เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัด มีข่าวพาดหัวของหน้าเศรษฐกิจอยู่ข่าวหนึ่งที่ผมตัดเก็บไว้ตั้งใจว่าจะนำมาออกความเห็นเพิ่มเติม เมื่อกลับมานั่งเขียนหนังสือที่โรงพิมพ์
ข่าวว่าด้วย “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยนั่นแหละครับ ที่เขาพาดหัวตัวใหญ่บ้างตัวเล็กบ้างบอกว่า “ติดอันดับโลก” เลยทีเดียว
เป็นผลจากงานวิจัยของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (สศป.) ในหัวข้อเรื่อง “มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยผ่าน BIG DATA ของเครดิตบูโร” ได้ผลสรุปออกมาว่า ไทยมีหนี้ครัวเรือนตามหลักสากล 71.2 เปอร์เซ็นต์
สูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชียแปซิฟิก และอยู่ในอันดับต้นๆของโลก รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้
ข้อมูลที่ว่านี้ได้มาจากการศึกษาตัวเลขของเครดิตบูโร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 โดยเป็นข้อมูลสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 90 แห่ง รวม 60.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 9.8 ล้านล้านบาทในการศึกษาดังกล่าวพบว่าประชากรไทย 1 ใน 3 ของประเทศ มีหนี้ในระบบ และมีหนี้เฉลี่ยต่อคน 147,068 บาทซึ่งหากรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ หรือหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และที่สำคัญคือ หนี้นอกระบบเข้าไปด้วยแล้ว ค่าเฉลี่ยหนี้ต่อหัว ของคนไทยจะสูงกว่าตัวของคนไทยจะสูงกว่าตัวเลข 147,068 บาท อย่างแน่นอน
เมื่อเทียบระหว่างชนบทกับเมือง รายงานชิ้นนี้พบว่า คนชนบทมีหนี้ต่อหัวสูงกว่าคือ เฉลี่ย 161,073 บาทต่อคน เทียบกับคนในเมืองที่เฉลี่ย 122,762 บาทต่อคน
เมื่อมองเป็นรายภาค พบว่าภาคเหนือมีหนี้ต่อหัวสูงสุดเฉลี่ย 183,832 บาทต่อคน ตามด้วยภาคอีสาน 159,263 บาทต่อคน ภาคใต้ 151,614 บาทต่อคน ภาคกลาง 137,423 บาทต่อคน
ต่ำสุดก็คือ กทม. และปริมณฑล คือ 101,977 บาทต่อคน
งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบอีกว่า ผู้กู้ 1 ใน 5 ของผู้กู้ทั้งหมด หรือร้อยละ 20 จะเบี้ยวหนี้หรือเป็นหนี้เสีย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าคนไทยเริ่มมีหนี้ตั้งแต่อายุน้อย โดยคนที่เริ่มทำงานจะเริ่มเป็นหนี้และเป็นหนี้ต่อเนื่องแทบตลอดชีวิต
จากข้อมูลที่ผู้วิจัยค้นพบคนวัยทำงาน 20% จะมีหนี้ผ่อนส่งรถยนต์ ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียถึง 20% ขณะที่สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ เป็นหนี้เสียสูงสุดถึง 37% แสดงถึงความเปราะบางของความสามารถในการชำระหนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้
ผู้วิจัยถึงกับเสนอความเห็นเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “การเป็นหนี้และมีหนี้เสียตั้งแต่อายุน้อยอาจสร้างผลกระทบต่อตัวผู้กู้ ทั้งในส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมถึงอาจกระทบการพัฒนาเศรษฐกิจไทย”
“ดังนั้น ควรปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงินให้มากและทั่วถึงยิ่งขึ้น ขณะที่การมีข้อมูลในเชิงลึกจะทำให้เข้าใจกลุ่มที่เปราะบางมากขึ้น จะสามารถออกแบบนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต”
ผมเห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์ว่าควรจะมีข้อมูลในเชิงลึกให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือที่ถูกต้อง
ในประเด็นคนไทยเริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุน้อยก็น่าเป็นห่วงครับ ยังไม่ทันเริ่มต้นใช้ชีวิตเลย จะต้องกลายเป็นบุคคลหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไร้เครดิตกันเสียแล้ว จะอยู่เป็นสุขไปตลอดชีวิตที่ยังเหลืออีกยาวนานได้อย่างไร
กล่าวโดยสรุป ปัญหาหนี้ครัวเรือนแม้จะเป็นปัญหาระดับครัวเรือนหรือของบุคคลทั่วๆไป แต่ถ้าปัญหาแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางก็ย่อมจะ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาพส่วนรวมของประเทศได้ในที่สุด
ครัวเรือนหรือบุคคลที่มีหนี้สินสูงย่อมจะขาดแคลนเงินทองทั้งในการใช้จ่ายหรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ จะส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพต่ำลง อาจมีปัญหาทางด้านสังคมตามมาอีกหลายประการ ซึ่งก็มีผลกระทบกลับไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
รัฐบาลไทยกำลังวางเป้าหมายที่จะเดินทางไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยความหวังว่ารายได้ส่วนรวมเฉลี่ยจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูงขั้นต้น
อย่ามองข้ามปัญหาหนี้สินครัวเรือนนะครับ เพราะต่อให้ภาพส่วนรวมยอดเยี่ยมขนาดไหน แต่ถ้าการกระจายรายได้ยังไม่ดีนัก และ จำนวนหนี้ครัวเรือนยังติดอันดับโลก เราก็จะเป็นประเทศรายได้สูง แต่เพียงในนามหรือแค่ตัวเลขถึงเท่านั้นเอง.
ที่มา ซูม ไทยรัฐออนไลน์ 5 ก.ค. 2560