ผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ของรัฐในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1.3 ล้านคน เริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เป็นวันแรก หลังจากผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดเริ่มใช้ไปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม รวมผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติขึ้นทะเบียนคนจน 11.4 ล้านคน โดยรัฐใช้งบประมาณดำเนินโครงการนี้ 4.6 หมื่นล้านบาทต่อปี
ทว่าการดำเนินโครงการบัตรคนจนที่ต้องใช้จ่ายผ่านบัตรที่รัฐแจกให้นั้น พบปัญหาหลายประการตั้งแต่เริ่มใช้ เช่น ร้านค้าชุมชนติดป้ายรับบัตรสวัสดิการ แต่ยังไม่มีเครื่องรูดบัตรจึงยึดบัตรไว้และให้รับสินค้าออกไปก่อนได้ในวงเงิน 200 บาท ปัญหาเครื่องรูดบัตร (Electronic Data Capture หรืออีดีซี) ที่ติดตั้งตามร้านค้าไม่เพียงพอ ไปจนถึงการใช้บัตรผิดเงื่อนไขคือมีการนำมาแลกเงินสดในบางพื้นที่
นอกจากปัญหาที่พบเหล่านี้แล้ว การตรวจสอบคัดกรองเกณฑ์คนจนของรัฐ ทำให้คนบางกลุ่มตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการดังกล่าว
คนจนเมือง-คนไร้บ้าน ตกหล่นรับบัตรคนจน
หากการตรวจสอบสิทธิ์รับบัตรคนจนผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด นางหนูเกณ อินทจันทร์ อายุ 57 ปี ซึ่งยังชีพด้วยการขายข้าวเหนียวหมูปิ้ง ในชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ คลองเตย กรุงเทพฯ ก็จะได้ถือบัตรคนจนในวันนี้
แต่ระบบการตรวจสอบสิทธิ์บนหน้าเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ระบุว่าเพราะเธอมีที่ดิน 5 ไร่ และยังมีบัญชีออมทรัพย์ ที่มียอดเงินในบัญชีเกิน 1 แสนบาท จึงทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์
เกณฑ์ที่รัฐกำหนด ให้ผู้ได้รับสวัสดิการวงเงิน 200 บาทต่อเดือน จะต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี ส่วนผู้ที่มีรายได้ 30,000-100,000 ต่อปี ได้วงเงินช่วยค่าครองชีพในบัตร 300 บาท
หนูเกณ อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดใกล้ทางด่วนคลองเตย บ้านที่พักของเธอปลูกสร้างอยู่บนที่ดินเอกชนที่เธอเสียค่าเช่าเดือนละ 800 บาท เธอบอกกับบีบีซีไทยว่ารายได้ของเธอในแต่ละวันอยู่ที่ 100-300 บาท ซึ่งมาจากการขายหมูย่าง ไก่ย่าง ข้าวเหนียว นอกจากนี้เธอยังรับจ้าง ทำความสะอาดที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง ได้ค่าจ้างเดือนละ 2,500 บาท และบางครั้งก็มีรายได้จากการรับจ้างทำอาหารซึ่งไม่แน่นอน ทั้งหมดเป็นเงินที่จุนเจือครอบครัวของเธอในบ้านที่อยู่ด้วยกัน 7 คน
"บางช่วงมีแต่ขายของขาดทุน แต่ถ้าหยุด ทุนก็หมด" เธอกล่าวถึงรายได้จากการขายของกินให้คนงานก่อสร้างทุก ๆ เช้า
หนูเกณ บอกกับบีบีซีไทยว่า เธอเป็นเจ้าของที่ดิน 5 ไร่ ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ดินที่ตกทอดจากครอบครัว ทุกวันนี้ใช้ทำนา แต่ไม่ได้ขายข้าวมา 2 ปี แล้ว เป็นการปลูกไว้กินในหมู่เครือญาติ ส่วนบัญชีธนาคารที่ระบุว่าเธอมีเงินเกิน 1 แสนบาท นั้น เป็นบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ที่ก่อตั้งร่วมกับสมาชิก ในชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2532 เนื่องจากเธอเป็นกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ จึงต้องเปิดบัญชีร่วมสำหรับใช้ในการเบิกจ่าย
"ตอนมีเจ้าหน้าที่มาสัมภาษณ์เขาไม่ได้มาดูสภาพปัญหาที่เราเจอ แต่ถามว่าสวัสดิการอะไรที่อยากให้รัฐบาลทำ อยากได้บำนาญยังชีพคนชราเพิ่มกว่าเดิม เผื่อตอนเราไม่มีแรงทำมาหากินแล้ว" หนูเกณ ทิ้งท้าย
ขณะที่ "ลุงดำ" นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน เป็นอีกคนหนึ่งที่คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ "คนจน"
ลุงดำ ในวัย 63 ปี อาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงคนไร้บ้านเขตตลิ่งชัน เขาย้ายจากการอาศัยสนามหลวงเป็นที่อยู่ มาพักอยู่ในศูนย์พักพิงแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันลุงดำยังชีพด้วยการเก็บของเก่าขาย ให้มีรายได้พอซื้อข้าวกินในแต่ละวัน
อีกบทบาทของลุงดำคือ เป็นแกนนำกลุ่มคนไร้บ้าน ทำให้เขาต้องมีชื่อในบัญชีที่เปิดขึ้นมาเพื่อระดมทุนสร้างศูนย์คนไร้บ้านในต่างจังหวัด จึงเป็นที่มาที่ทำให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบพบบัญชีธนาคารของลุงดำในระบบ ทำให้เขาไม่ได้สิทธิ์รับบัตรคนจนในรอบนี้ ลุงดำเห็นว่า เมื่อรัฐสามารถตรวจสอบได้ถึงการมีบัญชี ก็น่าจะตรวจสอบที่ถึงรายละเอียดการเข้าออกของเงินกับเจ้าของบัญชีได้
"ตอนไปลงทะเบียนทีเขตตลิ่งชัน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ถามเรื่องรายได้อะไรกับผม ไม่ได้ถามว่ามีบัญชีที่ไหนเท่าไหร่" ลุงดำกล่าว
แนะรัฐจัดสวัสดิการ ต้องทำให้เข้าถึงทุกกลุ่ม
บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิจัยคนไร้บ้านและอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่านโยบายที่รัฐดำเนินการนี้ มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปยังฐานราก ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เม็ดเงินกระจายลงไปถึงคนระดับล่างโดยตรง แต่การวางกลไกเพื่อให้ระบบ สวัสดิการเข้าถึงกลุ่มคนจนทั้งในเมือง และในชนบทนั้นยังไม่สอดคล้องกัน อันเนื่องมาจากการใช้หลักเกณฑ์เรื่องรายได้มาเป็นตัวกำหนด ซึ่งไม่ได้สะท้อน ความเป็นอยู่ทั้งหมด
บุญเลิศ ชี้ว่าการกำหนดเงื่อนไขเชิงรายได้โดยใช้เกณฑ์เดียวกันกับผู้มีรายได้น้อยในทุกพื้นที่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะคนที่อยู่ในชนบทแม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่อาจจะยังชีพอยู่ได้ ขณะที่คนในเมืองที่มีรายได้เท่ากันอาจทำไม่ได้เช่นนั้นเพราะมีค่าครองชีพสูงกว่า
ส่วนเงื่อนไขการใช้เงินที่ต้องใช้จ่ายผ่านบัตรนั้น บุญเลิศเห็นว่าชี้ว่าการเน้นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ให้ใช้บัตรคนจนจ่ายค่าเดินทาง ในขณะที่คนจน ส่วนใหญ่ขึ้นรถสองแถว ต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าซอย จึงถือว่าไม่ได้สอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตคนจนที่อยู่นอกระบบ
และในฐานะนักวิจัยที่คนไร้บ้าน บุญเลิศมองว่า การจัดสวัสดิการของรัฐควรจะต้องให้เข้าถึงกลุ่มคนที่มีความจำเป็นมากที่สุด
"คนไร้บ้าน มีรายได้วันหนึ่งไม่กี่สิบบาท บางกลุ่มออกจากบ้านมานานแล้ว ไม่มีบัตรประชาชน พวกเขาก็เข้าไม่ถึงสวัสดิการพวกนี้"
ที่ผ่านมาในอดีตมีการจัดสวัสดิการชุมชน ซึ่งจะมีชุมชนเป็นตัวคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ทำให้สวัสดิการไปถึงผู้ที่มีความต้องการจริง ๆ
รับบัตรวันแรก หาร้านธงฟ้าประชารัฐซื้อของไม่ได้
บีบีซีไทย สังเกตการณ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ย่านสะพานควาย ผู้รับบัตรหลายคนบอกว่า ยังไม่รู้ว่าจะนำบัตรไปซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าประชารัฐได้ที่ไหน
นางกัญจนา บุญประคอง อายุ 60 ปี เดินทางมาจากบ้านย่านบางเขนเพื่อมารับบัตร เธอเห็นด้วยกับการมีโครงการลดค่าครองชีพประชาชน แต่ยังไม่รู้ว่าจะนำบัตรไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคที่ไหน เพราะยังไม่เห็นร้านธงฟ้าประชารัฐในละแวกบ้าน
ส่วน พาณี กลับอินทร์ อาชีพพนักงานทำความสะอาด วัย 50 ปี บอกเช่นกันว่า ยังหาร้านค้าที่จะไปใช้บัตรรูดซื้อไม่ได้ และคิดว่าแถวบ้านพักใน ย่านนางเลิ้งก็ไม่น่าจะมีร้านธงฟ้า เธอบอกว่าจะนำบัตรไปจ่ายค่ารถเมล์เดินทางไป-กลับที่ทำงาน ซึ่งก็น่าจะช่วยลดรายจ่ายแต่ละเดือนได้
ส่วนการแบ่งวงเงินที่ให้ประชาชนที่มีรายได้แตกต่างกัน ได้รับ 200 หรือ 300 บาท นั้น ปรากฏว่าในขั้นตอนการรับบัตรไม่มีการให้ข้อมูลกับ ผู้ผ่านเกณฑ์รับบัตรว่าจะได้รับจำนวนเท่าใด ซึ่งทางธนาคารออมสิน ชี้แจงว่าเป็นเพียงหน่วยแจกจ่ายบัตร ส่วนวงเงินที่ผู้รับบัตรแต่ละคนจะได้แต่ละเดือนนั้น ผู้ใช้บัตรจะรู้ก็ต่อเมื่อนำบัตรไปซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าแล้วเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลาง บอกว่าจะติดสติ๊กเกอร์เพื่อให้ผู้ใช้ทราบวงเงินของตัวเอง
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ฐานรากราวปีละ 1 แสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกร้อยละ 0.5-0.7 จากการใช้เงินผ่านบัตรคนจนเดือนละ 3,000 ล้านบาท
ที่มา ธันยพร บัวทอง 17 ตุลาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.