The MATTER ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ประมวลข้อมูลที่ได้จากคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติชุดต่างๆ นับแต่ คสช. เข้ามีอำนาจ ปี 2557 – ปัจจุบัน เพื่อดูว่า ‘ความเชื่อ’ ที่ว่า มีแนวโน้มจะเป็น ‘ความจริง’ มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ แม้จะไม่ได้ลงลึกไปถึงเหตุผลที่แต่ละคนยอมรับคำเชิญจาก คสช. ให้เข้ามาทำงานว่าเป็นไปด้วยวัตถุประสงค์อะไร (เช่นบางคนอาจให้เหตุผลว่า เข้ามาทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้ทำงานเพื่อ คสช.) แต่ก็ทำให้เห็นภาพบางอย่าง อาทิ
– อาชีพใดจะมีโอกาสถูก คสช.ดึงเข้ามาช่วยมากที่สุด?
– ที่เขาว่ามีแต่คนหน้าซ้ำๆ เป็นจริงแค่ไหน?
– ใครหน้าซ้ำถูกเชิญให้เข้ามาช่วยงานบ่อยครั้งที่สุด?
– ผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันได้เข้าไปใช้อำนาจผ่านคณะกรรมการชุดใดบ้าง?
ลองเข้ามาดูกันว่า ‘เครือข่ายอำนาจ’ ในยุค คสช. มีหน้าตาเป็นอย่างไร
จากการตรวจสอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ รวม 9 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2.คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 5.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 6.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ) 7.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 8.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศดด้านต่างๆ 11 ด้าน รวมถึงตำรวจและการศึกษา และ 9.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ/คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ
พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 1,121 รายชื่อ
แต่เมื่อหักรายชื่อที่ซ้ำกันออกไป จะเหลือเพียง 845 รายชื่อ
[ หมายเหตุ: ไม่รวมถึงการแต่งตั้งข้าราชการเมือง อาทิ ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ฯลฯ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งข้อมูลมีจำนวนมหาศาลและยิบย่อยเกินกว่าจะนำมาประมวลได้ ]
“ทหาร” เป็นคำตอบที่หลายคนน่าจะพอเดาได้อยู่แล้ว โดยจาก 845 คน พบว่ามาจากอาชีพทหาร ถึง 245 คน (29%)
ตามมาด้วย “ข้าราชการ” ซึ่งให้หมายรวมถึง ข้าราชการ อัยการ ไปจนถึงศาล ที่ 233 คน (28%) และ “เอกชน” อีก 100 คน (12%)
ส่วนอาชีพอื่นๆ ก็ลดหลั่นกันไป “อาจารย์” 90 คน (11%) “นักการเมือง” ทั้งท้องถิ่น/ระดับชาติ 63 คน (7%) “ตำรวจ” 37 คน (4%) “นักกฎหมาย/ทนายความ” 20 คน (2%) “นักวิชาการ” 18 คน (2%) “สื่อมวลชน” 15 คน (2%) “เอ็นจีโอ” 14 คน (2%) และ “อื่นๆ” อีก 10 คน (1%)
จากทั้ง 845 คน มีคนที่รับตำแหน่งมากกว่าหนึ่งคณะ พูดง่ายๆ ว่า “หน้าซ้ำ” ถึง 218 คน คิดเป็น 26% หรือกว่าหนึ่งในสี่
โดยคนที่รับตำแหน่งมากที่สุด “ห้าคณะ” ได้แก่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ / กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
รองลงมา “สี่คณะ” มี 4 คน ประกอบด้วย
– คำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ
– นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ
– พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต ส.ว.สรรหา ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ
– พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ที่เป็นทั้ง คสช. / สนช. / กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ส่วน “สามคณะ” มี 47 คน และ “สองคณะ” มี 166 คน และ “คณะเดียว” อีก 627 คน
เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ได้กำหนดข้อห้ามเอาไว้ว่า คนที่มาเป็น ครม. จะไม่สามารถไปเป็น สนช. หรือ สปช. หรือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกันได้ ทำให้บรรดาบิ๊ก คสช. อาจไมได้นั่ง ‘ควบหลายเก้าอี้’ อย่างที่หลายๆ คนคาดคิด
หากนับเฉพาะผู้มีที่ลงนามในประกาศยึดอำนาจของ คสช. เมื่อปี 2557 ทั้ง 5 คน ก็จะพบว่า แต่ละคนไม่ได้นั่งทำงานบนเก้าอี้ตัวเดียว
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีต ผบ.ทบ. (ควบ 3 เก้าอี้) นายกรัฐมนตรี / หัวหน้า คสช. / ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีต ผบ.ทหารสูงสุด (ควบ 2 เก้าอี้) รองนายกรัฐมนตรี / รองหัวหน้า คสช.
– พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีต ผบ.ทร. (ควบ 2 เก้าอี้) รองนายกรัฐมนตรี / รองหัวหน้า คสช.
– พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีต ผบ.ทอ. (ควบ 3 เก้าอี้) รองนากยรัฐมนตรี / รองหัวหน้า คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. )ควบ 2 เก้าอี้) รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ / รองหัวหน้า คสช.
ขณะที่ บิ๊ก คสช.คนสำคัญอื่นๆ ก็นั่งควบหลายเก้าอี้เช่นกัน อาทิ
– พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รองนายกฯ / ประธานคณะที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รมว.กระทรวงมหาดไทย / รองประธานคณะที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รองนายกฯ / ที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– วิษณุ เครืองาม (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รองนายกฯ / ที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
เอาเข้าจริงค่อนข้าง ‘เปิดกว้าง’
เพราะนอกจาก กรธ. ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดว่า ‘ห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ เป็นเวลา 2 ปี ก็มีเพียงคนที่อยากลงสมัคร ส.ส.เท่านั้น ที่ต้องลาออกภายหลังรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ 90 วัน (มี สปท. ลาออกเพื่อเตรียมไปลงเลือกตั้งกว่า 20 คน)
แต่ที่หลายฝ่ายจับตา คือ ‘ส.ว.แต่งตั้ง’ ที่หัวหน้า คสช. จะเป็นผู้เลือกมาทั้งหมด 244 คน รวมกับ ผบ.เหล่าทัพอีก 6 คน ซึ่งจะมีอำนาจมหาศาล ทั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯ ตลอด 5 ปีของวาระการดำรงตำแหน่งได้ และสามารถติดตามให้รัฐบาลชุดหน้าต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจัดทำขึ้นในรัฐบาล คสช.
ที่มา PONGPIPHAT BANCHANONT 16 ตุลาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.