หลายสัปดาห์ก่อน เราคงได้ยินเรื่องราวของ ‘บัตรคนจน’ กันมาบ้าง คำสั้นๆ ที่ผมใช้อธิบายโครงการนี้ก็คือ ‘แจกไม่ยั้ง เดือนละ 300’ ด้วยเกณฑ์ที่ผิดเพี้ยนของโครงการ อาจทำให้เรานึกหน้าตาของคนจนกันไม่ออก บทความนี้จึงชวนมาทำความรู้จักกับ ‘คนจน’
จากบทความวิจัย (อย่าพึ่งหันหน้าหนีกันครับ มันสนุก…กว่าที่คิด) ที่ได้รับการพูดถึงวงกว้างและถูกอ้างอิงหลายพันครั้งของศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) นาม Abhijit Banerjee และ Esther Duflo (ผู้แต่งหนังสือ Poor Economics ที่คุณสฤณี อาชวานันทกุล เคยรีวิวเอาไว้) ใน Journal of Economic Perspectives ที่มีชื่อเรื่องสั้นๆ แต่ชวนให้ติดตามว่า The Economic Lives of the Poor หรือแปลเป็นไทยแบบบ้านๆ ก็คือ คุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจของคนจน
งานวิจัยชิ้นนี้ ปรับความเข้าใจของคนอ่านให้เข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า ‘คนจนสุดๆ’ คือ คนที่มีรายจ่ายน้อยกว่า 1.08 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ซึ่งเป็นเกณฑ์เก่าแล้ว ปัจจุบันอยู่ที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) ทั้ง Banerjee และ Duflo ตั้งคำถามว่า “แล้วคนที่ถูกสวมหมวกคนจนนั้น เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?” อะไรคือทางเลือกที่คนจนต้องตัดสินใจ อะไรคืออุปสรรคที่คนจนต้องแก้ไข และอะไรคือความท้าทายที่คนจนต้องเผชิญ ลองจินตนาการก่อนอ่านต่อสิครับ ว่า เฮ้ย! แค่ 34 บาท อยู่ได้ไงเนี่ย? – ก้าวขาออกจากบ้านไม่เกิน 1 กิโลเมตรก็เสียไปเกือบร้อยแล้ว
อาศัยข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนใน 13 ประเทศ ที่มีสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ต่างกัน เช่น แทนซาเนีย กัวเตมาลา อินโดนีเซีย เปรู ปานามา เม็กซิโก รวมไปถึงเมืองอูไดปูร์ (Udaipur) และไฮเดอราบัด (Hyderabad) ของอินเดีย งานวิจัยมีข้อค้นพบสำคัญที่ดังนี้
- คนจนมักอยู่แบบ ‘ครอบครัวใหญ่’ จำนวนสมาชิกในครอบครัวอยู่ที่ 6-12 คน มีทั้งลุง ป้า น้า อา หลาน โดยสาเหตุที่อยู่ด้วยกันเยอะๆ ก็เพื่อแชร์ค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างด้วยกัน เช่น ค่าบ้าน ค่าน้ำ เป็นต้น และยังพบว่า ส่วนมากจะมี ‘เด็ก’ ในครอบครัวเยอะ ซึ่งอาจมาจากแนวคิดที่ว่ามีลูกเอาไว้ทำงาน แต่ถือเป็นเรื่องไม่ค่อยดีนัก หากคุณภาพชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นไม่เปลี่ยนแปลง เพราะทำให้ความยากจนถูกส่งต่อได้
- ภาพที่ฝังหัวเรามาเลยคือ คนจนจะซื้ออะไรได้นอกจากอาหาร คนจนจะต้องทำงานหลังขดหลังแข็งเพื่อแลกกับอาหารที่เน้นปริมาณและมีราคาถูก แต่ผลการศึกษาไม่พบเช่นนั้น เพราะคนจนใช้เงินเพื่อซื้ออาหารเพียงแค่ 56 – 78% ของรายได้ (ไม่ใช่ทั้งหมด) ชวนให้สงสัยว่า แล้วไปซื้ออะไรที่ไม่ใช่อาหาร คำตอบคือ ‘สุราและยาสูบ’ โดยพบว่าคนจนในเม็กซิโกใช้เงินกว่า 1% ของรายได้ไปกับเหล้าและบุหรี่ ขณะที่อินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี ตัวเลขอยู่ที่ 6% และ 4.1% ตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก นอกจากนั้น งานวิจัยยังบอกว่า คนจนมักจะใช้เงินไปกับงานเลี้ยงรื่นเริง เช่น งานบวช งานศพ และงานแต่งงาน เป็นต้น โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ที่ใช้เงินในส่วนนี้ไปกว่า 90% ของรายได้ ขณะที่ตัวเลขในปากีสถานและอินโดนีเซียอยู่ที่ 50%
- ดังนั้น เราก็พอจะสรุปได้ว่า จริง ๆ แล้วคนจนมี ‘ทางเลือก’ ในการใช้จ่าย และเขาเลือกที่จะใช้ไปกับสินค้าอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอาหาร พูดสั้นๆ ก็คือ คนจนไม่ใช่คนที่หิวตลอดเวลา มีงานวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลประจำปี 2015 ที่มีชื่อว่า Angus Deaton ทำร่วมกับ Shankar Subramanian ในปี 1996 ใช้ข้อมูลของกลุ่มคนที่จนที่สุดของในเมือง Maharashtra ของอินเดีย พบว่า เมื่อคนจนมีเงินเพิ่มขึ้น พวกเขาใช้ 2 ใน 3 ไปกับเรื่องของกินเท่านั้น ใกล้เคียงกับการตอบสนองของกลุ่มคนรวย และยังพบว่า เมื่อคนจนจะตัดสินใจใช้เงินไปกับอาหาร เขาไม่ได้คิดถึงซื้อสินค้าที่ให้พลังงานสูงที่สุดเพียงอย่างเดียว โดยคนจนมักจะแบ่งส่วนหนึ่งเอาไว้ซื้ออาหารที่มีรสชาติที่ดีกว่า รวมไปถึงเครื่องปรุงรส อย่างน้ำปลา น้ำตาล ด้วย
- นอกจากนั้น ยังพบแนวโน้มว่า คนจนมักจะใช้เงินไปกับอาหารน้อยลง จากการสำรวจในอินเดียระหว่างปี 1983 ถึง 2000 พบว่าสัดส่วนดังกล่าวลดลงจาก 70% เหลือเพียง 62% ซึ่งศาสตราจารย์ Jha Raghavendra แห่ง Australian National University ให้ทัศนะให้ว่า สาเหตุหนึ่งที่คนจนกินน้อยลง อาจจะเนื่องมาจากงานที่ทำในปัจจุบันไม่ได้ใช้หยาดเหงื่อแรงกาย หลังสู้ฟ้า-หน้าสู้ดิน เหมือนเมื่อก่อน เปรียบเทียบกับตัวเรา เราก็พบว่า เมื่อเงินเดือนเราขึ้น เราไม่ได้ซื้อข้าวสารเพิ่มขึ้นเป็น 2 ถุง อาจจะกินหรูเยาะเย้ยหัวหน้าสัก 2 มื้อ แล้วก็ใช้เงินที่เพิ่มไปกับอย่างอื่น ซึ่งทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว คนจนก็เหมือนเรานั่นแหละ เพียงแต่เขามีทางเลือกที่น้อยกว่า โดยสาเหตุหนึ่งที่คนจนไม่ได้ใช้เงินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไปกับอาหารว่า อาจจะเป็นเพราะคนจนคิดว่าสักวันหนึ่ง ตนก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบายอยู่แล้ว กินเยอะหรือกินดีขึ้น ก็ไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ หรืออาจจะเป็นเพราะอยากจะเก็บเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ ไว้ใช้ในงานบันเทิงรื่นเริงในอาจมีในอนาคตก็ได้ ซึ่งก็เหมือนกับเราๆ ทุกคน ที่มักจะอดในวันนี้ เพื่อดูหนังรอบดึกในคืนวันอาทิตย์
- ที่ดินมักจะเป็นทรัพย์สินไม่กี่อย่างที่คนจนส่วนมากมักเป็นเจ้าของ แต่พบว่า คนจนเป็นเจ้าของที่ดินต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น เพียง 4% ของคนจนในแอฟริกาใต้เท่านั้นที่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่กว่า 85% ของคนจนในปานามามีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จากงานของ Hernando De Soto นักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู ระบุว่า แม้คนจนจะมีที่ดินเยอะ แต่ปัญหาใหญ่คือ ความไม่ชัดเจนหรือไม่สมบูรณ์ของเอกสารสิทธิที่ระบุความเป็นเจ้าของที่ดิน ทำให้เกิดความยากลำบากในการขาย เช่า และจำนอง และในบางประเทศพบว่า ระบบการเป็นเจ้าของที่ดินจะวัดจากการใช้ประโยชน์ เช่น หากนาย ก. ไม่ได้เพาะปลูกพืชสวนไร่นา – ทิ้งให้รกร้าง – ก็จะเกิดการโยกย้ายความเป็นเจ้าของไปให้กับผู้อื่น
- ในด้านการศึกษา พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนจนใช้เงินแค่ 2% ไปกับการศึกษา ไม่ใช่ไม่ส่งลูกไปเรียน แต่เป็นเพราะมักจะให้เรียนที่โรงเรียนของรัฐ หรือโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียน ซึ่งในหลายประเทศ ก็มีระบบเรียนฟรีกันอยู่แล้ว (ระบบคุ้นๆ ก็เช่น เรียนฟรี แต่มีค่าครูต่างประเทศเทอมละ 5,000 บาท) แต่ปัญหาคือโรงเรียนรัฐเหล่านี้มักไม่ได้คุณภาพ ผู้เขียนให้ทัศนะว่าคนจนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกเท่าที่ควร คนจนมักจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงไม่รู้พัฒนาการของลูกในด้านการศึกษา ทั้งนี้ มีข้อสนับสนุนจากงานของ Banerjee และคณะในปี 2006 ว่า ครอบครัวคนจนใน Eastern Uttar Pradesh ของอินเดีย ไม่สามารถบอกได้ลูกของพวกเขาอ่านหนังสือได้หรือไม่
- นอกจากนั้น ยังพบว่าคนจนมักไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเป็นพิเศษ และไม่ยอมอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานนานๆ แต่กลับเลือกที่จะย้ายไปทำงานต่างเมืองระยะสั้นๆ ประมาณ 1 เดือน ทำให้ไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะในงานที่ตัวเองทำ โดยผู้เขียนให้เหตุว่า คนจนไม่ยอมถนัดอะไรซักอย่างน่าจะเป็นเพราะพวกเขาต้องการกระจายความเสี่ยงจากความถนัดเฉพาะอย่าง หรือทำอะไรเป็นแค่อย่างเดียว ขณะที่สาเหตุที่คนจนไม่ค่อยย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่นนานๆ เพราะการไปหาเงินเยอะๆ อาจไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญมากที่สุดของคนจน แต่ก็สำคัญมากพอที่จะทำให้ไปทำงานที่อื่นในช่วงเวลาสั้นๆ และพวกเขาไม่อยากทิ้งครอบครัวไปไหนนานๆ ซึ่งเหตุผลดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับลักษณะความคิดของคนชั้นกลาง ที่ส่วนมาก ก็คงไม่มีใครอยากไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองตลอดชีวิต
- คนจนมักไม่ค่อยยืมเงินจากธนาคาร (เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน) ส่วนมากจึงยืมจากญาติ คนปล่อยกู้นอกระบบแบบ เจ๊-เฮีย เสียมากกว่า ยกเว้นในอินโดนีเซีย ที่มีธนาคารสำหรับคนจนที่มีชื่อว่า Bank Rakyat Indonesia ทำให้คนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดี มีระบบ และดอกเบี้ยสมเหตุสมผล ได้มากขึ้น
- โครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน ไฟฟ้า ประปา สาธารณสุขนับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ส่วนมากแล้ว โครงสร้างพื้นฐานในชนบทมักจะไม่ดีเท่าในเมือง คนจนซึ่งมักจะอยู่ในชนบทย่อมเจอกำแพงอุปสรรคที่สูงกว่า นอกจากนั้น คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น คนจนใน Udaipur ทั้งหมดไม่มีน้ำประปาใช้ ขณะที่คนจนในกัวเตมาลากว่า 36% สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ และเพียง 3% ของคนจนในแทนซาเนียที่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่สัดส่วนสูงถึง 99% ในเม็กซิโก นอกจากนั้น พบว่าบริการสาธารณะบางอย่างก็ไม่มาด้วยกัน เช่น ประชากรในชนบทของอินโดนีเซียกว่า 97% มีไฟฟ้าใช้ แต่เพียง 6% เท่านั้นที่มีน้ำประชาใช้ เป็นต้น
จากงานดังกล่าวของ Banerjee and Duflo ผมจึงขอตั้งคำถามดังๆ ไปยังต้นทางความคิด ‘บัตรคนจน’ ว่า “ก่อนที่จะแจกเงินนั้น ได้ทำการสำรวจจริงๆ จังๆ แล้วหรือยังว่า คนจนมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีทางเลือกมากน้อยแค่ไหน เจออุปสรรคและความท้าทายอะไรบ้าง เมื่อทราบแล้ว ก็จะทำให้ออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น?” ผมไม่เห็นด้วยกับการให้ลงทะเบียน เพราะมีโอกาสตกหล่นสูง และก็ไปสูญเสียเงินให้กับ ‘คนจนไม่จริง’
จากบทความดีๆ ของนักเศรษฐศาสตร์จาก MIT นี้ เราจึงพบว่า คนจนก็มีวิธีคิด จิตใจ และความรู้สึกที่เหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไปในสังคม แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนจนมีทางเลือกไม่มากนัก แต่พวกเขา ยังอยากที่จะกินอาหารดีๆ รสชาติอร่อยๆ ในทุกครั้งที่มีโอกาส และตามที่ Amartya Sen ได้อธิบายในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า แทนที่เราจะสนใจว่าปีนี้เรามี GDP เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ เราควรย้อนมองดูผู้คนในประเทศว่า พวกเขามีอิสระในการเลือกหนทางที่จะเดินได้มากขึ้นหรือเปล่า เราเลือกที่จะกิน/ไม่กิน ทำ/ไม่ทำ เป็น/ไม่เป็น ได้มากน้อยแค่ไหน
คนที่มีทางเลือกจำกัด คือกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด แล้ววันนี้…นโยบายด้านคนจนของไทย มุ่งเน้นไปที่คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเจาะจงแล้วหรือยัง หรือเพียงแต่หว่านแห รอปลาตัวใหญ่เข้ามาติดแล้วอวดโอ้ว่า ‘ปีนี้ ฉันได้ปลาตัวใหญ่’
ที่มา GUEST WRITER 25 กันยายน 2560