ข้อสรุปคือ
1.สถานการณ์ “เลวลง” กว่าก่อนหน้านี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีมาก แต่หลายเรื่องอยู่ระหว่างการแก้ปัญหา หลังรัฐประหารมีการออกคำสั่งหลายอย่างโดยไม่สนใจกระบวนการแก้ปัญหาก่อนหน้า เช่น คำสั่งทวงคืนผืนป่า หรือกรณีเหมืองแร่โปแตช ชาวบ้านสู้มา 15 ปี หลังรัฐประหารทำได้หมดเหลือกระบวนการรับฟังความเห็นเวทีสุดท้าย
2.อะไรไม่เคยเกิดก็เกิดในภาคอีสาน เกิดการเร่งรัดพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น การขุดเจาะปิโตรเลียม อีสานถูกแบ่งเป็นสองซีก ตอนบนเป็นของบริษัทอเมริกัน ตอนใต้เป็นของบริษัทจากจีนได้ โครงการขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นโครงการที่ชาวบ้านค้านไม่ได้ ไม่มีผลทางกฎหมาย
3.อะไรที่เป็นสิทธิก็ถูกตัดไปโดยไม่ถามก่อน เช่น กรณีแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง)
4.ความบ้าอำนาจของรัฐเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านรวมตัวแทบเป็นไปไม่ได้ แม้จะผ่านมาถึง 3 ปีแล้วแต่ปีนี้ก็ยังถูกจับตา อิทธิพลมืดกร่างขึ้น ขณะที่ หัวหน้า คสช.ก็ใช้ ม. 44 ปลดล็อคได้ทุกอย่าง มีการจับกุมคนที่เป็นปฏิปักษ์กับ คสช.อย่างต่อเนื่องในอีสาน
“จากคนที่ลังเลในปี 49 ว่าจะเชียร์ทหารดีหรือเปล่า ตอนนนี้บอกได้เลยชาวบ้านในอีสานเกลียดทหารมากกว่าที่ชอบ ถามว่าชาวบ้านรู้สึกอย่างไรกับรัฐประหาร ตอนนี้มันถูกกดดันถึงขั้นต่ำสุดทุกเรื่อง ไม่ว่าสิทธิที่จะพูดอะไร ไม่ว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกปล้นตลอด นี่ไม่นับเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำและชาวบ้านเดือดร้อนมาก”"สามปีผ่านมา ถามว่าดีขึ้นหรือแย่ลง คำตอบก็คือ ตอนนี้ถูกกดดันถึงขั้นต่ำสุดทุกเรื่อง"
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานเป็นเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวนซึ่งเป็นปัญหามาเนิ่นนาน ที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีแต่เพียงแนวนโยบายเบื้องต้นว่าระหว่างแก้ปัญหาไม่ให้คุกคามหรือสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตชาวบ้าน แต่มันก็ยังไม่ใช่กฎหมายที่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติทั้งหมด ยังคงมีการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่
หลังการรัฐประหาร มีคำสั่งที่ 64/2557 อีก 2 วันก็ออกคำสั่งที่ 66/2557 จากนั้น กอ.รมน.กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จัดทำแผนแม่บทป่าไม้ บอกว่าพื้นที่ป่าในไทยลดน้อยลง ต้องการให้เพิ่มขึ้นจาก 31% เป็น 40% แบ่งเป้าหมายเป็น 3 อย่าง คือ 1.ทวงคืนจากผู้บุกรุก 2.บริหารจัดการป่าให้มีคุณภาพ 3.ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เป้าหมายที่ 1 และ 2 ต้องดำเนินการให้จบภายใน 1 ปี ทำให้เกิดการเร่งยึดพื้นที่ชาวบ้าน
ที่ผ่านมาคดีที่ถึงที่สุดโดยให้ราษฎรออกจากพื้นที่ตามคำพิพากษาของศาลแล้วแบ่งเป็น พื้นที่ในความดูแลของกรมป่าไม้ 8,000 กว่าไร่ เขตอุทยาน 2,000 พันกว่าไร่ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง 1,000 กว่าไร่ ส่วนที่มีการแจ้งความแล้วแต่เรื่องยังไม่ถึงศาล เช่น กรณีมีการแจ้งความแต่ยังไม่พบตัวผู้กระทำความผิด พบว่าเป็นพื้นที่ในความดูแลของกรมป่าไม้ 6,000 กว่าไร่ กรมอุทยาน 700 กว่าไร่
กระบวนการก่อนการยึดพื้นที่คือ การพิสูจน์สิทธิว่าราษฎรอยู่ก่อนประกาศเขตป่าไหม ถ้าไม่ใช่ก็จะยึดมาฟื้นฟู เกณฑ์การจำแนกการบุกรุกมี 3 อย่าง กลุ่มที่อยู่ก่อนปี 2545 , หลังสี่ห้าแต่ก่อนออกคำสั่ง 64 และ 66/2557 และหลังออกคำสั่ง 64 และ 66/2557 กลุ่มแรกใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ถ้าพบว่าอยู่ก่อนก็จะได้รับการรับรองสิทธิ ถ้าอยู่หลังต้องออกจากพื้นที่ แต่แม้ถึงอยู่ก่อนแต่พื้นที่นั้นสำคัญต่อระบบนิเวศก็ต้องออกจากพื้นที่เช่นกัน โดยสภาพแล้วการพิสูจน์สิทธิที่พบมีจำนวนน้อยมากที่ชาวบ้านจะอยู่ในพื้นที่เดิมได้ กลุ่มที่สองก็ต้องพิสูจน์สิทธิเช่นกลุ่มแรก กลุ่มที่สามต้องออกจากพื้นที่เลย
อย่างไรก็ตาม วิธีการใช้ภาพถ่ายทางอากาศนั้นมีความไม่เหมาะสม เพราะชาวบ้านจำนวนมากเขาเข้าไปอยู่นานแล้วแต่เขารักษาป่าไว้เป็นป่าหัวไร่ปลายนา เมื่อดูตามแผนที่จะเห็นว่าเป็นป่าสมบูรณ์ แต่สภาพความจริงชาวบ้านเขาครอบครองอยู่
นอกจากนี้ยังมีหลายหมู่บ้านที่เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความไว้ว่ามีการบุกรุกแต่ไม่พบตัวผู้กระทำความผิด หลังมีคำสั่งทวงคืนผืนป่าของ คสช. ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ก็บอกชาวบ้านว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้ ทำให้ชาวบ้านไปแสดงตัว โดยแบ่งแปลงต่างๆ ให้ลูกหลานด้วย สุดท้ายกลับถูกจับกุมดำเนินคดีกันทั้งบบ้าน นี่เป็นวิธีการหาตัวผู้กระทำความผิด
คดีป่าไม้ ที่ดินสาธารณะ การพิสูจน์ในคดีอาญานั้นฝ่ายเจ้านหน้าที่กล่าวอ้าง และจำเลยซึ่งเป็นชาวบ้านต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ หลักฐานที่ชาวบ้านมีสู้ได้ไหม เมื่อก่อนใช้หลักสิทธิชุมชนศาลยังพอรับฟัง มาภายหลังการรับฟังพยานเรื่องการขาดเจตนานั้นยากลำบาก ศาลมักมองว่าเนื่องจากมีราษฎรรุกป่ากันจำนวนมาก หากวินิจฉัยแบบเดิม ป่าจะยิ่งไม่เหลือ แนวทางการพิพากษาหลังๆ ชาวบ้านจึงแพ้คดีเกือบทั้งหมด โอกาสที่ชาวบ้านชนะมีน้อยมาก
พี่น้องอยากให้แก้ไขกฎหมายหลายๆ ฉบับ ให้อำนาจ อปท.กำหนดเขตอนุรักษ์ต่างๆ ระยะเวลาใกล้นี้มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีการพูดเรื่องการกระจายอำนาจ แต่เนื้อแก้ก็ยังไม่อนุญาตให้ท้องถิ่นกำหนดเขตอนุรักษ์เองได้
จะประมวลว่า 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องเสรีภาพนั้นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในภาคอีสาน
ประเด็นที่ขับเคลื่อนในภาคอีสานมีสองระดับ คือ การเมืองระดับชาติ เช่น การต่อต้านรัฐประหาร การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ , ระดับท้องถิ่นหรือการเมืองเรื่องปากท้อง เช่น โครงการพัฒนาของภาครัฐ โครงการเอกชน
ความเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร ยกตัวอย่างจังหวัดอุบลราชธานี พบว่ามีการปิดวิทยุมชน, การเรียกแกนนำระดับท้องถิ่นพูดคุยและร่วมทำกิจกรรมปรองดอง, การจับตาการจัดเสวนาวิชาการ, การติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม, ทหารเข้าไปมีบทบาทในชุมนที่มีข้อพิพาทด้านทรัพยากรกับเอกชน, การดำนินคดีผู้เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นประเด็นสาธารณะ
การสแดงออกในประเด็นการเมืองระดับชาติ ยกตัวอย่าง คดีเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพยายามปิดกั้นในหลายระดับ ทางมหาวิทยาลัยไม่ใช้ใช้พื้นที่ ตำรวจเอาประกาศของ สภ.ให้ยุติกิจกรรมมาแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะมีการดำเนินคดีตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่ในกฎหมายยกเว้นสถานศึกษาเอาไว้ ท้ายที่สุดผู้จัดยังจัดกิจกรรมต่อไป สุดท้ายจึงมีคนถูกดำเนินคดีรวม 10 คน และกำลังจะยื่นฟ้องเร็วๆ นี้ สำหรับการณรงค์โหวตโนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 กรณีจังหวัดอุบลฯ จังหวัดชัยภูมิ มีการดำเนินคดีกับผู้รณรงค์โหวตโน ส่วนการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ของนปช.พบว่า หลายจังหวัดชาวบ้านถูกฟ้องคดีจำนวนมาก แต่มีส่วนน้อยที่ต่อสู้คดีเพราะยืนยันว่าไม่ผิด ส่วนใหญ่นั้นยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีจบเร็วและโดนปรับ รอลงอาญา เนื่องจากชาวบ้านไม่มีต้นทุนในการสู้คดี
กรณีปัญหาปากท้อง คดีหม่นประมาทเกิดขึ้นเยอะ ถึงขนาดที่แม้ชาวบ้านแค่ไปยื่นหนังสือก็ยังโดนคดีหมิ่นประมาทเช่นเดียวกับคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุม เช่น กรณีชาวบ้านรวมกลุ่มเรียกร้องเรื่องย้าย บขส.ขอนแก่น กิจกรรม Walk for Rights เป็นต้น
“การเคลื่อนไหวมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก ทิศทางต่อไปเราเห็นแล้วว่ามีปัญหามากในหลายภูมิภาค เป็นไปได้ไหมที่ต้องมีการพูดคุยกับประชาชนหลายๆ ภาค โดยเฉพาะเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุม ถ้าอนาคตมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับ 3/2558 ไปแล้ว มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว พ.ร.บ.ชุมนุมจะกลายเป็นเครื่องมือจำกัดการเคลื่อนไหวสำคัญ มันออกในปี 2558 เราน่าจะเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายนี้โดยให้ประชาชนมีโอกาสร่วมในการร่างกฎหมายนี้”
เว็บไซต์ข่าวอีสานเรคคอร์ดติดตามประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และผลกระทบที่คนอีสานได้รับจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 อุปสรรคในการทำงานสื่อในพื้นที่นั้นหลังรัฐประหาร บรรยากาศการทำข่าวการเมืองเปลี่ยนแปลงมาก แหล่งข่าวกลัวและไม่กล้าพูดทั้งหมด มีความไม่ไว้วางใจกันมากขึ้น ก่อนรัฐประหารบรรยากาศเปิดมากกว่ามาก นอกจากนี้การทำข่าวในพื้นที่ยังถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเก็บภาพ เก็บข้อมูลชื่อ และถูกติดตามในบางช่วง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน
สำหรับการตื่นตัวทางการเมืองในภาคอีสานมีสูงขึ้นมาก คนกล้าที่จะพูดถึงสิทธิตัวเอง กล้านำเสนอปัญหาของตัวเองกับสื่อมากขึ้นด้วย
สิ่งที่จะพูดในวันนี้คือ
1.เรื่องความเข้าใจผิดสองประเภท ที่เกี่ยวข้องกับระบอบผด็จการกับทุนสามานย์
2.จริงๆ แล้วชาวบ้านกำลังต่อสู้กับอะไร
ประเด็นที่หนึ่ง มีความเข้าใจผิดอย่างน้อย 2 ประเภทที่สร้างความหายนะให้วิถีชีวิตชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและขบวนการภาคประชาชน
ความเข้าใจผิดแรก คือ การล้มล้างระบอบทักษิณเป็นการล้มทุนนิยมสามานย์ มีแต่รัฐของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่กอบโกยเอาจากระบบทุนนิยมสามานย์
ความเชื่อประเภทนี้นำสู่ความเข้าใจผิดอีกสองประเภท คือ มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เล่นการเมืองและกอบโกย แต่ทหารไม่ใช่นักการเมืองและไม่กอบโย ซึ่งนำสู่ความคิดที่ว่า การล้มล้างระบอบทุนนิยมสามานย์เสรีนิยมใหม่ มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งการต่อสู้เรื่องนี้สำคัญกว่าการสู้กับระบอบเผด็จการ หลายคนคิดว่าได้รัฐบาลเผด็จการยังดีกว่าอยู่ภายใต้รัฐทุนนิยามสามานย์
ฐานคิดนี้มีเดิมพันที่สูงมาก เพราะเชื่อว่าการปิดประเทศ การล้มเลือกตั้ง สร้างสุญญากาศทางการเมืองได้แล้วจะเกิดปฏิรูปสังคม การเมือง เศรษฐกิจให้ปลอดพ้นทุนนิยามสามานย์ได้ ตอนนี้เราประสบแล้วกับสุญญากาศทางการเมือง
ความเข้าใจผิดประเภทสอง คนจำนวนหนึ่งอยู่แนวนี้ คือ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็สามานย์เหมือนกันหมด นักการเมืองหรือทหารก็ไม่ต่างกัน ไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนกัน ดังนั้น ระบอบใดก็ได้เพียงแต่อย่ายุ่งกับผลประโยชน์ตนเอง
ความเชื่อสองประเภทวางบนความเข้าใจผิด ถ้าเรามองประวัติศาสตร์รัฐทหารทั่วโลก จะพบว่าไม่มีรัฐทหารไหนไม่สนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์ มีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเผด็จการกับทุนนิยมใหม่จำนวนมากที่พบว่า เสรีนิยมใหม่ทำงานได้ดีกว่าในระบอบเผด็จการ ยิ่งรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไรยิ่งส่งเสริมและสนับสนุนทุนนิยมสามานย์หนักมากเท่านั้น ชิลีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในสมัยปิโนเชต์
ความเชื่อประเภทสองนั้นอาจจะถูกแต่ก็ถูกครึ่งเดียว ทุกรัฐต่างก็ค้ำจุนทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กันทั้งสิ้น แต่รัฐไทยใต้ระบอบการเมืองที่ต่างกัน ใช้มรรควิธีทางการเมืองที่ต่างกันในการผลักดันให้ทุนนิยมเกิด ตลอด 17 ปีของชิลีในการผลักดันให้เกิดทุนนิยมเสรีเป็นสองทศวรรษที่เต็มไปด้วยความรุนแรง มีการปราบจับประชาชนกว้างขวาง มีการทรมานและสังหารประชาชนจำนวนมาก รัฐในระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อยที่สุดก็ยังเปิดให้มีกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุลคัดง้างได้ กลไกนี้ไม่เปิดโอกาสให้รัฐทุบทำลายประชาชนได้ง่ายนัก การอ้าปากแสดงออก การชุมนุมโดยสันติยังทำได้ อย่างน้อยจำนวนของประชาชนมีความสำคัญ จำนวนมากย่อมเสียงดัง แต่ในรัฐเผด็จการนั้นจำนวนไม่มีความหมาย ในรัฐที่ไม่เกาะเกี่ยวยึดโยงกับประชาชนเลยจะเห็นการผลักดันโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกว้างขวางกว่ารัฐในระบอบประชาธิปไตย
ประเด็นที่สอง เหตุใดรัฐเผด็จการจึงสนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ทหารไม่ได้รับใช้ทุนนิยมและถูกนายทุนใช้เป็นเครื่องมือ แต่ทหารเองนั่นแหละเป็นตัวขับเคลื่อนทุนนิยมสามานย์ ใช้กลไกของรัฐเพื่อสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับใช้ความมั่งคั่งชนชั้นตนเอง รัฐเผด็จการเป็นนักการเมืองประเภทหนึ่ง เขาสนับสนุนเสรีนิยมใหม่เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เพื่อครองอำนาจในระยะยาว สิ่งสำคัญสุดในระบอบทหารคือการผนึกรวมอำนาจให้ตัวเอง และจะทำได้ต้องสร้างฐานอำนาจที่มั่นคง แจกจ่ายผลประโยชน์ให้กลุ่มชนชั้นนำซึ่งเป็นพันธมิตรของตน สร้างความจงรักภักดีผ่านการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน และลดแรงเสียดทานจากนานาชาติ พร้อมกับกดปราบทางการเมืองต่อกลุ่มที่เป็นภัยคุกคาม
ประเด็นสุดท้าย ถามว่าชาวบ้านกำลังสู้กับอะไร ชาวบ้านในแต่ละที่ไม่ได้กำลังสู้กับบริษัทเดียว นายทุนคนเดียว แต่สิ่งภาคประชาชนกำลังสู้คือ ระบบที่เอื้ออำนวยให้กับเอกชนหยิบฉวยผลประโยชน์อย่างเอาเปรียบ แม้เราต่อสู้ยึดที่ดินมาได้ แต่โครงสร้างอำนาจที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับชาวบ้านไม่เปลี่ยน ไม่ว่ารัฐไหนๆ ก็สนับสนุนทุนให้ยึดครองที่ดินเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสินค้าทั้งสิ้น แต่กลไกมันต่างกันในระบอบการเมืองที่ต่างกัน คำถามคือ เวลาเราบอกเราต่อสู้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองของตัวเอง อำนาจต่อรองนั้นต้องเป็นไปเพื่อประเด็นที่ใหญ่กว่าประเด็นของตัวเอง เราต้องมีเครือข่าย ถ้าความทุกข์ยากที่เป็นอยู่เป็นรายกรณีเราก็ต้องทำให้มีระดับหรือมิติที่ใหญ่กว่านั้น เป็นความเดือดร้อนในระดับสาธารณะ เคลื่อนไหวใหญ่กว่าระดับประเด็น เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นความไร้ความเป็นธรรมในระดับโครงสร้าง ทำเช่นนี้จึงทำให้การเคลื่อนไหวประเด็นทรัพยากรได้รับการเชื่อมต่อกับประเด็นอื่นๆ ที่ได้รับผลจากการกระทำของรัฐเผด็จการได้
ที่มา ประชาไท 2017-07-26
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.