ลดพื้นที่ปลูกข้าว...นโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ เพราะการเข้ามาของ คสช.เกิดจากปัญหาทุจริตจำนำข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวล้นโกดังมาหลายปี และตลอดระยะเวลาบริหารประเทศมา 3 ปี มีโครงการจูงใจให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าว และงดทำนาปรัง
ด้วยเชื่อในตรรกะ “ปลูกมากจะเอาไปขายที่ไหน” ฉะนั้นพืชทุกชนิดที่ราคาตกต่ำ ไม่ว่ายางพารา มังคุด การแก้ปัญหาเลยอยู่บนพื้นฐานความเชื่อเดียวกัน
และปีงบประมาณ 2561 ความคิดเช่นนี้มิได้เปลี่ยนแปลง ยังคงพยายามจูงใจชาวนาเลิกทำนา หลากหลายโครงการ อาทิ ปลูกพืชอาหารสัตว์แทนข้าว ได้แก่ ข้าวโพดสด มันสำปะปะหลัง กระถิน หญ้าแพงโกลา หญ้าเนเปียร์ พืชตระกูลถั่ว และพืชอื่นที่เป็นอาหารสัตว์ได้ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ โดยเกษตรกรได้รับการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 6,000 บาท...เมื่อตัดสินใจแล้ว ต้องทำให้เด็ดขาด หากเกษตรกรกลับลำไปปลูกข้าวอีก จะถูกตัดเงินสนับสนุนในปีนั้นและปีต่อไป
โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย เพื่อให้งดฤดูนาปรัง ปี 2561 (1 พ.ย.60-30 เม.ย.61) ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่เช่นเดิม...เกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายไร่ละ 2,000 บาท
อีกโครงการสุดท้ายปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อไถกลบ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ รัฐสนับสนุนค่าไถเตรียมดินไร่ละ500 บาท
ไม่รู้ว่าโครงการที่รังสรรค์กันขึ้นมานั้น ไม่ทราบว่าได้ลืมอะไรไปไหม...คนได้เงินคือเจ้าของที่นา ที่ไม่ใช่ชาวนา เพราะบ้านเรามีเกษตรกรทำกินในที่ดินของตัวเองแค่ 48% เท่านั้น
เท่านั้นไม่พอ ไม่มีการศึกษาภูมิอากาศในอนาคต ทั้งที่หลายสำนักต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน ไทยจะเริ่มกลับสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ...ร้อน แล้ง ตั้งแต่ปลายปีนี้ และจะเห็นผลชัดเจนในปีหน้า
นั่นหมายความว่า โอกาสราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น วงการค้าข้าวทั่วโลกถึงได้เตรียมแผนกอบโกย แต่ไทยกลับลดพื้นที่ปลูก แถมยังเลหลังขายข้าวในสต๊อกในราคาอาหารสัตว์.
ที่มา สะ–เล–เต ไทยรัฐออนไลน์ 25 ก.ค. 2560