มายาคติเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับบ้านเมืองเราก็คือ เมืองไทยเป็นถิ่นอุดม ไม่เคยประสบกับภาวะอดอยากจนมีคนล้มตายเป็นเบือเหมือนบ้านอื่นเมืองอื่น มีจีนกับอินเดียเป็นอาทิ
เรื่องนี้ถูกครึ่งเดียว
แม้ว่าดินแดนของประเทศไทยจะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มีสภาพดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก (อย่างที่พูดๆ กันว่า โยนเม็ดอะไรลงไปในดินประเดี๋ยวมันก็แทงหน่อ) แต่การจัดการทรัพยากรในไทยนั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างที่สุด ดูอย่างข้าวเถิด แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าเวียดนาม แต่ผลิตผลต่อไร่น้อยกว่ามาก ในฐานที่เรากระเหี้ยนกระหือรือที่จะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรและข้าว ดันปล่อยความผิดพลาดอย่างร้ายกาจนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อย่าว่าแต่รัฐบาลไทยเลย แม้แต่รัฐบาลสยาม และรัฐบาลของพระเจ้ากรุงทวารวดีศรีอยุธยาก็ด้อยประสิทธิภาพเหมือนๆ กัน จนกระทั่งเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงหลายครั้ง ดังจะเห็นได้จากพงศาวดาร และในจดหมายเหตุโหร ที่กล่าวถึงภาวะข้าวยากหมากแพงอันเกิดจากน้ำท่วมบ้าง ภาวะแห้งแล้งบ้าง แต่โดยรวมแล้วเกิดขึ้นจากการเก็บเกี่ยวทรัพยากรโดยชนชั้นนำ โดยไม่มีการนำ "กำไร" จากการเก็บเกี่ยวนั้นไปปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน
อาจกล่าวได้ว่าความด้อยประสิทธิภาพของระบบเกษตรของรัฐสยาม/ไทย เป็นผลมาจากการบริหารแรงงานที่ไม่สมเหตุผลและการกอบโกยโดยชนชั้นนำ อาทิเช่น การเกณฑ์แรงงานของระบบไพร่มูลนายนานถึงครึ่งค่อนปี จนเกษตรกรไม่มีเวลาปลูกข้าว หรือเมื่อมีเวลาปลูกข้าวแล้วต้องเสียอากรนา อากรไร่ อากรสวน กระทั่งเสียสมพัตสร พลากร ซึ่งเป็นภาษีสำหรับเก็บพืชเพาะปลูกต่างๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า รัฎฐะเรียกร้องแรงงานอย่างหน้าเลือดและเก็บภาษีอากรอย่างบ้าคลั่ง
หากเป็นรัฐสวัสดิการสมัยใหม่ การเรียกเก็บภาษีขนาดนี้ ราษฎรย่อมต้องได้ผลตอบแทนกลับคืนมาเป็นกอบเป็นกำในแง่ของคุณภาพชีวิต แต่ในรัฐก่อนสมัยใหม่ในสยาม คุณภาพชีวิตของประชากรไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่เลวลง ทั้งยังขาดการศึกษาขั้นพื้นฐานในชีวิต จนต้องติดสุราและการพนัน ขาดสาธารณสุขมูลฐานจนเกิดโรคระบาดตายนับพันนับหมื่นหลายครั้ง (ความอดอยากมักมาพร้อมกับโรคระบาด เช่นในปี พ.ศ. 2106 ข้าวแพง 3 สัดต่อบาท อนึ่งคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมาก)
กระทั่งในยุคโมเดิร์นแล้ว ชาวสยามยังต้องเป็นอหิวาต์ตายเพราะการสาธารณสุขไม่ทั่วถึง (เช่น การระบาดของอหิวาตกโรคในภาคกลางปี 2486-2490 มีคนตายถึง 13,036 คน) แต่เก็บภาษีอย่างรอบจัดเช่นเดิม
จากตัวเลขการเก็บอากรสมัยอยุธยาจากคำให้การขุนหลวงหาวัดจะเห็นว่า อากรสวนมีรายได้จากการเก็บ 1,000 ชั่ง เก็บจากภาษีการค้า เช่น ภาษีปากเรือ 1,000 ชั่ง แต่อากรสุราและอากรบ่อนเบี้ยมีอัตราการเก็บถึงอย่างละ 2,500 ชั่ง เรื่องนี้น่าจะสะท้อนความเหลวไหลของสังคมโบราณได้ว่าเป็นอย่างไร
ในโลกตะวันตก ภาวะอดอยากค่อยๆ หมดสิ้่นไป พร้อมๆ กับการสนับสนุนกรรมสิทธิของเอกชน การลดการเกณฑ์แรงงาน การเกิดขึ้นของชนชั้นพ่อค้า ทำให้ราษฎรสามารถเป็นเจ้าของผลผลิตส่วนเกินได้ ตรงกันข้ามกับสมัยโบราณของไทยที่เกษตรกรต้องจ่ายภาษีหางข้าว เพื่อเจียดผลผลิตส่วนเกินให้หลวงนำไปเก็บไว้ในสำหรับฉางเตรียมพร้อมในการสงคราม และเมื่อมีสงครามเกษตรกรที่แหละที่ต้องออกไปรบ
ราวศตวรรษที่ 16-17 ในช่วงเวลาเดียวกันที่ยุโรปตะวันตก การเรียกเก็บภาษีเกษตรกรรมในอัตราที่สูงกลับให้ผลตรงกันข้าม เป็นเหตุให้เกษตรกรมีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตและนำผลผลิตไปขาย เพื่อนำเงินมาจ่ายอัตราภาษีที่สูง เมื่อมีผลกำไร เกษตรกรไม่เพียงจ่ายภาษีให้รัฐ (เพื่อนำไปพัฒนาส่วนรวม มิใช่แจกจ่ายให้ชนชั้นนำกันเอง) แต่ยังมีเงินเหลือไปซื้อสินค้าของชนชั้นพ่อค้า กลายเป็นวัฏจักรแห่งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
และนี่คือจุดเริ่มของระบอบพาณิชย์นิยม ตามด้วยทุนนิยม และการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ภาพชุดเจ้าสัวและเถ้าแก่โรงสีในพระนคร ยุครัชกาลที่ 5 ต่อรัชกาลที่ 6 จากหนังสือ Twentieth century impressions of Siam
ขณะที่สยามประเทศถูกผูกมัดด้วยระบบมูลนาย ที่ผลประโยชน์ถูกแบ่งสรรไปตามมูลนาย มิได้เหลือให้ผู้ผลิตที่แท้จริงในสังคม พลวัตการพัฒนาจึงไม่เกิดขึ้น ซ้ำยังเกิดทุพภิกขภัยอีกต่างหาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความหายนะจากระบบมูลนาย และระบบราชการที่อนุญาตให้ขุนนางเก็บภาษีกันเอง เพราะทำให้การคลังไร้ประสิทธิภาพ และเกิดวงจรอุบาทว์ในระบบการผลิตจนประเทศขับเคลื่อนไม่ได้ จึงทรงใช้ความพยายามอย่างมากในการล้มระบบมูลนาย และปลดปล่อยแรงงานทาสและแรงงานไพร่ให้เป็นอิสระ
เมื่อแรงงานเหล่านี้พ้นจากพันธนาการของการเกณฑ์แรงงานและการเป็นทาส ระบบทุนนิยมในสยามก็เริ่มก่อตัวขึ้น แม้จะตะกุกตะกักก็ตามที (ความตะกุกที่ว่านี้ เป็นเหตุให้เกิดความเบี้ยวในระบบทุนนิยมขึ้น กระทั่งภาคเกษตรถูกครอบงำด้วยอิทธิพลกงสีที่รัฐบาลสยามใช้เป็นผู้ปฏิรูประบบภาษีอากรและตามด้วยการเปิดโอกาสให้เป็นนายหน้าค้าข้าว)
ในช่วงเลิกทาสใหม่ๆ นั้น มีการหักร้างถางพงสร้างที่นากันมากขึ้น ทาสที่เป็นอิสระจะได้รับผาลไถจากเจ้านายไปเริ่มชีวิตใหม่ อดีตทาสประเภทนี้มีอภิสิทธิ์พอสมควร เพราะผาลไถเป็นเทคโนโลยีจำเป็นในการทำนา มีรายงานว่าในยุคนั้นคนที่มีผาลไถถือเป็นผู้ทรงอิทธิพล ชาวนาโดยรอบจะขอหยิบยืมและยกให้เขาเป็นผู้นำชุมชน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นับว่าน่าเวทนาในระดับหนึ่ง เพราะสังคมสยามก้าวเข้าสุ่ยุคโมเดิร์นแล้ว แต่ผู้คนยังปฏิบัติกับผู้มีผาลไถราวกับยุคพริมิทีฟ ซึ่งผู้คนห้อมล้อมคนที่มีอุปกรณ์สำริดในการทำเกษตร
ไม่เพียงเท่านั้น การทำนาในยุคก่อตัวของทุนนิยมยังไร้ประสิทธิภาพ เพราะขาดเทคโนโลยีและการชลประทาน แม้แต่ที่นาชานพระนครบางแห่งยังต้องใช้วิธีแทงดินหยอดเมล็ดข้าว พอจะลืมตาอ้าปากได้ ก็ถูกระบบโรงสีเข้าครอบงำมานับแต่นั้น ถามว่าใครเล่าที่เชื้อเชิญระบบนายหน้าเข้ามาในสยามโดยไม่ไตร่ตรองให้ดี? ก็คือผู้มีหน้าที่บริหารประเทศอีกนั่นเอง
จนกระทั่งบัดนี้ ความฉิบหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยอันเนื่องมาจากนโยบายที่ไร้ความชาญฉลาดและหมกเม็ดก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ข่าวชาวนาฆ่าตัวตายเพราะภัยแล้ง และการถูกกดราคาข้าวด้วยกลเม็ดของนายหน้า และเพราะนโยบายของรัฐยังคงเกิดขึ้น เฉกเช่นที่เคยเป็นมาเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ศตวรรษก่อน และหลายศตวรรษก่อน
สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อรัชกาลที่ 6 เกิดภัยแล้ง 2 ปีติดต่อกัน ผลผลิตปี 2454-2455 เสียหายหนัก บางครอบครัวมีข้าวกินวันละมื้อ ชาวนาที่อยุธยาที่ว่ามีกินมีใช้ยังต้องขนข้าวเปลือกในยุ้งมากินจนหมด หมดแล้วก็ต้องขุดเผือกขุดมันกินไปตามยถากรรม หมดแล้วก็อพยพเข้าพระนครมาหางานทำ นับเป็นการอพยพของแรงงานข้ามถิ่นในสยามครั้งแรกๆ ก็ว่าได้ จากเดิมที่แรงงานถูกผูกมัดด้วยระบบมูลนาย ไม่อาจเคลื่อนที่ได้ตามใจชอบ
ปัญหามาเกิดเอาเมื่อปี พ.ศ.2454 มีข่าวว่าครอบครัวหนึ่งอดข้าวตายเป็นคนชรากับเด็กๆ ข่าวนี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะสร้างความหวั่นใจให้กับรัฐบาลไม่น้อย เพราะดังมีรายงานของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า ข่าวคนอดตายน่าจะเป็นข่าวลือ
แต่แล้วก็มีคนอดตายอีกหลายคนในปีนั้นจนถึงปี พ.ศ.2455 ผู้เขียนคาดว่าที่รัฐบาลน่าจะหวั่นใจนั้น เพราะคาดว่าคงกลัวราษฎรจนทนไม่ไหว ก่อการท้าทายรัฐบาลขึ้นมา ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ คือกบฎหมอเหล็ง แต่ปราบลงได้ แต่เหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยตรง
ทว่า ในที่สุดพิษเศรษฐกิจก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาจนได้ ในปี พ.ศ.2475 (แต่เป็นพิษกับชนชั้นกลาง-ขุนนางถูกดุลมากกว่า) ดังในประกาศคณะราษฎรก็ยังบอกไว้ชัดว่า ในระบบใหม่นั้น "ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน" และตามมาโดยการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่ชี้ให้เห็นถึงภัยจาก "ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้" และ "นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เที่ยงแท้"
คำว่า "ไม่ต้องอดตาย" ในประกาศคณะราษฎรนี้มันน่าจะมีนัยสำคัยไม่น้อย ถึงขนาดต้องหยิบขึ้นมากล่าวอ้าง ราวกับต้องการแย้งคำว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"
แต่รัชกาลที่ 7 ทรงโต้แย้งเค้าโครงนี้ว่า "ราษฎรของเราตลอดจนชั้นคนขอทานยังมิปรากฏเลยว่าอดตาย คนที่อดตายจะมีก็แต่คนที่กลืนไม่ลงเพราะความเจ็บไข้เท่านั้น แม้แต่สุนัขตามวัดก็ปรากฏยังไม่มีอดตาย...ราษฎรของเรามีน้อยคนหรือเกือบจะไม่มีก็ได้ที่นอนกลางคืนแล้วนึกว่ารุ่งขึ้นเช้าจะหากินไม่ได้ นอกจากผู้นั้นจะกระดุกกระดิกตัวไม่ได้ หาไม่ฉะนั้น คงหากินได้เสมอ"
ดูเหมือนว่าวิวาทะของรัชกาลที่ 7 กับนายปรีดีจึงยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนนักกระทั่งในยุคของเรา เพราะในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น (บันทึกข้อสังเกตจากปี พ.ศ.1909 ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Times) เกษตรกรไทยมีสถานะเป็นอิสระชน สามารถเลี้ยงตัวได้ไร้พันธะทางภาษีที่หนักหนาและการเกณฑ์แรงงาน แต่การเลี้ยงตัวเองได้และมีความสุขตามอัตภาพ มิได้หมายความว่า คนเหล่านี้จะมีความสุขในระยะยาวในฐานะสมาชิกของรัฐชาติที่กำลังก่อตัวขึ้น และต้องการทุนรอนกับผลผลิตมหาศาลเพื่อวางรากฐานนั้น รวมถึงภัยคุกคามจากการทำตัวเอื่อยเฉื่อย ท่ามกลางความหิวกระหายของระบอบทุนนิยม
เมืองไทยเราอุดมสมบูรณ์จริงๆ สมกับคำว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" แต่ผู้เขียนคิดว่า "เกษตรกรต่อให้รวยแค่ไหน ก็ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคง" ตราบใดที่ยังต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน พึ่งนโนบายของรัฐ
โดยเฉพาะนโยบายที่ไม่ได้เรื่อง
ที่มา กรกิจ ดิษฐาน - 12/09/2017
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.