ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้สังคมควรสร้างฉันทามติเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการผ่านกระบวนการประชาธิปไตย การปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่องค์กรต่างๆ สปช. สปท. และรัฐบาลนำเสนอไม่อาจทำให้สำเร็จได้ หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่
20 ส.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นประเด็นเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติว่า สังคมควรสร้างฉันทามติเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการผ่านกระบวนการประชาธิปไตย การปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่องค์กรต่างๆ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรัฐบาลนำเสนอไม่อาจทำให้สำเร็จได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงต้องเป็นภารกิจร่วมกันของคนทั้งสังคม
ประเทศมีปัญหาและความล้มเหลวในเชิงโครงสร้างของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพประชาชนจึงก้าวเข้าสู่ ทศวรรษแห่งความถดถอยในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 การจะก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความถดถอยและกับดักรายได้ระดับปานกลางรวมทั้งวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างแท้จริงและการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตร่วมกันของทุกคน และควรดำเนินการภายใต้หลักการและกระบวนการประชาธิปไตยจะดีที่สุด ความขัดแย้งโดยรวมและในระยะยาวจะน้อยที่สุด จะสมานฉันท์ปรองดองมากที่สุด แม้ประเทศไทยจะเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ไม่สามารถทำให้การแข่งขันเข้าสู่อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งในระบบได้ทั้งหมด จึงก่อให้เกิดการเมืองนอกระบบมาสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและล้มเหลวเชิงโครงสร้างของสังคมไทย แม้สังคมจะมีจุดแข็งอยู่ไม่น้อยก็ตาม ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้สะสมและสืบเนื่องมาเรื่อยๆ พร้อมกับความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ได้สร้างสภาวะความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน สภาวะความเหลื่อมล้ำซึ่งมีอยู่หลายมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ (รายได้ การถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ระบบสวัสดิการ) ด้านสิทธิและอำนาจ ด้านโอกาส ด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไปได้บั่นทอนศักยภาพ โอกาส และความสามารถของประชาชนไม่ให้มีพลังในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้
ดร.อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้เสนอข้อเสนอการปฏิรูปเพิ่มเติมให้คณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ ได้พิจารณา ดังนี้ ขอให้มีการพิจารณาปฏิรูปประเทศไทยให้ครอบคลุม 6 ด้าน อันประกอบไปด้วย การปฎิรูปด้านเศรษฐกิจ การปฏิรูปด้านการเมือง การปฏิรูปด้านการศึกษา การปฏิรูปด้านสังคม การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปภาครัฐและระบบราชการ ประกอบไปด้วย 28 วาระปฎิรูป โดยที่ผ่านมา รัฐบาล สปช. สปท. และรัฐบาลที่ผ่านๆ มาได้ศึกษาวิจัยไว้บางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมมากพอ มีความจำเป็นต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญ เร่งรัดในบางเรื่อง และดึงการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในบางเรื่อง รวมทั้งต้องผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม
จึงขอเสนอข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 8 วาระปฏิรูปดังนี้ วาระที่ 1.การปฏิรูปเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพระบบเศรษฐกิจ การเปิดเสรีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการภาครัฐ เป็นต้น วาระที่ 2.การปฏิรูปเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายภาษีมรดก และกำลังพิจารณาผ่านกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านมาตรการภาษี เป็นต้น วาระที่ 3.การปฏิรูปด้านแรงงาน ซึ่งต้องพิจารณาการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการทำงาน การเพิ่มค่าจ้าง การเพิ่มสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน การเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้ใช้แรงงานผ่านการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 เป็นต้น วาระที่ 4.การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ครอบคลุมผลิตภาพภาคเกษตรและคุณภาพสินค้าเกษตร ระบบชลประทานและระบบสินเชื่อเพื่อการเกษตร คุณภาพชีวิตและรายได้ ระบบสวัสดิการของเกษตรกร สิทธิและการคุ้มครองเกษตรกร หลักประกันความเสี่ยง การจัดการหนี้สินและทุนของภาคเกษตรกรรม ระบบความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นต้น วาระที่ 5.การปฏิรูปภาคการเงินและตลาดทุน วาระที่ 6.การปฏิรูปพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและอีอีซี วาระที่ 7.การปฏิรูปโครงสร้างและระบบภาษี วาระที่ 8.การปฏิรูปการสื่อสารโทรคมนาคมและระบบโลจิสติก
การปฏิรูปด้านฐานทรัพยากร ประกอบไปด้วย 5 วาระปฏิรูป วาระที่ 9.การปฏิรูปด้านทรัพยากรด้านพลังงานและกิจการพลังงาน วาระที่ 10.การปฏิรูปที่ดินและการจัดรูปการใช้ประโยชน์จากที่ดิน รวมทั้งการบริหารทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง วาระที่ 11.การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ วาระที่ 12.การปฏิรูปทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วาระปฏิรูปที่ 13.การปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ การปฏิรูประบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
การปฏิรูปด้านสังคม ประกอบได้ด้วยวาระต่างๆ 7 วาระปฏิรูป 14.การปฏิรูปการศึกษา ควรดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการศึกษาชาติ 15 ปี (ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผนการศึกษาชาติ 20 ปี) 15.การปฏิรูประบบสาธารณสุข 16.การปฏิรูปทางด้านศาสนา ค่านิยม วัฒนธรรมและจริยธรรมแห่งชาติ ในวาระปฏิรูปที่ 14-16 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับคน เป็นเรื่องการปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรงและมีจริยธรรม มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นของ World Health Organization และธนาคารโลก พบข้อสรุปตรงกันว่า ประเทศที่มีประชากรสุขภาพและการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน จะมีความยากลำบากในการรักษาระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แบบจำลองทางเศรษฐกิจข้อมูลระหว่างประเทศพบว่า สถานะสุขภาพของประชากรเป็นตัวแปรสำคัญในการอธิบายความแตกต่างของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผลสรุปประมาณการว่า อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3–0.4 ต่อปี ประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยสูงสุด 77 ปี มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยต่ำสุด 49 ปี ถึงร้อยละ 1.6 ต่อปี ความแตกต่างนี้จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลา 17.การปฏิรูประบบสื่อสารมวลชน 18.การปฏิรูปคุณภาพชีวิตในเมืองและชนบท 19.การปฏิรูประบบการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่และการสร้างเมืองใหม่เพื่อรองรับประชากรในอนาคต 20.การปฏิรูประบบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
เฉพาะในส่วนของการปฏิรูปด้านการศึกษานั้นควรแยกออกมาเป็นด้านหนึ่งต่างหากเป็นการเฉพาะ เพราะเป็นหลักประกันต่อความสำเร็จของประเทศในอนาคต โดยการปฏิรูปด้านการศึกษานี้ควรดำเนินการตาม 10 ยุทธศาสตร์ดังนี้ ประกอบไปด้วย 1.ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา 2.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3.ยุทธศาสตร์การปรับระบบและกลไกการบริหารงานบุคคล (การปฏิรูปครู การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา) 4.ยุทธศาสตร์นวัตกรรมการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลผู้เรียน 5.ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อสนองตอบตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ (การผลิตและพัฒนาคนให้แข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21) 6.ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต
7.ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา 8.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา 9.ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระดับสถานศึกษา 10.ยุทธศาสตร์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
การปฏิรูปด้านการปฏิรูปทางการเมืองประกอบไปด้วย 4 วาระปฏิรูป 21.การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจให้กระจายตัวและเป็นประชาธิปไตย 22.การปฏิรูปให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน 23.การปฏิรูปการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง 24.การปฏิรูปบทบาทของกองทัพและผู้นำกองทัพต่อการเมือง
การปฏิรูปด้านการปฏิรูปภาครัฐและระบบราชการประกอบไปด้วย 4 วาระปฏิรูป 25.การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี 26.การปฏิรูปตำรวจและการปฎิรูปกองทัพ 27.การปฏิรูประบบยุติธรรมรวมทั้งศาล 28.การปฏิรูปครูอาจารย์ การปฏิรูประบบมหาวิทยาลัยและโรงเรียนของรัฐ
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า กรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจนในการยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสและสิทธิทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสูงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมืองที่สมบูรณ์ขึ้น มีความเข้มแข็งมีคุณภาพมากขึ้น มีสันติธรรม สังคมมีสันติสุข มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนในประเทศยุโรปเหนือ โดยเฉพาะประเทศสแกนดิเนเวีย หรืออย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงและมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพราะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการคิด การแสดงออกได้อย่างหลากหลาย
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกำหนดให้สวัสดิการสังคม การศึกษา และหลักประกันสุขภาพบางด้าน แต่ไม่ได้เป็นสิทธิของประชนชนชาวไทยเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ระบุให้คนไทยได้รับอย่างเสมอภาคเป็นธรรมและทั่วถึง ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ระบบการศึกษาพื้นฐาน และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม ส่วนข้อดี คือตาม มาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
ขณะเดียวกัน รัฐพึงพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงาน จัดให้มีมาตรฐานแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานและสมาคมวิชาชีพต่างๆ รัฐควรมีการประกันการมีงานทำของประชาชน จัดหางานให้ประชาชนทำ หากต้องออกจากงานเนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ
รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำสาธารณะ
มีความเห็นว่า รัฐพึงพัฒนาระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดเสรีภาพในการประกอบการ ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันและบรรลุซึ่งความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ รัฐควรแปรรูปกิจการที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อลดภาระทางการคลังและเพื่อนำงบประมาณไปจัดสวัสดิการให้ประชาชนหรือลงทุนพัฒนาด้านอื่นๆ
สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อโอกาสพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เปิดเผยอีกว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหารุนแรงและยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจนในเร็วๆ นี้ หากรัฐบาลทำเรื่องนี้สำเร็จพร้อมกับการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ มีความคืบหน้าชัดเจนในช่วงหนึ่งปีก่อนการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์และคณะ อาจจะเพิ่มความชอบธรรมในการกลับมาบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอีกครั้งแต่ต้องผ่านการเลือกตั้ง เพราะหากไม่ผ่านการเลือกตั้งอาจเกิดความเสี่ยงในการเกิดความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ แม้จะมีเสียงจัดตั้งจากสมาชิกวุฒสภา 250 คนก็ตาม วิกฤตรอบใหม่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศในอนาคตและทำให้การปฏิรูปที่ดำเนินการอยู่สะดุดลงได้ด้วยปัญหาความขัดแย้งเรื่องหลักการประชาธิปไตย
ที่มา ประชาไท 20 สิงหาคม 2560