นส้ม
ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการข้างต้นอยู่ในช่วงสุดท้าย คือ แนวทางการพิจารณาจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกร ตามคำสั่ง คสช. ล่าสุด นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ได้ลงพื้นที่สวนส้ม พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อพิจารณาการนำเอาพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับคนจนตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.) แต่ปรากฎว่าพื้นที่ที่ คสช.ยึดคืนจาก 3 บริษัท ตั้งแต่ปี 2559 นั้น ปัจจุบันบริษัทยังคงบริหารจัดการสวนส้มตามปกติ ส่วนเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ยึดคืนนั้น เมื่อจะเข้าพื้นที่จะต้องเจ้าประสานทางบริษัทที่ถูกยึดที่ดินนี้ทุกครั้งเพื่อขอเข้าพื้นที่ และขอกำลังทหารคุ้มครองทุกครั้ง
ซึ่งสิ่งที่นายประยงค์ ดอกลำใย ลงพื้นที่และได้ประสบเจอ สะท้อนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกรงกลัวนายทุนในพื้นที่ และสะท้อนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการทวงคืนพื้นที่ที่เป็นไปด้วยความล่าช้าและไม่จริงใจในการดำเนินการ เพราะคงไม่ได้มีแค่ 5,958 ไร่ ที่รัฐจะทำประเทศไทย แต่ยังมีพื้นที่ ส.ป.ก.อีก 4 ล้านไร่ ที่ต้องไปยึดคืนจากนายทุนที่ครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วย เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน
ที่มา landwatchthai 20 ตุลาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.