การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาต้องเป็นไปโดยชอบและโดยสุจริต ภายใต้กรอบของกฎหมายและนิติประเพณี ตราบใดที่ผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ในทางตุลาการโดยสุจริต และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง ในทางตรงข้ามหากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยทุจริตหรือโดยมิชอบแล้ว ก็จะต้องถูกตรวจสอบเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานอื่นๆ เช่นกัน
(รายงาน เรื่องความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีภายใต้หลักนิติธรรม จัดทำโดย ชีพ จุลมนต์ รหัส ๐๙๐๑๕๖ หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ ๑ ปี ๒๕๕๖ วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ)
ทั้งนี้การตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา มีทั้งการตรวจสอบถ่วงดุลจากภายในองค์กรศาลด้วยกันเอง เช่นโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือก.ต. และการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกโดยวุฒิสภาหรือโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
สำหรับคนทั่วไปภาพของผู้พิพากษาโดยรวมนั้น ยังคงเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นในความสุจริตเที่ยงธรรม สังคมส่วนใหญ่ยังมีความเคารพและหวั่นเกรงที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาไม่ว่าผลจะออกมาตรงกับความรู้สึกของตนหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่า ในปัจจุบันที่ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้นมีช่องทางในการสื่อสารมากขึ้นมีโซเชียลมีเดียที่ทุกคนมีกระบอกเสียงของตัวเอง ช่องทางสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่แสดงออกต่อผลของคำพิพากษาก็มีมากขึ้น แม้คำว่า “หมิ่นศาล” จะเป็นที่ครั่นคร้ามของคนทั่วไปก็ตาม
และต้องยอมรับว่าสำหรับคนทั่วไปนั้นยากมากที่จะนำตัวเองไปสู่กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลของศาลในขั้นก.ต.หรือสามารถนำไปสู่การตรวจสอบภายนอกในทางรัฐสภาหรือ ป.ป.ช.ได้ เชื่อมั้ยล่ะครับว่า ถ้าลูกความอยากให้นำเรื่องของตัวเองเข้าสู่ก.ต.ทนายความส่วนใหญ่จะทัดทานเอาไว้ เพราะมีความเชื่อว่าการเข้าสู่ก.ต.นั้นเปรียบเหมือนกับต่อสู้กับศาลทั้งระบบนั่นเอง
ดังนั้นสิ่งแรกที่เรารู้สึกว่ายังไม่ได้รับความยุติธรรมพอในการสู้คดีส่วนใหญ่ก็จะนำคดีขึ้นไปสู่ศาลอุทธรณ์และฎีกาต่อไป เพราะระบบของศาลยุติธรรมนั้นเปิดโอกาสให้สู้กันถึง 3 ศาลในการชั่งตวงวัด บางครั้งเราจึงเห็นผลคำพิพากษาของ 3 ศาลที่แตกต่างกันออกไปในหลายครั้ง และสุดท้ายก็จะจบลงด้วยการยอมรับผลคำพิพากษานั้นเมื่อคดีถึงที่สุด
ผมเห็นแต่ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตรเท่านั้นแหละครับที่เธอลุกขึ้นสู้เมื่อเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม แม้ว่าคดีของเธอจะถูกพิพากษาคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาและต้องรับโทษจนพ้นโทษไปแล้วก็ตาม
เราเชื่อกันว่าระบบ 3 ศาลนั้นเป็นระบบถ่วงดุลของความยุติธรรม ซึ่งจะเห็นว่าการพิจารณาคดีอาจจะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ทำให้บางคนอดคิดไม่ได้ว่าทำไมเหตุการณ์เดียวกัน พยานหลักฐานเดียวกัน พยานแวดล้อมเดียวกัน
เมื่อศาลนำหลักกฎหมายเดียวกันมาปรับใช้แล้วจึงมีผลออกมาไม่เหมือนกัน นั่นเพราะอาจจะมีหลักฐานเพิ่มเติมและแง่มุมทางกฎหมายเข้ามาต่อสู้ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในกระบวนการพิจารณาก็คือดุลพินิจนั่นเอง
การใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบด้วยจิตใจที่เป็นธรรมโดยใช้เหตุผลให้ชัดเจนเหมาะสม และอธิบายได้อย่างมีตรรกะเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปปราศจากข้อสงสัย หากยกเหตุผลขึ้นอธิบายแล้วมีความขัดแย้งในเหตุผลนั้นเองหรือขัดแย้งในทางตรรกะ หรือเหตุผลที่อธิบายยังไม่มั่นคงไม่หนักแน่น ฟังแล้วเกิดคำถามและข้อสงสัยอาจจะถูกมองว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ยังไม่ถูกต้องชอบธรรม
ดังนั้นการทำให้ความยุติธรรมมีมาตรฐานเดียวจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้กฎหมายอาญาของประเทศไทยยังไม่มีบทกฎหมายมาตราใดบัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษทางอาญาของผู้กระทำความผิดทางอาญาว่าศาลควรมีหลักเกณฑ์หรือมีกรอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาว่าในแต่ละฐานความผิดควรลงโทษจำเลยหรือผู้กระทำความผิดโดยยึดหลักเกณฑ์อย่างไร คงมีเพียงแต่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะแต่อัตราโทษไว้เท่านั้น
ดุลพินิจยังรวมถึงความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งประสบการณ์ของศาลประกอบเข้าด้วยกันซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละคน แต่ภายใต้การใช้ดุลพินิจและหลักกฎหมายแล้วสิ่งที่จะต้องมีก็คือหลักสุจริต
การใช้หลักสุจริตจะต้องมีขอบเขตที่เหมาะสม ถูกต้องชอบธรรม เพื่อให้เกิดความยุติธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการใช้ดุลพินิจจนเกินขอบเขตตามอำเภอใจ ซึ่งจะทำให้ผู้พิพากษาอยู่เหนือกฎหมาย และเสมือนหนึ่งผู้สร้างกฎหมายขึ้นเองซึ่งจะขัดกับเจตนารมณ์ของหลักสุจริตและหลักยุติธรรม
แม้ว่าผู้พิพากษาจะถูกบ่มเพาะและมีระบบที่ปกป้องความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งในการออกความเห็น และการพิพากษาคดีหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นหลักประกันแก่ผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีมิให้อิทธิพลหรืออำนาจใดๆ มาแทรกแซงหรือครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับอรรถคดีของผู้พิพากษาเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์เที่ยงธรรม แต่ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ที่ไม่ก้าวพ้นกฎเกณฑ์ความเป็นสัตว์สังคมไปได้
เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้ความน่าเชื่อถือของอำนาจนิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองที่เข้าไปนั่งอยู่ในสภานั้นมีความตกต่ำและขาดความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับอำนาจบริหารที่ทำให้สังคมไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในขณะที่อำนาจตุลาการถูกกล่าวหาจากบุคคลบางฝ่ายเมื่อมีคำพิพากษาออกมาไม่ตรงกับใจตัวเองว่าสองมาตรฐาน แต่สังคมส่วนหนึ่งก็ยังเชื่อมั่นว่าอำนาจตุลาการยังคงเป็นหลักให้กับสังคมไทยได้
เมื่อสังคมทุกวันนี้เกิดวิกฤตศรัทธาต่ออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือฝ่ายการเมืองจนยากจะกู้กลับคืน ดังนั้นจึงจำเป็นที่อำนาจตุลาการที่สังคมส่วนหนึ่งยังคงเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้จะเป็นหลักสำคัญที่ยังคงรักษาความยุติธรรมของประเทศนี้เอาไว้ให้ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ววิกฤตของประเทศนี้ก็จะถาโถมหนักขึ้นยิ่งกว่าเก่า และเมื่อนั้นประเทศจะไร้ความหวังกลายเป็นรัฐล้มเหลวและสังคมอนาธิปไตยในที่สุด ดังนั้นอำนาจตุลาการจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจการเมืองอย่างสิ้นเชิง
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันรพีวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์พระบิดาแห่งกฎหมายไทย มีคนโพสต์บทกวี “เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าหรอก แต่อย่าออกนอกทางไปให้เสียผล จงอย่ากินสินบาทคาดสินบน เรามันชนชั้นปัญญาตุลาการ....” ในโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด
ส่วนตัวผมยังมีความหวังกับความยุติธรรมและชนชั้นตุลาการในประเทศนี้ ความยุติธรรมมันไม่สามารถทำลายตัวมันเองให้กลายเป็นความอยุติธรรมได้ มนุษย์ต่างหากที่จะทำให้มันเป็นไป
ที่มา สุรวิชช์ วีรวรรณ 10 สิงหาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.