เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 นายประพันธ์ พิชิตไพรพนา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดเผยว่าหลังจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาเรื่องพืชเชิงเดี่ยวที่สร้างผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศป่าไม้ และสร้างผลกระทบในด้านคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนนั้น
ทางท้องถิ่นได้มีความพยายามหลายครั้งเพื่อฟื้นฟูป่าและรักษาป่าที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่ โดยไม่กระทบต่อการประกอบอาชีพของชุมชน จึงเกิดเป็นแนวคิด “แม่แจ่ม โมเดล” ซึ่งได้เริ่มต้นด้วยการสำรวจข้อมูลพื้นที่ และจัดทำแนวเขตที่ดินโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอแม่แจ่ม ที่แล้วเสร็จราวปี 2554 เป็นเกณฑ์ในการกำหนดแนวเขตป่าไม้และที่ดิน และกำหนดพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินออกจากแนวเขตดังกล่าว ซึ่งสำเร็จด้วยดี ในปีนี้ทางเครือข่ายภาคีทั้งภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้าน และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “รวมพลังพลเมืองเชียงใหม่ : สานพลังคนเมืองแจ่ม ปลูกไม้ สร้างป่า สร้างรายได้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อต่อยอดแนวความคิด “แม่แจ่ม โมเดล” นายประพันธ์กล่าวว่า จะเร่งวางข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ช่วยในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และที่ดิน ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่แนวกันชนและที่ราบเชิงเขาให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การปลูกป่า เพื่อป้องกันภัยพิบัติและการป้องกันการบุกรุกป่า ขยายป่าชุมชน และส่งเสริมการปลูกไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อลดแรงกดด้นจากการตัดไม้จากป่าธรรมชาติฯ อย่างชัดเจน นายประพันธ์ กล่าวว่า อำเภอแม่แจ่มมีเนื้อที่รวมราว 1.7 ล้านไร่ เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ป่าแบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และป่าสวนแห่งชาติ 1 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่โถ เนื้อที่ราว 2 แสนไร่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ราว 7.3 หมื่นไร่ อุทยานแห่งชาติออบหลวง 2.6 หมื่นไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม 1.3 ล้านไร่ ซึ่งในป่าสงวนฯ 1.3 ล้านไร่นี้ชาวบ้านใช้เป็นที่ทำกินราว 4.2 แสนไร่ ขณะที่ที่ดินมีโฉนดมีเอกสารสิทธิอื่นๆ นอกเหนือเขตป่ามีแค่ 2.6 หมื่นไร่เท่านั้น จึงบอกได้ว่าส่วนมากชาวบ้านทำกินในที่หลวง ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยมีพื้นที่ทำเกษตรแบบวรรณเกษตร หรือสวนผสมผสานเพียง 30 % และมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากถึง 50 % ของพื้นที่ทำกิน ทำให้หลายภาคส่วนกังวลว่าป่าจะหมด จึงต้องเร่งเข้ามาฟื้นฟูด้วยวิธีการจัดการแบบองค์รวม “ชาวม้ง ชาวปกาเกอะญอที่แม่แจ่มเนี่ย ถ้าให้ไปปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างเดียว เราอดตาย เอาใจคนเมือง ทำตามกฎหมายอุทยาน กฎหมายป่าสงวนแบบไม่ทำกินเลย เราก็อดตาย ก็พอดีมีคนมาลงทุนทำพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้ดี อย่างข้าวโพดนี้มีโรงงานรองรับ แถมปลูกหน้าฝน เก็บหน้าหนาว แบบนี้คือทางสะดวก แต่แล้วก็กลายเป็นเครื่องมือนายทุน พอรัฐมาเห็นก็จ้องปราบปรามว่าเราทำลายป่า ทำลายเขา แบบนี้ไงเราก็จะมีแต่เสียกับเสีย ดังนั้นเราไม่ควรเป็นเหยื่อของทุน และเป็นเหยื่อของกฎหมายรัฐ จึงต้องหันมาทำสวนแบบผสมผสาน คือ ปลูกไม้รักษาป่าด้วย ปลูกพืชระยะสั้นขายด้วย ปลูกพืชระยะยาวไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ขายด้วย โครงการที่จะจัดขึ้นนี้จึงเป็นโครงการที่ช่วยให้ข้อมูล ให้ทางออกและวางข้อตกลงที่รับรู้ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเราเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 แล้วค่อยๆมาออกแบบตอนปี 2552-2554 แล้วต่อยอดในปัจจุบัน ที่ต้องวางแผนเช่นนี้เพราะชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน แต่ใช้ที่หลวงแบบนี้ จึงจำเป็นต้องมีเงื่อนไขพิเศษ” นายประพันธ์ กล่าว เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาฯ กล่าวด้วยว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่มถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ทำกินมากขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา อัตราการขยายตัว ของพื้นที่ทำกินในชผืนป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2552 – 2554 และปี 2557 ผืนป่า สงวนแห่งชาติแม่แจ่ม ถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 86,304 ไร่ เป็น 105,465 ไร่ในปี 2554 และเป็น 144,880.25 ไร่ในปี 2556 อย่างไรก็ตามแม้การปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น แม้ด้านหนึ่งจะก่อให้เกิดหนี้สิน แต่ก็ยังคงพืชหลักที่ตอบโจทย์ของเกษตรกรกระบวนการผลิตไม่ ซับซ้อน ใช้เวลาสั้น มีการประกันราคา และเกษตรกรเองก็รู้สึกได้เงินเป็นกอบเป็นกำจึงกลายเป็นปัญหา คนรุกป่า ด้วยสภาพปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อนขึ้น วิกฤติปัญหาที่ไร้ทางออก ลำพังการแก้ไขปัญหาแบบต่างคนต่างทำไม่สามารถหยุดยั้งการขยายพื้นที่ทำกิน เกิดการถกถียง แลกเปลี่ยน สร้างการเรียนรู้ของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคม ที่จะริเริ่มจากพลังของชุมชน ขยายความร่วมมือในการจัดการและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ยกระดับโมเดลพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โมเดลพลัส ยกระดับให้เป็นโมเดล การสร้างการเปลี่ยนแปลงจากพลเมืองท้องถิ่น สานพลังพลเมืองขับเคลื่อนต่อรองทางนโยบายที่เหมาะสม “ยกตัวอย่างหนึ่งในหลายหมู่บ้านที่ทำแล้วได้ผล คือ บ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม ประชากรมีราว 200 ครัวเรือน จากเดิมปลูกข้าวโพดกันทั่ว มีหนี้สินสูงสุด5แสนบาท ตอนนี้มี59 ครัวเรือนทำเกษตรผสมผสาน คือ มีไม้ใหญ่ พืชระยะสั้นและพืชเก็บผลผลิตระยะยาว บางคนปลูกผักกะหล่ำ ถั่ว ข้าว ต้นไม้ใหญ่ไว้ในแปลงทำกิน แบบนี้ คือ คุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการวางแผนระยะยาวต่อไปได้สบายๆ” เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาฯ กล่าว ด้านนายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แม่แจ่มโมเดล เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนโยบายรัฐที่ใช้กฎหมายในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าล้มเหลว เนื่องจากปล่อยให้ทุน ให้เอกชน ให้บริษัทเข้าไปยึดพื้นที่ แต่ชุมชนได้ลุกขึ้นมาวางแผนและจัดการใหม่ ทำให้อิทธิพลของทุนค่อยๆห่างไป แล้วมีอิทธิพลของพื้นที่ขึ้นมาแทน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเพื่อเตรียมระดมความคิดสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่น นายไพสิฐ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลายหมวดที่เขียนกฎหมายไว้ว่าให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการพื้นที่ จัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เช่น หมวดสิทธิชุมชน หมวดสิ่งแวดล้อม หมวดการมีส่วนร่วม และหมวดการกระจายอำนาจ แต่การจะทำให้ชุมชนสามารถมีสิทธิในอำนาจนั้นจริงๆ ในทางปฏิบัติบางทีไม่ง่ายเลย เพราะการมองกฎหมายโดยการอ่านเนื้อหา กับการเอากฎหมายมาใช้จริงในสังคมไทยนั้นไม่เหมือนกัน จริงๆแล้วหัวใจของกฎหมาย คือ ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ไม่ใช่การประกาศใช้อำนาจในเนื้อหา “อย่างเช่นกฎหมายที่ใช้ในการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวนนะครับ การประกาศนั้นในเนื้อหากฎหมาย คือ บอกว่าเขตป่าตรงไหน อนุญาตหรือไม่อนุญาตยังไง และมักจะเขียนว่าถ้ามีคนอยู่ก่อนควรกันส่วนหรือกันพื้นที่ออกไป แสดงว่าชุมชนอยู่มาก่อนให้กันส่วนใช่ไหม แต่ถามว่าพอใช้จริงๆ รัฐจัดการยังไง ที่เห็นคือ รัฐเอาโฉนด เอาเอกสารสิทธิมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่กลับไม่มองเนื้อหาในกฎหมายที่เขียนไว้ หรือบางที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนตั้งแต่ปีใด หรือไม่รับฟัง แต่เอาหลักฐานมาเป็นตัวชี้วัด เมื่อชาวบ้านสร้างบ้าน หรือทำกินในที่อุทยานฯ ปั๊บ ก็แปลว่าต้องอยู่ในเงื่อนไขอุทยานฯทั้งหมด หรืออาจจะไม่มีสิทธิใดๆ ถ้าอุทยานฯ ไม่อนุญาต” นายไพสิฐ กล่าว อนึ่งกิจกรรม รวมพลังพลเมืองเชียงใหม่ สานพลังคนเมืองแจ่ม ปลูกไม้ สร้างป่า สร้างรายได้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2560 ณ บ้านแม่ขี้มูกน้อย ตำบลบ้านทับ และที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ร่วมปลูกไม้ สร้างป่า สร้างรายได้บ้านแม่ขี้มูกน้อย” อีกทั้งผู้แทนภาคส่วนต่างๆ จากภาครัฐ เอกชน ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย รวมทั้งมีเวทีเสวนาที่น่าสนใจหลายส่วน อาทิ เวทีแลกเปลี่ยนเพื่อยกระดับกระบวนการพัฒนาข้อบัญญัติท้องถิ่นภายใต้แนวทาง “แม่แจ่ม โมเดล พลัส”
ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ 21 มิถุนายน, 2017.
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.