เปิดฟ้าส่องโลกเป็นคอลัมน์แรกที่รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วว่า รัสเซียพร้อมที่จะแลกอาวุธยุทโธปกรณ์กับผลผลิตทางการเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม ฯลฯ ไม่ใช่แค่เขียนขึ้นมาลอยๆ ในสมัยก่อนตอนโน้น ผู้เขียนเปิดฟ้าส่องโลกคนก่อนเคยเชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของรัสเซียหลายท่านมาเยือนไทย เชิญมาบรรยายขายไอเดียตามสถาบันการศึกษาเรื่องบาร์เตอร์เทรดที่ว่า
ทว่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะมาหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต่างก็ไม่ยอมเอาสินค้าเกษตรไทยไปแลกเครื่องจักร รถถัง เครื่องบิน เรือรบ อาวุธ ฯลฯ ของรัสเซีย
พวกนายหน้าค้าอาวุธก็รุมขย่มรัสเซียกันน่าดู ว่าเครื่องบินรัสเซียล้าสมัย โจมตีว่าจะไม่มีอะไหล่ เครื่องบินรัสเซียตกบ่อย มีจดหมาย แฟกซ์ และไปรษณียบัตรส่งมาด่าถึงโรงพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เพื่อนรอบบ้านไทยสมัยนั้น ไม่ว่าจะเวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ต่างมีเครื่องบินรบและอาวุธรัสเซียใช้กันมานานแล้ว
เพิ่งระยะหลังนี่แหละครับ ที่ไทยเริ่มใช้เครื่องบินและอาวุธรัสเซีย แต่ก็มักจะซื้อผ่านตัวแทนที่ต้องมีค่าคอมมิชชั่นสูง ค่าเอนเตอร์เทนเยอะ ค่าที่ปรึกษาแยะ
โดยซื้อเงินสด ไม่ได้ใช้สินค้าเกษตรไปแลก
เดิม รัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่แลกสินค้าเกษตรกับอาวุธยุทโธปกรณ์เหมือนกัน กระทั่งได้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนใหม่ นายวิโดโด ซึ่งผู้อ่านท่านก็คงจะเคยได้ยินชื่อเสียงของแกในเรื่องความเป็นผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์และมีความโปร่งใสสูง
รัสเซียถูกสหรัฐฯและยุโรปตะวันตกคว่ำบาตร ทำให้การส่งอาหารการกินเข้าไปขายในรัสเซียมีน้อยลง พวกพืชผัก เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ฯลฯ ที่เคยซื้อจากยุโรปตะวันตก ก็ซื้อไม่ได้แล้ว แม้แต่โปแลนด์ที่เคยส่งแอปเปิ้ลเข้าไปขาย ก็ไม่ยอมส่งไปให้คนรัสเซียกินอีกเลยแม้แต่ลูกเดียว จนรัฐมนตรีรัสเซียต้องวิ่งพล่านออกไปเจรจาหาซื้ออาหารเข้าประเทศ
เมื่อสื่ออินโดนีเซียจึงเขียนเรื่องการบาร์เตอร์แลกเปลี่ยนอาวุธกับสินค้าเกษตร รัฐบาลของนายวิโดโดก็รีบตะครุบไอเดีย และส่งคน ไปเจรจากับรัฐบาลรัสเซียทันที
สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่กรุงมอสโก รัสเซียโดยบริษัทรอสเทคและอินโดนีเซียโดยบริษัทพีที เปรูซาฮาบ เปอร์ดากันกัน ได้ลงนาม MOU กรอบข้อตกลงความเข้าใจการแลกเปลี่ยนเครื่องบินขับไล่กับสินค้าเกษตร เช่น น้ำมันปาล์ม กาแฟ ฯลฯ เป็นที่เรียบร้อยได้
อนาคตอันใกล้ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย นายเซอร์เก ลาฟรอฟ ก็จะเดินทางมาที่อินโดนีเซีย และแน่นอนครับ ว่าหนึ่งในภารกิจที่นายลาฟรอฟจะต้องมาปฏิบัติก็คือ การทำให้ MOU ที่ลงนามกันไว้ ให้มีผลในทางปฏิบัติกันจริงๆ
พ.ศ.2542 อินโดนีเซียโดนข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก และเคยโดนสหรัฐฯและสหภาพยุโรปปิดล้อมทางการค้า ไม่มีใครกล้าขายเครื่องบินให้อินโดนีเซีย อินโดนีเซียจึงไปกระซิบรัสเซีย ว่าข้าพเจ้าจำเป็นต้องใช้เครื่องบินรบซุคฮอย 16 ลำ รัสเซียก็ขายซุคฮอยให้อินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ.2546พ.ศ.2560 ปีนี้ กองทัพอากาศอินโดนีเซียอยากได้เครื่องบินรบขับไล่ซุคฮอย ซู 35 จำนวน 11 ลำ และในอนาคต อินโดนีเซียอยากได้อะไรก็จะต้องไปบอกคณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษ ที่สองประเทศร่วมตั้งกันไว้ภายใต้ MOU ที่ลงนามกันไว้แล้วตั้งแต่ปีที่แล้วครับ ที่ประธานาธิบดีปูตินมีความหวังว่า ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ก็มีโอกาสที่สหรัฐฯจะเลิกคว่ำบาตรรัสเซียซะที แต่ความดังกล่าวหมดไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมแล้วครับ เพราะสภาคองเกรสลงมติคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม และทรัมป์เองก็ลงนามไปแล้วเรียบร้อย ทำให้ตอนนี้ รัสเซียกับสหรัฐฯทำสงครามเศรษฐกิจกันอย่างเต็มรูปแบบและนี่เป็นโอกาสของประเทศเล็กชาติน้อยที่มีข้าว น้ำมันปาล์ม ยางพารา เนื้อหมูเห็ดเป็ดไก่ อาหารทะเล ฯลฯ อย่างพวกเรา ที่สามารถเอาของพวกนี้ไปแลกอาวุธรัสเซียแต่ก่อนที่เอกชนจะเอาสินค้าไปแลกได้ รัฐบาลไทยต้องไปลงนามเอ็มโอยูกับรัฐบาลรัสเซียซะก่อน จากนั้น ก็จึงตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา พิเศษร่วมกัน ที่ปรึกษาชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณา สินค้าอะไรจะแลกกันได้ แต่การแลกเนื้อไก่กับเครื่องบินรบแบบนี้ ไม่มีคอมมิชชั่นดอกนะครับ.
ที่มา นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย 10 ส.ค. 2560