ยุคแห่งการ Transformation จากโลกอุตสาหกรรม ไปสู่ยุคดิจิตอลกำลังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็รวมถึง "ภาคการเกษตร" คลังเสบียงของมนุษย์โลกด้วย
สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลจากรายงานเชิงลึกเรื่องการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลไทยร่วมกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโรแลนด์ เบอร์เกอร์ จำกัดที่แสดงให้เห็นว่า ภาคการเกษตรไทยนั้น สามารถเพิ่มผลผลิตได้อีกมากในยุค Digital Transformation หากมีการปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
จากข้อมูลของรายงานฉบับดังกล่าวพบว่า ผลผลิตของเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาหดตัวต่ำกว่าปริมาณความต้องการของตลาดโลก ซึ่งอาจเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การใช้กำลังคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ (ภาคการเกษตรไทยมีการใช้แรงงานกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แต่สร้างมูลค่าผลผลิตได้แค่ 9 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ขณะที่มาเลเซียใช้แรงงานเพียง 11เปอร์เซ็นต์ก็สามารถทำได้แล้ว) ซึ่งปัญหาของภาคการเกษตรไทยจากรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่ามาจากปัจจัยหลัก ๆ 6 ประการ ได้แก่
1. มีเกษตรกรรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ ทำให้กระจายความรู้สู่เกษตรกรได้ยากลำบาก ยกตัวอย่างเช่น ตลาดข้าวที่ไทยมีเกษตรกรที่มีที่นาด้วยพื้นที่น้อยกว่า 10 ไร่มากถึง 38 เปอร์เซ็นต์ หรือฟาร์มสุกรที่มีเกษตรกรรายย่อยมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ (เลี้ยงสุกรไม่ถึง 50 ตัวในฟาร์ม) 2. ปัญหาการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยพบว่า ผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้คงตัว และมีบางส่วนที่ลดลง เช่น ข้าวและยางพารา
3. ใช้ปัจจัยการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เกษตรกรไทยใช้เงินมากกว่าเกษตรกรเวียดนามถึง 1.8 เท่า ในการทำเกษตรกรรมแบบเดียวกัน โดยมีค่าปุ๋ยสูงเกือบครึ่งหนึ่งของต้นทุนรวม
4. ปัญหาแรงงานภาคเกษตรที่ขาดแคลน ไม่มีความรู้
5. การขาดแคลนช่องทางการจัดจำหน่าย
6. ข้อจำกัดด้านการควบคุมคุณภาพ เช่น การสืบย้อนกลับไปหาถึงต้นตอที่มีใช้แค่ในธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งมีความเข้าใจ และมีทุนทรัพย์มากพอ
เทคโนโลยีช่วยได้ใน 4 ด้าน
1. ช่วยในด้านการจัดเก็บ - วิเคราะห์ - ประมวลผลข้อมูล
ต้องบอกว่าที่ผ่านมาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรของไทยนั้นจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย และบางฐานข้อมูลก็ไม่มีความเคลื่อนไหว บ้างก็ซ้ำซ้อน รายงานฉบับดังกล่าวจึงมีข้อเสนอให้จัดทำ "ระบบสารสนเทศเกษตรแห่งชาติ" หรือ National Agricultural Information System (NAIS) ที่เป็นระบบกลางของประเทศทำหน้าที่เก็บข้อมูลและองค์ความรู้ทางการเกษตรในรูปแบบดิจิตอล
โดยระบบสารสนเทศเกษตรแห่งชาติจะเป็นที่รวบรวมข้อมูล เช่น ข้อมูลอากาศ ข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม ประชากร ข้อมูลการเกษตรจากทั่วประเทศ และข้อมูลด้านงานวิจัย จากนั้นก็จะมีการนำ Big Data เหล่านั้นมาวิเคราะห์และนำไปใช้งานโดยภาคส่วนต่าง ๆ เช่น รัฐบาล เกษตรกร ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษาและวิจัย ฯลฯ ต่อไป
2. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก
มีเทคโนโลยีชื่อ เกษตรกรรมแม่นยำสูง หรือ Precision Agriculture ที่กำลังจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้ประกอบด้วย
1. เซนเซอร์ชนิดต่าง ๆ - ควบคุมปริมาณน้ำและปุ๋ยไม่ให้ใส่มากเกินไปจนกลายเป็นค่าใช้จ่าย2. ระบบเก็บข้อมูล - ประมวลผล
3. เครื่องมืออัตโนมัติ - เช่น ใช้ โดรน ถ่ายภาพและข้อมูลคุณภาพดินจากเซนเซอร์ ทำความเข้าใจพื้นที่เพาะปลูก และคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมได้ดีขึ้น หรือรถแทร็กเตอร์ที่ควบคุมโดยระบบอัตโนมัติ ช่วยให้ภาคการเกษตรกรใช้แรงงานน้อยลง
4. ซอฟต์แวร์ช่วยจัดการไร่นา
ยกตัวอย่างประเทศที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้และประสบความสำเร็จ เช่น โครงการนาข้าวแม่นยำสูงของมาเลเซียที่รัฐบาลต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวให้ได้ 5 ตันต่อเฮกตาร์ ภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งปัจจุบันเริ่มใกล้เคียงกับเป้าหมายมากขึ้นทุกที ในจุดนี้ ฟาร์มขนาดเล็กก็สามารถทำได้ เพียงแต่ข้อจำกัดของฟาร์มขนาดเล็กคือเรื่องเงินทุน และองค์ความรู้ที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้นเอง
3. ช่วยบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์
นอกจากเกษตรกรรมแม่นยำสูงแล้ว ยังมีฟาร์มปศุสัตว์แม่นยำสูง หรือ Animal-Centric Approach ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเกษตรกรบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีการใช้เซนเซอร์ตรวจจับโรคในสัตว์ได้ตั้งแต่ระยะแรก เซนเซอร์ติดตามสัตว์ในที่ร่ม รถแทร็กเตอร์อัตโนมัติ คลาวด์ ฯลฯ เข้าทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างสตาร์ทอัปด้านฟาร์มปศุสัตว์แม่นยำสูงอย่าง eFishery ในอินโดนีเซีย ที่ใช้เซนเซอร์คาดคะแนความอยากอาหารของปลาโดยวัดจากอัตราการพร่องของอาหาร และการเคลื่อนไหวของปลา ผลก็คือ สามารถประหยัดต้นทุนอาหารปลาให้กับฟาร์มแห่งหนึ่งได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
สำหรับประเทศไทย ความท้าทายคือ การรับแนวคิดดังกล่าวไปใช้งานยังจำกัดอยู่ในบริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น เบทาโกร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และThai Food Group ส่วนฟาร์มขนาดเล็กยังไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าวได้ มากนัก และยังไม่มีความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับมากพอด้วย
4. ช่วยกระจายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ
จากการประเมินสถานการณ์ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อนำผลิตภัณฑ์จากฟาร์มออกสู่ตลาดนั้น ต้องบอกว่าไทยมีการทำอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เช่น รัฐมีการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเช่นโครงการ Agrimart.in.th และ Ortorkor.com แต่เป็นเพียงโครงการริเริ่มที่ยังไม่มีผู้ขายมากนัก
อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าจะมีการรวมสองเว็บไซต์ Agrimart.in.th และ Ortorkor.com เข้าด้วยกันเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการประยุกต์ใช้ QR Code และ RFID ที่นำไปสู่การพัฒนาระบบสืบค้นย้อนกลับ (e-Traceability) เพื่อติดตามที่มาของสินค้าเกษตรได้ เช่น พบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ก็สามารถสืบค้นย้อนกลับไปได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นถูกผลิตที่ใดได้ทันที
จากทิศทางในการพัฒนาทั้ง 4 ด้านนี้ จะเห็นได้ว่า ธุรกิจการเกษตรเป็นอีกหนึ่งวงการที่น่าสนใจสำหรับผู้พัฒนาเทคโนโลยี เนื่องจากจะเห็นได้ถึงความต้องการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านอีคอมเมิร์ซเพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตรไทยออกสู่ตลาดโลก ดังนั้น การเริ่มต้นก่อนอาจหมายถึงโอกาสที่มากกว่าก็เป็นได้
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.