แล้ว “ภาษีลาภลอย” ก็มาถึงบทสรุป หลังจากที่รับฟังความคิดเห็นมาสองรอบ คุณกฤษฎา จีนระวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะเสนอ รัฐมนตรีคลังจัดทำเป็น ร่าง พ.ร.บ. ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ใครมีที่ดินและอาคารชุด รอบสถานีรถไฟฟ้าสนามบิน ท่าเรือ ทางด่วน จะถูกเก็บภาษีลาภลอยสูงสุด 5% ไม่จ่ายถูกยึดขายทอดตลาด
ผมก็หวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะสามารถผ่านออกมาใช้ได้ในรัฐบาลนี้ ถ้าไม่ผ่านก็กลายเป็น ลาภลอยของเศรษฐีที่ดิน เพราะกฎหมายนี้ไม่มีทางออกได้ในรัฐบาลเลือกตั้ง
การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหลายล้านล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่า รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ทางด่วน ท่าเรือ ทำให้ ราคาที่ดิน อาคารชุด บ้านจัดสรร รอบบริเวณ ราคาพุ่งขึ้นไปหลายๆเท่า เช่น ราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ราคาพุ่งขึ้นไป 100–150% เมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนทำให้เศรษฐีที่มีเส้นสายไปซื้อที่ดินดักหน้า ร่ำรวยมหาศาลโดยไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มสักบาทเดียว
ทุกครั้งที่มีการประกาศเส้นทางรถไฟฟ้า จะมีข่าวตามมาทันทีว่า ราคาที่ดินในเส้นทางพุ่งขึ้นไป 5 เท่า 10 เท่า ส่งผลให้บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมสองข้างทางรถไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นไปด้วย จากตารางเมตรละไม่กี่หมื่นต้นๆ เป็นตารางเมตรละหลายหมื่น ใกล้เมืองหน่อยก็เป็นแสนบาทหลายแสนบาท เจ้าของร่ำรวยไปตามๆกัน แต่ประชาชนผู้ซื้อเดือดร้อน ต้องซื้อในราคาแพงขึ้นมากมาย แต่รัฐไม่ได้ภาษีจากการลงทุนตรงนี้
คุณกฤษฎา บอกว่า จากการรับฟังความคิดเห็นสองครั้งได้ข้อสรุปว่า ภาษีลาภลอย ที่ กรมสรรพากร จะเก็บจากเจ้าของที่ดินและอาคารต่างๆ คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง เห็นด้วยที่จะให้เป็น “รายได้ของท้องถิ่น” แทนที่จะส่งเข้า กองทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ รายได้ของกองทุน ผมคิดว่าควรเก็บจากผู้ได้สัมปทานมากกว่า ภาษีจากที่ดินและอาคารควรตกเป็นของท้องถิ่น เพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้ที่ต้องเสียภาษีลาภลอย คือ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ที่เป็น เจ้าของที่ดิน หรือ ครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ เป็นเจ้าของห้องชุด หรือ ห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย แต่จะยกเว้นสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและการเกษตรกรรม
ขอบเขตของพื้นที่ที่ต้องเสียภาษีลาภลอยมีดังนี้ 1.รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พื้นที่ในรัศมีไม่เกิน 2.5 กม. รอบสถานี 2.สนามบิน พื้นที่ในรัศมีไม่เกิน 5 กม. จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ 4.ทางด่วนพิเศษ พื้นที่ในรัศมีไม่เกิน 2.5 กม. รอบทางขึ้นและทางลง ซึ่งรัศมีที่กำหนดนี้เป็นกรอบสูงสุด บางครั้งอาจจะลดเหลือ 1 กม. เพื่อไม่ให้การจัดเก็บซ้ำซ้อนกันในแต่ละสถานีรถไฟที่มีพื้นที่ติดกัน
ผมเห็นด้วยครับ กฎหมายภาษีลาภลอย ควรมีในประเทศไทย เพราะสังคมไทยเต็มไปด้วยเส้นสายที่สร้างความเหลื่อมล้ำมากมาย เช่น เส้นทางและสถานีรถไฟฟ้ารถไฟความเร็วสูงทางด่วนพิเศษ มอเตอร์เวย์ จะสร้างที่ไหนบ้าง ข้าราชการผู้ใหญ่ นักการเมือง มหาเศรษฐีทั้งหลาย รู้ล่วงหน้าหมด และ ไปซื้อที่ดินไว้ล่วงหน้าทุกเส้นทางชาวบ้านธรรมดาถูกเวนคืนยังไม่รู้เรื่องเลย
การเก็บภาษี “ลาภลอย” จากผู้ที่ได้ประโยชน์ จึงสมควรอย่างยิ่ง
แต่ผม “เสียดาย” และ ขอฝากรัฐมนตรีคลังไว้ตรงนี้อีกพื้นที่ ก็คือ “ที่ดินตาบอด” ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่มีอยู่มากมาย น่าจะบรรจุลงในกฎหมายฉบับนี้ด้วย รัฐจะได้เข้าไปพัฒนา สร้างถนนสายใหม่ๆผ่านที่ดินตาบอดในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่มีอยู่มากมาย น่าจะบรรจุลงในกฎหมายฉบับนี้ด้วย รัฐจะได้เข้าไปพัฒนา สร้างถนนสายใหม่ๆผ่านที่ดินตาบอด ทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ขึ้นด้วย.
ที่มา “ลม เปลี่ยนทิศ” 31 ก.ค. 2560