เมล็ดถั่วดาวอินคา
ปัญหาของร่างกฎหมายฉบับนี้คืออะไร มูลนิธิชีววิถีสรุปไว้ดังนี้
ตัดสิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกต่อ
แม้มาตรา 25 จะมีข้อความว่า ‘เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สําหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง’ แต่ข้อความในวรรคต่อมาที่ระบุว่า ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอํานาจออกประกาศกําหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจํากัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้’
วิฑูรย์กล่าวว่า “หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐมนตรีประกาศ สามารถห้ามเกษตรกรไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้ นี่เป็นจุดประสงค์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์มาโดยตลอด และการที่เขาผลักดันกฎหมายโดยไปเอาหลักกฎหมาย UPOV 1991 (อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้”
หากเกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ที่ขอรับความคุ้มครองไว้แล้วมาปลูก โทษก็คือจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกัน ที่มาของกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีอำนาจในการออกประกาศฯ กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน (มีเกษตรกรอย่างน้อย 6 คน) มาจากการเสนอชื่อ/คัดเลือกกันเอง แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี
ขยายสิทธิการผูกขาดของบริษัทเมล็ดพันธุ์
1. ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช แต่เดิม พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้ หลังปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้ หลังปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปี ให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปี ตามลำดับ มาตรา 31 ของร่างกฎหมายฉบับใหม่ ขยายระยะเวลาเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) มีระยะเวลา 25 ปี
2. ขยายการคุ้มครองจาก ให้การคุ้มครองเฉพาะ ‘ส่วนขยายพันธุ์’ ให้รวมไปถึง ‘ผลิตผล’ และ ‘ผลิตภัณฑ์’
3. ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Varieties: EDVs) พันธุ์ที่ไม่แสดงความแตกต่างจากพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ต้องอาศัยพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองในการขยายพันธุ์ทุกครั้ง
เปิดทางสะดวกให้กับโจรสลัดชีวภาพ
ร่างกฎหมายฉบับใหม่เปิดทางให้ผู้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์ โดยเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า ‘พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป’ หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์
การแก้นิยามดังกล่าวทำให้บริษัทต่างๆ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้ เพียงแค่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า มา ‘ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์’ ก็จะไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์
หากเทียบกับกฎหมายเดิม ผู้ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรม แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ตัดวรรคดังกล่าวออก และระบุใหม่เป็น ‘ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด’ มูลนิธิชีววิถีระบุว่า การแก้ไขดังกล่าว ‘มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์นั่นเอง’