10 กว่าปีนี้ไปเน้นสอนอาชีพเกษตรกร มากกว่าเน้นช่วยปรับโครงสร้างหนี้สิน จากนี้จะพัฒนาให้พึ่งพาตัวเอง หรือสร้างเกษตรผสมผสานเพื่อปลดหนี้อย่างยั่งยืนอย่างไร
ตัวเลขเกษตรกรทั่วไทยมีประมาณ 17–20 ล้านคน ทำให้ "กฟก." หรือ "กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" มีคนมาขึ้นทะเบียนกว่า 5 แสนคน ทว่าในแต่ละปีจัดการปัญหาแก้หนี้ได้เพียงหลักร้อยถึงหลักพันรายเท่านั้น เมื่อชาวนาเดือดร้อนไปร้องเรียน คสช.หลายครั้ง ในที่สุดคำสั่งฟ้าผ่าจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป้าหมายคือปลดบอร์ดที่ไร้ประสิทธิภาพและมุ่งเล่นการเมืองมากกว่าช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินชาวบ้าน...
ย้อนไปเมื่อปี 2540 เครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศไทยพยายามระดมรายชื่อยื่นเสนอกฎหมายใหม่ช่วยปลดหนี้สินเกษตรกรอย่างจริงจัง จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นจุดก่อกำเนิด "พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542" ภารกิจหลัก คือ ช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้ปลอดภาระหนี้สิน ไม่ถูกธนาคารยึดที่ทำมาหากิน
โดยเฉพาะหนี้ของธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ "ธ.ก.ส." "ธอส." ธ.กรุงไทย" และ "ธ.ออมสิน" หลักการเบื้องต้นให้ธนาคารเจ้าหนี้พักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ย จากนั้นกองทุนจะเข้าไปช่วยให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เพียงครึ่งเดียวภายใน 15 ปี แต่การดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า สมาชิกเดือดร้อนหลักแสนคน แต่ตัวเลขรอบ 10 ปีช่วยเหลือได้เพียง 2.8 หมื่นราย เม็ดเงิน 6 พันล้านบาทเท่านั้น
ปัญหาเกิดจากนโบยายบริหารและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับ "กลุ่ม 3 บิ๊กบอร์ด" 1.คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2.คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ 3.คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรมีเสียงตัดพ้อต่อว่ามาตลอดว่า สมาชิกของบอร์ดทั้ง 3 ทำงานภายใต้คำสั่งของ "พรรคการเมือง" ในแต่ละยุคสมัย มักเน้นเอื้อผลประโยชน์ของนักการเมืองและคะแนนเสียง ไม่ได้เป็นอิสระ ไมได้มุ่งปลดนี้ชาวนาชาวไร่ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง
การทำงานล่าช้าและใส่เกียร์ว่างในยุค คสช. จึงเป็นการท้าทายคำสัญญาของ "บิ๊กตู่" ที่เคยประกาศว่าจะช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรที่เดือดร้อนจากหนี้สินอย่างเร่งด่วนที่สุด !
หลักฐานคือมีผู้เดือดร้อนเริ่มมาประท้วงหลายกลุ่ม เช่น เครือข่ายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือเครือข่ายองค์กรสหพันธ์เกษตรดินไทยเขตอีสานตอนใต้ จำนวนกว่า 300 คนรวมพลมายื่นจดหมายถึงบิ๊กตู่ผ่านรองผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขอให้เร่งช่วยเกษตรกรหลายรายที่ศาลมีคำพิพากษาให้ยึดบ้านและที่ดินขายทอดตลาด หรือกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ตัวแทนเกษตรกรจากหลายจังหวัดกว่า 100 คนที่เดือดร้อนด้วยปัญหาหนี้สิน เช่น ชลบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี สระแก้ว ฯลฯ มายื่นหนังสือเพราะกำลังถูกเร่งรัดคดีจากเจ้าหนี้ หรือกำลังถูกขับไล่ออกจากที่ดินหรืออยู่ในคดีล้มละลาย บางคนโดนฟ้องให้ขายทอดตลาดเพราะขาดทุนไม่มีเงินจ่ายหนี้ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในปีที่ผ่านมา
ความเดือดร้อนข้างต้นทำให้คสช.เริ่มเห็นปัญหาของ "บิ๊ก 3 บอร์ด" จึงตัดสินใจใช้มาตรา 44 สั่งปลด "เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" และกรรมการทั้ง 3 บอร์ด พร้อมด้วยคำสั่งตั้งกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่แบบเฉพาะกิจ ตั้งเป้าหมายเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรกร 2 พันรายที่กำลังถูกยึดที่ดินทำกิน มูลค่าหนี้สินกว่า 400 ล้านโดยสรุปรายละเอียดคำสั่งได้ดังนี้
"คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 26/2560" เรื่องการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้บุคคลซึ่งดํารงตําแหน่งกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ พ้นจากตําแหน่ง และให้มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจขึ้นคณะหนึ่งหรือ "บอร์ดเฉพาะกิจ" ประกอบด้วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ส่วนรองประธานเป็นผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย และปลัดจากกระทรวงต่างๆ สำนักงบประมาณผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ธ.ก.ส. ฯลฯ
ภารกิจเร่งด่วน คือ "ให้พิจารณาศึกษาปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การแก้ไขปัญหาหนี้สินและความเดือดร้อนของเกษตรกรและปัญหาการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องรวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว..."
ทั้งนี้ก่อนผู้บริหารชุดเก่าของกองทุนจะถูกคำสั่งฟ้าผ่าปลดกะทันหันนั้น ได้มีการตั้งงบประมาณจัดทำแผนปฏิบัติงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประจำปี 2560 จำนวนเงิน 84 ล้านบาท จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร พัฒนาอาชีพ โดยจะให้ผ่านองค์กรเกษตรกร 77 สาขาของแต่ละจังหวัด มีการจัดส่งงบประมาณไปจำนวน 37 ล้านบาท แบ่งเป็น 1."เงินอุดหนุนให้เปล่า" โครงการละไม่เกิน 3 หมื่นบาท รวมแล้วประมาณ 4.8 แสนบาท 2."เงินกู้ยืม" เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร คิดค่าบริการเพียงร้อยละ 1 มีงบประมาณรวมทั่วประเทศ 38.5 ล้าน หมายความว่า 77 จังหวัดจะได้จังหวัดละ 5 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีงบสำรองอีกประมาณ 8 ล้านกว่าบาทสำหรับโครงการสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษ
แต่การให้เงินตามโครงการต่างๆ ข้างต้นนั้น ต้องถูกประเมินโดยอนุกรรมการกองทุนแต่ละสาขาจังหวัด ว่าผู้มาขอรับทุนมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะความพร้อมที่จะทำนำเงินไปทำกิจกรรมตามที่ขอไว้
เมื่อมี "บอร์ดเฉพาะกิจ" ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ทำให้เกษตรกรที่ยื่นโครงการไปแล้วเริ่มเกิดความกังวลว่า โครงการที่ขอไปต้องเริ่มนับจากศูนย์ใหม่หรือไม่ แล้วอนุกรรมการแต่ละจังหวัดจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ?
"พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธาน "บอร์ดเฉพาะกิจ" ผู้ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ปลดทุกข์เกษตรกรแทน "บิ๊ก 3 บอร์ด" เข้าใจความกังวลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี จึงได้จัดประชุมทันทีหลังคำสั่งมีผลบังคับใช้ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังการประชุมว่า เป้าหมายตอนนี้คือแก้ปัญหาให้เกษตรกรกว่า 1 หมื่นรายที่ติดหนี้สินกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูมูลค่าหนี้ประมาณ3พันล้านบาท และจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการกองทุนฟื้นฟู พร้อมให้เริ่มทำงานได้ทันที จากนั้นอาจต้องมีการพิจารณาแก้กฎหมาย กองทุนฟื้นฟูที่มีมาตั้งแต่ปี 2542
หนึ่งในอนุกรรมการกองทุนประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ต้อง ใช้ "ม.44" จัดระเบียบหนี้เกษตรกร โดยเป็นมุมมองจากคนทำงานที่สัมผัสปัญหาอย่างแท้จริงว่า ตอนนี้อนุกรรมการระดับจังหวังยังคงทำงานเหมือนเดิมไม่ได้ถูกยุบตามไปด้วย ลักษณะการทำงานที่ผ่านมากองทุนจะเรียกประชุมประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ได้ค่าเบี้ยประชุม 1 พันบาทบวกกับค่าเดินทาง มีตัวแทนอนุกรรมการ 3 ฝ่ายเข้าประชุม ได้แก่ เกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชนและข้าราชการ
แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาตลอด 10 กว่าปี และเกิดขึ้นเกือบทุกอำเภอ คือ ส่วนใหญ่วาระการประชุมกำหนดและสรุปโดยฝ่ายข้าราชการ เกษตรหลายคนไม่ค่อยรู้เรื่อง ทำให้โครงการที่ได้รับเน้นจัดกิจกรรมอบรมสอนอาชีพเกษตรกรมากกว่าเน้นการเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้สิน ปัญหาอีกอย่างคือชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่รู้ขั้นตอนการสมัครเข้าสู่โครงการปลดหนี้ทำให้ไม่ได้รับการคัดเลือก
"หนี้ส่วนใหญ่ไม่เยอะหลักแสนบาทเท่านั้น กองทุนจะช่วยปลดหนี้ให้ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมาผ่อนที่เหลือกับกองทุน สินทรัพย์ค้ำประกันจากธนาคารก็ย้ายมาอยู่กับกองทุนแทน แต่ลูกหนี้ต้องทำแผนมาโชว์ว่าจะปลดหนี้อย่างไร ตรงนี้คือปัญหาเพราะต้องผ่านการพิจารณาหลายรอบ แต่กองทุนไม่ค่อยให้ความรู้เรื่องนี้แก่ชาวบ้าน การที่คสช.ใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องที่ดีจะได้เกิดการเปลี่ยนแปลง 10 กว่าปีนี้ไปเน้นสอน "กิจกรรมของเกษตรกร" เช่น สอนวิธีเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ทำปุ๋ย ฯลฯ แต่ไม่ได้เน้นพัฒนา "ตัวเกษตรกร" ให้รับรู้ว่ากระบวนการเลี้ยงหมูสุดท้ายเหมาะสมกับสภาพที่เป็นอยู่หรือไม่ ทำให้เกิดหนี้สินและพึ่งพานายทุนมากแค่ไหน จะพัฒนาให้หันมาพึ่งพาตัวเองอย่างไร หรือสร้างแนวคิดให้หันมาทำเกษตรผสมผสานเพื่อปลดหนี้อย่างยั่งยืนอย่างไร คสช.คงรู้ว่ากรรมการชุดเก่าทำงานแบบไหน เลยต้องใช้มาตรา 44 มาจัดการ ตอนนี้ทุกคนอยากเห็นนโยบายใหม่ในการทำงานของกองทุน" ตัวแทนอนุกรรมการกล่าว
เบื้องต้นเป็นเสียงสะท้อนแสดงความเห็นด้วยและเห็นใจว่า "ทำไม คสช. ต้องใช้มาตรา 44" วินาทีนี้พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศตั้งความหวังว่า "บิ๊กตู่" จะใช้มาตรา 44 ไม่ใช่แค่ปลดกลุ่มบริหารเดิมทิ้ง แต่ต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีการทำงานของบอร์ดใหม่ รวมถึงจัดระเบียบจริงจังถึงระดับรากหญ้า เพื่อปลดหนี้ได้อย่างยั่งยืนแท้จริง
ที่มา คม ชัด ลึก 2 มิ.ย. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.