เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดประชุมเวทีสาธารณะ TIJ Public Forum ว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 ชูแนวคิด “หลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน: ศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (TIJ Public Forum on the Rule of Law and Sustainable Development: Understanding the Legacy of H.M. King Bhumibol Adulyadej)
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยภายในงาน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในหัวข้อ “กรณีศึกษา ทางออกการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ: สถาบันการเงินชุมชน” ว่า
เรื่องของหนี้นอกระบบต้องเริ่มต้นย้อนไปดูการเข้าถึงสถาบันการเงินของประเทศไทย ปัจจุบันดูเหมือนธนาคารมีจำนวนมากแต่ความจริงไม่มาก เพราะคนจำนวนมากยังไม่ได้รับบริการจากเขาอย่างแท้จริง แล้วทำไมถึงไม่ได้รับบริการ ต้องกลับไปดูจำนวนเงินของคนเหล่านี้ ภาพที่ออกมาจะคล้ายกับพีระมิด 2 อันกลับกันอยู่ คือ ในแง่จำนวน คนจนมีจำนวนมากที่สุดเป็นฐาน คนรวยอยู่บนมีจำนวนน้อยที่สุดเป็นยอด แต่ในแง่จำนวนเงิน คนจนมีจำนวนเงินน้อยอยู่ยอด แต่คนรวยมีเงินมากที่สุดเป็นฐาน ผลคือธนาคารพาณิชย์ตามความจริงให้บริการคนรวย เพราะว่าคนรวยเวลาให้บริการทีได้กำไรเยอะ เหมือนกับขายรถเบนซ์ขายทีได้กำไรเป็นแสนหรือเป็นล้านด้วยซ้ำ แต่ถ้าเกิดขายไม้จิ้มฟันกว่าจะได้เงินล้านมันยากมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ธนาคารทำหรือสถาบันการเงินทำทั้งหมดคือตอบโจทย์ข้างบน และข้างล่างแทบจะไม่ทำหรือไม่อยากจะทำด้วยซ้ำไป
“หากไปดูข้อมูลบัญชีเงินฝากของประเทศไทยในปี 2557 เราพบว่าเมืองไทยมีบัญชีอยู่ประมาณ 86 ล้านบัญชีเงินฝาก แต่มีเงินฝากเกินกว่า 50 ล้านบาท เพียง 11,000 บัญชีเท่านั้น และที่เกินไปอีก 10 ล้านบาท มีประมาณ 90,000 บัญชี รวมกันประมาณ 100,000 บัญชี ขอโทษนะครับ และผมถามว่าในธนาคารจะให้บริการใครล่ะ ก็ต้องให้บริการ 100,000 บัญชี เพราะนี่คือเงินเกินกว่าครึ่งที่ทำกำไรได้อยู่ตอนนี้ และดูคนจนที่มีเงินไม่เกิน 50,000 บาทในบัญชี มีอยู่ทั้งหมด 74 ล้านบัญชี คือ 90% ของบัญชีทั้งหมดในประเทศไทยมีเงินไม่เกินกว่า 50,000 บาท และถ้าหากนำเงินครึ่งหนึ่งที่เหลือไปเฉลี่ยเป็นจำนวนเงินต่อบัญชีแล้วจะได้แค่ 4,000 บาทต่อบัญชี คือคนไทย 74 ล้านบัญชี 90% มีเงินฉลี่ยคนละ 4,000 บาทในบัญชีในแต่ละเดือนเท่านั้น คำถามคือว่าธนาคารจะสนใจคนเหล่านี้หรือไม่ อาจจะสนใจเหมือนกัน แต่กำไรไม่มาก อันนี้ผมมั่นใจ แล้วนี่ยังไม่นับคนที่ยังไม่ฝากเงินอีกจำนวนมาก ซึ่งนี่คือหัวใจของปัญหาทั้งหมด”
นายกอบศักดิ์กล่าวถึงกรณีศึกษาที่เคยทำสมัยอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ตนและทีมเคยศึกษาสมัยทำ Banking Master Plan ตอนนั้นเราไปศึกษาข้อมูลที่จังหวัดนครปฐม ในภาพที่เห็นดวงดาวสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยมคือตำแหน่งที่มีสาขาธนาคารอยู่ ซึ่งส่วนมากจะอยู่แถวอำเภอเมือง รองลงไปคืออำเภอใหญ่อย่างอำเภอพระธาตุพนมหรืออำเภออื่นหลักๆ
“กลายเป็นว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสาขาธนาคารหรือเข้าถึงได้ยาก เพราะเขาอยู่ในชนบท เขาต้องเดินทางมาธนาคารมากกว่า 30 กิโลเมตร แล้วถ้าเดินทางมาก็มีต้นทุนในการเดินทาง ผมไปสัมภาษณ์ เขาบอกว่าต้องผัดหน้าทาแป้งก่อน เดินทางมาเสียค่ารถ ไปรอ และหลังจากนั้นกลับบ้าน หายไป 1 วัน ต้นทุนประมาณเกือบ 200 บาทต่อวัน ถ้ามี 4,000 บาท หรือ 5,000 บาท ได้ดอกเบี้ย 2% ปีหนึ่งได้ดอกเบี้ยประมาณ 100 บาท ผมขอถามว่า ชาวบ้านเขาจะเดินเข้ามาที่แบงก์หรือเปล่า คำตอบคือไม่ เพราะว่าเขามาครั้งเดียวเขาก็ขาดทุนแล้ว ฝากเงินไว้ในตุ่มจะดีกว่า และนี่คือสาเหตุที่เขาไม่มีทางเข้าถึงสถาบันการเงินในปัจจุบันได้ เพราะว่าโดยสถานที่แล้วมันไกลมันไม่คุ้มทุนสำหรับเขา นอกจากธนาคารไม่สนใจให้บริการแล้ว เขาเองก็มีปัญหาเรื่องนี้”
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า แม้แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งหลายคนคิดว่ามีธนาคารอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ในความเป็นจริง เมื่อไปสัมภาษณ์กลับพบว่าบางคนไม่กล้าเข้า เพราะว่าเขาคิดว่าเขาจนเกินไปสำหรับธนาคาร เขาบอกแบบนั้นเลยว่าเขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมากที่ต้องเดินไปที่ธนาคาร และรู้สึกว่าถ้าเกิดเดินเข้าไป เขาไม่เหมาะที่จะอยู่ตรงนั้น ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น ดังนั้น แม้กระทั่งคนจนในเมืองก็เข้าไม่ถึงธนาคาร
ทั้งนี้ หากดูข้อมูลการสำรวจที่ตนเองทำตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งคนคิดว่าปัจจุบันคงไม่ต่างจากนี้เยอะ แต่ที่อยากให้ดูก็คือว่าในกรุงเทพฯ 85 % ของคนใน กทม. มีเงินฝากที่ธนาคาร และมี 8% ของคน กทม. ไม่มีบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร เป็นกลุ่มคนจนใน กทม. ขณะที่ในชนบทพบว่ามีบัญชีธนาคารแค่ 33% แปลว่าคนในชนบทใช้บริการธนาคารที่เป็นธนาคารพาณิชย์แค่ 1 ใน 3 เท่านั้น ที่เหลือ 1 ใน 3 ไปพึ่งพาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่าง ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เพราะมีสาขามากกว่าธนาคารพาณิชย์ในอำเภอต่างๆ และธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่อยากเข้าไปเปิดสาขา เพราะว่าถ้าไปแล้วไม่คุ้มทุน และสุดท้ายมีไปพึ่งอย่างกลุ่มออมทรัพย์ 7%
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อคนบางส่วนเข้าไปถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นทางการไม่ได้ เมื่อเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับความจำเป็นบางอย่าง เป็นสมการของหนี้นอกระบบว่า “การเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน” บวก “ความเสี่ยงและความจำเป็นที่เกิดขึ้น” เท่ากับ “หนี้นอกระบบ”
“ดังนั้น ถ้าเกิดจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจสมการนี้ให้ดี เพราะว่าชีวิตของคนเรานี้เหมือนเขามีทางเดินที่สว่างกับตรอกที่แคบๆ มืดๆ ผมถามว่ามีใครอยากจะเดินตรอกที่มืดๆ บ้างถ้าไม่จำเป็น คำตอบคือไม่มีหรอก ใครก็อยากเห็นทางที่สว่างสะดวก ปลอดภัย แต่ที่ต้องเดินเข้าที่แคบๆ มืดๆ เพราะว่าทางสว่างๆ มันไม่เปิดให้เขา อันแรกเขาเข้าไม่ถึงธนาคาร แล้ววันดีคืนดีพ่อแม่เขาป่วยเข้าโรงพยาบาล คือมีความจำเป็นต้องใช้เงิน แล้วเป็นสิ่งที่เท่าไหร่เท่ากันเพื่อพ่อแม่ให้มีชีวิตอยู่ได้ ต้องรักษา หรือลูกป่วยก็ต้องดูแลลูก หรือรถชน หรืออยู่ๆ น้ำท่วมพืชสวนไร่นา เขาก็ต้องหาทางออก แต่เผอิญว่าทางที่สว่างไม่มีทางไปเพราะเขาเข้าไม่ถึง คุณป้าคุณลุงเขาเดินไปหาแบงก์นะครับ เพื่อขอเงินกู้ ธนาคารเขาจะถามว่ามีที่ดินหรือเปล่า มีสินทรัพย์หรือเปล่า ถามว่าคุณป้ามีเครดิตบูโรหรือเปล่า คุณป้าบอกที่ดินก็ไม่มี เครดิตบูโรยิ่งไม่มี และนี่คือสาเหตุว่าทำไมคนไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน เข้าไม่ค่อยถึงสถาบันการเงินที่แท้จริง ถ้าเป็นแบบนี้แปลว่าเขาไม่มีทางไป เมื่อเขาไม่มีทางไปพอมีปัญหาเกิดขึ้น เขาก็หาพวกหนี้นอกระบบ”
นอกจากนี้ หนี้นอกระบบก็มีวิวัฒนาการให้เข้าถึงง่ายขึ้นเรื่อยๆ จากสมัยก่อนที่ติดกระดาษอยู่ตามโทรศัพท์สาธารณะหรือติดตู้เอทีเอ็ม พวกโฆษณาเงินด่วนพิเศษ เงินด่วนทันใจ แต่สมัยนี้โลกเปลี่ยนไปอีก หากลองไปค้นหาใน google เงินสดทันใจ กลับขึ้นมาเยอะมาก แล้วโฆษณากันรับเงินสดทันทีแบบนี้ธนาคารก็สู้ไม่ได้ แต่ที่เขาไม่บอกคือรับเงินสดทันที 100,000 บาท เขาเขียน 200,000 บาท หรือรับเงินสดทันทีดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน เพราะว่ากู้ไป 300,000 บาท ดอกเบี้ยเดือนหนึ่ง 60,000 บาท ผ่านไป 5 เดือน ดอกเบี้ย 300,000 บาท แปลว่าผ่านไป 5 เดือนต้องคืนหนี้เท่ากับเงินต้น ผ่านไป 1 ปีต้องคืนเงินต้นเท่ากับ 4 เท่าของเงินต้น
“ถามว่าแบบนี้คนที่เดินลงไปจะรอดได้ยังไง นี่คือที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ว่าเขาเข้าไม่ถึงแหล่งการเงินแล้วเขามีความจำเป็นเกิดขึ้น เขาก็ต้องไปพึ่งสิ่งที่เราเห็นลักษณะนี้ เขาก็เดินลงไปและมันเหมือนภูเขาลาดชัน พอลงไปก้าวหนึ่งโอกาสกลับคืนมาน้อยมาก”
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อประชาชนเริ่มเป็นหนี้นอกระบบ ปัญหาอื่นๆ จะเริ่มตามเข้ามา คือสิ่งที่ถูกปกคลุมอยู่ใต้หนี้นอกระบบ ถ้าเกิดโชคร้ายกว่าจนไม่รู้จะไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นถูกข่มขู่คุกคาม เพราะว่าเจ้าหนี้เหล่านี้จะเก็บเงินได้ก็ต้องส่งคนไปจัดการ มีคนหนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่าถึงวันที่ต้องเก็บเงินยังไม่จ่ายคืน เขาโทรศัพท์มาบอกว่าเขารู้นะว่าลูกเรียนโรงเรียนไหน แค่นี้เขาก็ร้องไห้แล้ว อีกคนหนึ่งเขาไปรอที่หน้าบ้านเลยครับ คุณป้าคนนี้ก็ไปอาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้จนกระทั่งดึกๆ ถึงกลับบ้าน อีกรายที่ดินเอาไปขายฝากสุดท้ายก็สูญเสียอีก และเมื่อไม่มีที่ดินอยู่ก็ไปบุกรุกป่าอีก บางส่วนกลายเป็นคนจนเข้ามาในเมืองอีก ดังนั้น ปัญหาทุกอย่างเกิดจากเริ่มต้นที่เขาไม่มีแหล่งทุนที่เขาเข้าถึง ถ้าเกิดจะแก้ไขปัญหาเราต้องแก้ที่จุดนี้
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญและลงมือดำเนินการไปหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการว่าจะไม่ให้มีหนี้นอกระบบอีกต่อไป เริ่มตั้งแต่
1) จัดการเจ้าหนี้อย่างจริงจัง รัฐบาลออกกฎหมายฉบับหนึ่งคือกฎหมายทวงถามหนี้ เดี๋ยวนี้ใครทวงถามหนี้แรงกว่าปกติถือว่าผิดกฎหมาย แต่ต้องบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ช่วย เพราะว่าถ้าเกิดดูสมการก่อนหน้านี้ นี่เป็นช่วงที่มีหนี้แล้ว กฎหมายค่อยสั่งห้ามทวงแรงเกินไป
“เราไม่ต้องการแก้ตรงนี้ เราต้องการแก้ต้นเหตุ ถ้าเราปล่อยมาถึงจุดนี้โอกาสเสียหายเยอะมาก โอกาสรอดยากมาก กฎหมายแค่ป้องกันการทวงถามหนี้เพื่อไม่ให้คนที่เป็นหนี้แล้วถูกซ้ำเติม ถูกข่มขู่ คือต้องการแก้ผลพวงที่ตามมาให้บรรเทาเบาบางไปบ้าง แต่ว่าตัวหนี้มันยังอยู่ อีกอันหนึ่งในกฎหมายเขาบอกวาห้ามคิดดอกเบี้ยเกินควร คิดเกิน 15% ต่อปีติดคุกเช่นกัน อันนี้ก็แค่ช่วยบรรเทาเบาบางเช่นกัน แต่ก็ยังเป็นหนี้อยู่ดี แล้วบางคนก็ไม่แจ้งทางการ เคยถามว่าทำไมไม่ไปฟ้องตำรวจแบบนี้ผิดกฎหมายหมด เอาเข้าคุกได้ เขาบอกผมว่าเขาเมตตาให้มีชีวิตรอดแล้วจะไปทำร้ายเขาทำไม ขอโทษนะครับความเมตตาเขาอยู่ที่ 20% ต่อเดือนนะครับ นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหา”
2) หลังจากนั้นรัฐบาลก็ทำเรื่องการเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงสินเชื่อให้กู้ยืม 50,000 บาท แต่สุดท้ายเส้นทางนี้ก็ยาก เพราะยังไม่พอ บางคนเป็นหนี้หลักแสนหลักล้าน แต่ให้กู้แค่ 50,000 บาท มันเป็นน้ำหยดเดียว มันไม่พอ แล้วพอปล่อยผ่าน ธ.ก.ส. ออมสิน ธปท. ก็คุมเข้มเช่นกัน ธปท. บอกว่าถ้าจะปล่อยมากกว่า 50,000 บาท จะบริหารอย่างไร แล้วก็มีเรื่องไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ก็ยังตามแก้ปัญหาท้ายสุด มีการเพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ อาจจะมีศักยภาพแต่เมื่อมีความจำเป็นและไม่มีทางออกก็ต้องลงหนี้นอกระบบอยู่ดี เพราะว่าไม่ใช่เรื่องที่เราบริหารกันไม่เป็นนะครับ แต่มันมีความจำเป็นแล้วเราเข้าไม่ถึงแหล่งเงินต่างหาก
“ผมคิดว่าไม่ได้ง่ายและหนี้นอกระบบใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิดไว้ ใครเปียแชร์บ้างครับในห้องนี้ ไม่มีใช่ไหมครับ แต่ในต่างจังหวัดนี่เขาเปียกัน 4-5 วงเลยนะครับ เปียวงนี้ไปใส่วงนั้น เปียวงนั้นไปใส่วงโน้น ขอบอกเลยว่าคนติดหนี้เยอะมาก แบบนี้ก็นับเป็นนอกระบบเหมือนกัน”
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า คำตอบของประเทศไทยและเป็นคำตอบที่แท้จริงคือสร้าง “สถาบันการเงิน” ที่เป็นทางเลือกในทุกชุมชน ทุกชุมชนต้องสร้างสถาบันที่เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้องตอบตั้งแต่แรกของสมการเลย ต้องไปตอบว่าทำไมเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน แล้วถ้าเกิดเราททางที่สว่างไสวให้เดิน เขาไม่เดินทางตรอกแคบๆ มืดๆ มีคนมาดักตีหัว เราต้องตอบโจทย์ตรงนี้
“ตัวอย่างในปัจจุบันก็มีอยู่แล้วครับ ในประเทศไทยมีตัวสถาบันการเงินชุมชนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง รัฐบาลไม่สนับสนุนประชาชนก็ทำกันเอง บางแห่งเรียกว่าธนาคารหมู่บ้าน บางแห่งเรียกว่าสัจจะออมทรัพย์ บางแห่งเรียกว่ากองทุนออมทรัพย์ แล้วรัฐบาลก็มีกองทุนหมู่บ้านไปช่วยด้วยอีก 80,000 แห่ง รวมกันแล้วเกือบ 120,000 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ แล้วเราพบว่าบางแห่งดีบางแห่งก็ไม่ดี แต่ว่าเราพบเช่นกันว่า 120,000 เเห่ง มีบางแห่งดีมาก ที่เราอยากให้ดูเป็นตัวอย่างว่าสถาบันการเงินระดับชุมชนเป็นอย่างไร กลุ่มเหล่านี้จะไม่เน้นการกู้ยืมแต่เน้นการออมเป็นหลัก มีมาตรฐานที่ดี มี ธ.ก.ส. ออมสิน เป็นพี่เลี้ยง และต้องการรัฐบาลสนับสนุนเรื่องกฎหมายต่างๆ”
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ตนได้คัดมาให้ดู 3 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน อันแรกอยู่จ.กาญจนบุรี ที่หนองสาหร่าย เรียกว่าสถาบันการเงินชุมชน เป็นห้องเล็กๆ มีเคาน์เตอร์ มีตู้เก็บแฟ้มเอกสาร มีสมาชิก 3,000-4,000 คน เปิดจันทร์-ศุกร์ ฝากเงินได้ ถอนเงินได้ เหมือนธนาคารทั่วไป มีพนักงาน 4 คน เงินเดือนแต่ละคนก็ไม่เยอะมาก มีสมุดบัญชีเงินฝาก มีสมุดผู้กู้ มีสมุดประจำตัวสมาชิก ปล่อยเงินกู้ก็ทำกันบนโต๊ะไม่ต้องซับซ้อน ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 9% ต่อปี บางแห่ง 1% ต่อเดือน เงินฝากดอกเบี้ย 0.95% ต่อปี แล้วมีบริการโอนเงิน มีการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ทำได้หมดทุกอย่าง สรุปนี่ก็คือธนาคารดีๆ ธนาคารหนึ่ง แต่เป็นธนาคารเล็กๆ ที่มีเจ้าของคือชุมชน
“ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าปล่อยสินเชื่ออย่างไร เขาบอกง่ายมาก มาประชุมครบ 8 ครั้ง มีความดี 5 อย่าง มีสิทธิกู้เงินได้ เช่น มาประชุมครบ 8 ครั้ง ฝากเงินเป็นประจำ ไม่ต้องเยอะก็ได้ ก็เป็นความดี ทำบัญชีครัวเรือน ปลูกผัก 5 อย่าง ผมถามนะครับ ถ้าไปธนาคาร ผมบอกว่าผมมีความดี 5 อย่าง คุณกอบศักดิ์ให้ผมกู้ซัก 200,000 ได้ไหม คุณกอบศักดิ์จะบอกว่าแบงก์ชาติไม่อนุญาตเพราะแบงก์ชาติถามว่ามีสินทรัพย์ค้ำประกันหรือเปล่า แต่ชาวบ้านเขาทำแบบนี้ได้ เพราะเขารู้จักทุกคนในชุมชนเป็นอย่างดี ที่สำคัญให้กรรมการหมู่บ้านเป็นคนปล่อยสินเชื่อมาค้ำประกัน”
พร้อมกล่าวต่อว่า”แล้วผมถามว่าตอนทวงทำอย่างไรครับ 3 เดือนส่งหนังสือเตือน 5 เดือนไม่จ่ายประกาศหอกระจายข่าว แล้ว 6 เดือนยังไม่คืนเงินใช้วิทยุชุมชน 15 กิโลเมตรรู้ทั่วกัน หลังจากนั้นถ้า 9 เดือนไม่จ่ายเงิน สถาบันการเงินที่ครอบคลุมสมมติมีอยู่ 9 หมู่บ้าน หมู่บ้านที่มีคนไม่จ่ายนั้นทั้งหมู่บ้านไม่สามารถกู้เงินต่อได้ แบบนี้ได้เงินคืนทุกครั้งเลย”
“นี่คือตัวอย่างเป็นสถาบันการเงินที่ประชาชนคิดเอง ทำเอง มีกฎเกณฑ์ของตัวเอง วันนี้เขาทำมา 10 ปี เขามีสมาชิก 3,268 คน ฝากคนละ 1 บาทต่อวัน มีเงินออม 13 ล้านบาท ปล่อยกู้ได้ 22 ล้านบาท รวมกับ ธ.ก.ส. และออมสินอีกนิดหน่อย ปลดหนี้นอกระบบได้ 17 ล้านบาท และที่สำคัญเขาช่วยพี่น้องประชาชน เพราะการที่พี่น้องประชาชนไม่ต้องเดินทางไป 30 กิโลไปที่ ธ.ก.ส. ออมสิน ค่าใช้จ่ายครั้งละ 200 บาท มาเฉลี่ยดูเขาประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท เขาก็เดินมาได้เลยเสร็จแล้วทำงานต่อได้เลย แล้วภาระดอกเบี้ยจากหนี้นอกระบบประหยัดไปอีก 15 ล้านบาท รวมกันประหยัดไป 17 ล้านบาท นี่คือตัวอย่างความหวังของพี่น้องประชาชน”
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า อีกตัวอย่างอยู่ที่จ.นนทบุรี นี่คือตลาดอยู่ที่ปากเกร็ด เป็นสถาบันการเงินเล็กๆ ห้องเล็กๆ แม้ข้างหน้ามีตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ แต่คนยังใช้บริการที่นี่แทน แม้กระทั่งวินมอเตอร์ไซค์ก็มาใช้บริการด้วย เพราะว่าเขามีสินเชื่อเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ เอาเสื้อวินเป็นตัวค้ำประกันแล้วสามารถกู้ผ่อนได้โดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์ใดแต่อย่างเดียว ทำงานส่งวันละ 300 บาท หลังจากนั้นเขาส่งคนเดินไปเก็บรับเงินฝากนอกสถานที่
“เขากล้าปล่อยสินเชื่อเพราะเขารู้ว่าคุณป้าคนนี้สับหมูวันละกี่ตัว สับไก่วันละ 300 ตัว เขาสบายใจเลย เขารู้ว่าเขาปล่อยให้ได้ ธุรกิจการงานของคนกู้มันไปได้ หลังจากนั้นทุกคนฝากเงินแต่ไม่เอาบัญชีกลับบ้าน ถึงเวลาก็หาในตะกร้า ส่งให้เขาใส่เครื่องอัปเดตยอดให้ ฝากบ้างถอนบ้าง 100 บาทบ้าง 500 บาทบ้าง สิ้นปีก็ทำสรุปรายงานทีหนึ่ง ที่นี่ก็ทำประมาน 10 ปีในวันนี้มีเงินปล่อยหมุนเวียนอยู่ 150 ล้านบาท เงินออม 120 ล้านบาท สมาชิก 2,300 คน ใจกลางนนทบุรี มีธนาคารต่างๆ อยู่รอบๆ แต่คนจนในเมืองเขาเข้าไม่ถึงธนาคาร ขนาดออมสินหรือ ธ.ก.ส. ยังเข้าไปถึงเลย เพราะเขาไม่มีสินทรัพย์ต่างๆ แต่ว่าคนในชุมชนเขารู้จัก เขารู้ว่าคนนี้ทำมาหากินดีหรือเปล่า กินเหล้าหรือเปล่า เหมาะกับการปล่อยสินเชื่อหรือเปล่า แล้วสินเชื่อที่เขาปล่อยดอกเบี้ยที่เขาปล่อย 1% ต่อเดือน ถ้ากู้ 300,000 เทียบกับหนี้นอกระบบ 20% ต่อเดือนคือเดือนละ 60,000 บาท อันนี้ 1% เหลือ 3,000 บาทต่อเดือน นี่คือทางเดินที่สว่าง เมื่อมีทางเดินเขาไม่ไปทางอื่น”
ตัวอย่างที่สุดท้าย อยากให้ดูสถาบันการเงินสุขสำราญที่ชุมพร อันนี้ไปยากมากต้องเดินทางขึ้นภูเขาอยู่ชายแดนเมียนมากับไทย เขาดำเนินการโดยการที่มีหนุ่มสาวเข้ามาช่วยทำ ยอมที่จะไม่ทำงานในกรุงเทพฯ แต่เป็นนายธนาคารเล็กๆ อยู่ในชุมชนของเขา วันนี้เขาช่วยปลดหนี้ชุมชนได้เยอะมาก และเป็นแหล่งทำมาหากิน ทำน้ำชุมชน ปุ๋ยชุมชน สหกรณ์ทุเรียน สหกรณ์กล้วยหอม คนเหล่านี้เป็นแรงสำคัญของการพัฒนาระบบการเงินในระบบของเขา นอกจากโอนเงิน จ่ายเงินแล้ว ยังมีบริการรับชำระสินเชื่อรถยนต์ให้ด้วย ปัจจุบันก่อตั้งมาประมาน 7-8 ปี เขามีเงิน 90 ล้านบาท เงินฝาก 51 ล้านบาท สมาชิก 3,000 คน
“ทั้งหมดเป็นแค่ตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย บางชุมชนมีเงินเป็นพันล้านบาท นี่คือคำตอบ ผมเคยไปบนดอยที่เชียงใหม่เขาเก็บเงินลักษณะนี้ เขาบอกผมว่าอาจารย์เห็นบ้านหลังนั้นไหม นั่นเป็นบ้านนายทุนหนี้นอกระบบ ทุกคนไปกู้เขาเมื่อก่อนนี้ แต่เดี๋ยวนี้ลูกนายทุนนั้นมากู้พวกผมอยู่ นี่คือสิ่งที่พี่น้องประชาชนมีอำนาจอยู่ในมืออยู่แล้ว เพียงแค่ทำเป็น มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้ แล้วหนี้นอกระบบในชุมชนจะหายไป ดังนั้นคำตอบหนี้นอกระบบ คุณต้องสร้างทางออกให้เขา แล้วทางออกเรามีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเราต้องส่งเสริมให้มากกว่านี้ ในขณะนี้ ธ.ก.ส. ทำไปแล้ว 900 แห่ง มีที่ที่มีศักยภาพอีกประมาณ 2,000 แห่ง ส่วนออมสินทำไปแล้ว 800 แห่ง มีที่ที่มีศักยภาพอีก 200 แห่ง กลุ่มพัฒนาชุมชนประมาณ 4-5 ร้อยแห่ง”
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า“ที่ผมประทับใจมาก ผมได้ไปประชุมกับเขามา เป็นวันก่อนสงกรานต์ เขาประชุมกันว่าช่วงสงกรานต์นี้มันแล้งจะขุดบ่อต้องใช้งบ 30,000 บาท ที่ประชุมอนุมัติ ต้องมีงานเทศกาล ใช้งบประมาณอีก 20,000 ที่ประชุมอนุมัติ ผมฟังแล้วผมประทับใจเพราะคำว่าอนุมัติ มันคืออำนาจของพี่น้องประชาชนที่มาจากพี่น้องประชาชนเอง เพราะว่าสมัยก่อนต้องไปถามผู้ว่าราชการจังหวัด อปท. อบต. ว่าจะจ่ายเงินได้หรือไม่ เพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน แต่วันนี้เขามีธนาคารของเขาเอง ดูแลทุกข์สุขของเขาเองได้ โดยที่เขี่ยพวกปลิง พวกทำนาบนหลังคนออกไป กำไรก็อยู่กับเขา เขาก็เอากำไรส่วนนั้นมาปกครองตัวเอง นี่คือความแตกต่างอย่างยิ่ง พอเขาได้กำไรมากๆ เขานำเงินไปให้สวัสดิการคลอดลูก เด็กเข้าเรียน เจ็บป่วย ตาย เอากำไรในแต่ละปีสู่การจัดสรรสวัสดิการของชุมชนของตัวเอง รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะว่าจำนวนคนเยอะเกินไป แต่ระบบนี้ทำให้ชุมชนเขาสามารถดูแลของเขาเอง นี่คือสิ่งที่น่าประทับใจ”
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำต่อไปคือ เรากำลังจะนำกฎหมายฉับบหนึ่งเข้า ครม. แล้วจะไปสู่ สนช. ใน 2-3 เดือนข้างหน้า กฎหมายฉบับนี้ตั้งใจที่จะตอบโจทย์ให้ประชาชนที่เป็นฐานราก มีสถาบันการเงินที่เป็นของเขาอย่างแท้จริง ที่สามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ใช่ธนาคาร เพราะธนาคารไม่สนใจเขา
“ถ้าเราทำได้นี่คือคำตอบ รัฐบาลจึงร่างกฎหมายขึ้นมา ความตั้งใจคือจะทำกองทุนเพื่อการกู้ยืมให้เป็นกองทุนเพื่อการออม ถ้าวันนี้ทุกคนไปดูกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลให้เงินไป 10 กว่าปีแล้ว 1 ล้านบาทก็อยู่ 1 ล้าน ให้ไป 2 ล้านก็อยู่ 2 ล้าน เพราะว่าให้ไป 1 ล้านมีอยู่ 50 ครัวเรือน ทุกคนได้ 20,000 ครบปีก็นำเงินมาจ่ายคืนแล้วกู้ต่อสุดท้ายก็เป็นกองทุนเพื่อการกู้ยืม แต่กองทุนของเราเริ่มต้นจากการออม พอเริ่มต้นแบบนี้พี่น้องประชาชนเขารักเงินของเขา เขาจะเลือกว่าใครกู้ได้บ้าง แล้วนำไปสู่การจัดสรรที่เหมาะสม”
เป้าหมายคือจะทำให้ได้อย่างน้อย 1 ตำบล 1 แห่ง เพราะตำบลไม่ห่างไกลผู้คนมากนัก พอทำได้มันจะเป็นโครงข่ายสถาบันการเงิน 7,000 แห่งทั่วประเทศไทย มี ธ.ก.ส. และออมสินเป็นพ่อและแม่ เป็นคนที่ดูแล เอาระบบคอมพิวเตอร์ไปให้ หลังจากหลังดูเรื่องของระบบโอนเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน ถ้าเกิดมีเงินฝากเกิน 50,000 บาท ก็นำไปฝาก ธ.ก.ส. ถ้าเกิดมีคนถอนเยอะก็วิ่งไปถอน
สำหรับโครงสร้างกองทุนเพื่อการออม มีกระทรวงการคลังอยู่ข้างบน จากนั้นมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กองทุนหมู่บ้าน พัฒนาชุมชน สหกรณ์ เป็นพี่เลี้ยงช่วงพัฒนาระบบขึ้นมา หลังจากนั้นเอาคนที่เข้มแข็งคัดเลือกขึ้นมา ยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชน พอเข้ามาแล้วเราจะสร้างระบบธนาคารเต็มรูปแบบ มีมาตรฐานบัญชี ปิดบัญชีได้ ระบบโอนเงินสามารถโอนเงินจากลูกไปยังพ่อแม่ในชนบท ไม่ต้องเดินทางออกจากตำบล กฎหมายฉบับบนี้จะให้สถานะความเป็นนิติบุคคลด้วย หลังจากนั้นจะทำเรื่องการออมแห่งชาติ การออมเพื่อการเกษียรอายุต่อไป
“ทั้งหมดนี้ถ้าเราทำได้จะยกระดับประเทศไทย ผู้นำชุมชมเขามีความฝัน ฝันจะทำนั่นทำนี่ แต่ไม่มีเงิน แต่ ณ วันนี้ เรามีเงินอยู่ที่เขา เขาสามารถทำเงินจากตนเองได้ แล้วต้นแบบที่เขาเริ่มต้นจริงๆ มาจากกองทุนสัจจะออมทรัพย์ ที่เขาพบความเป็นจริง คนจนแม้แต่ให้ออม 30 บาทต่อเดือนก็ทำไม่ได้ แต่ให้ออมวันละบาท 30 วันทำได้ มี 4,000 คน 1 ปีได้ 1,500,000 10 ปีได้ 15,000,000 รวมดอกเบี้ยเข้าไป พอทำไป 10 ปี ทุกคนมีเงิน 20 ล้าน 40 ล้าน แล้วมีเงินจากข้างนอกเข้าไปช่วยได้ ถ้าเราทำได้ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ที่ผ่านมายิ่งพัฒนายิ่งหัวโตแต่ตัวลีบ ชนบทยิ่งนานวันยิ่งอ่อนแอ เราต้องการพัฒนาใหม่ สถาบันการเงินชุมชนคือคำตอบ จะช่วยตอบเรื่องของหนี้นอกระบบ เรื่องอะไรต่างๆ ที่อยู่ข้างใต้หนี้นอกระบบอีกมาก”
นายกอบศักดิ์กล่าวสรุปว่า “นี่คือสิ่งที่สอดรับตามทฤษฎีของรัชกาลที่ 9 ว่าการพัฒนาที่แท้จริงต้องทำทีละขั้นให้พี่น้องประชาชนมีอยู่มีกินก่อน ผมคิดว่านี่คือคำตอบ ถ้าเราทำสถาบันการเงินชุมชนได้ ทุกตำบลทั่วไทยจะมีอยู่มีกินเลี้ยงตัวเองได้ เป็นความเข้มแข็งของประชาชนทั้งประเทศ และการพัฒนาของเราจะไปสู่ความสมดุลอย่างยิ่ง และผมมั่นใจยิ่งกว่านั้น ถ้าเกิดทำโครงการนี้ 10 ปีให้หลัง แม้กระทั่งกรามีนแบงก์ก็ต้องมาขอดูงานเรา เพราะทุกคนคิดว่ากรามีนแบงก์คือต้นแบบของสถาบันการเงินเพื่อคนจน แต่ผมบอกว่าโครงการนี้จะยิ่งดีกว่ากรามีนแบงก์ เพราะเรามี ธ.ก.ส. ออมสิน เป็นพี่เลี้ยงข้างบน แต่ข้างล่างเราจะปล่อยแต่ละชุมชน เขาตัดสินใจเองว่าจะใช้กฎเกณฑ์อย่างไร อย่างเช่นที่ชุมพร เขาบอกว่าสมาชิกของเขาใช้ไลน์เยอะ ถ้าไม่คืนเงิน เขาประกาศผ่านไลน์แค่นี้ก็ได้เงินคืนมาเรียบร้อยแล้วครับ นี่คือตัวอย่างที่แต่ละคนมีเทคนิคที่แตกต่างกัน นี่คือเงินของเขาเงินตำบลของเขา เรามีหน้าที่ช่วยทำระบบคอมพิวเตอร์ให้ดี ดูแลให้เขามีความเข้มแข็ง”
และกล่าวในตอนท้ายว่า “แล้วถ้าเราทำได้มันจะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การพัฒนาความสมดุล และนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง ผมเคยนั่งฟังท่านวันที่ 4 ธันวาคม ท้ายๆ ท่านจะพูดว่าขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จที่แท้จริง น่าคิดมาก เพราะว่าความพัฒนาที่สำเร็จกับสำเร็จอย่างแท้จริงมันแตกต่างกันอย่างไร ที่สำเร็จอาจจะอย่างเกาหลีใต้ โตปีละ 10% 8% เงินเพิ่ม แต่ชนบทเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราทำได้ตามนี้น่าจะเป็นการพัฒนาที่แท้จริงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ที่มา ไทยพับลิก้า กล้าพูดความจริง 13 สิงหาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.