ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา ที่น้ำในเขื่อนแห้งขอดเข้าขั้นรุนแรงในรอบ 20 ปีก็ว่าได้
ในเดือน ก.ค.2557 มีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้ในปี 2558 จำนวน 32,710 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 46% ของความจุอ่างฯ ปริมาตรน้ำใช้การได้ 9,207 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20%
ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2558 มีน้ำสำหรับใช้ในปี 2559 จำนวน 32,081 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 46% โดยเป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 8,578 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18%
เห็นได้ชัดว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ต้องบริหารจัดการกันอย่างทุลักทุเล รัฐบาลต้องงัดมาตรการทุกรูปแบบให้ชาวนายุติการทำนาปรัง โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำภาคกลางที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมผืนใหญ่สุดของประเทศ และหันไปส่งเสริมการเพาะปลูกพืชทางเลือกต่างๆ ที่ใช้ปริมาณน้ำน้อยที่สุด
ลำพังแค่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำก็แย่อยู่แล้ว เมื่อไม่มีน้ำให้ทำนาอีกก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก!
สำหรับปี 2560 นี้ แม้สถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายลงไปจากอดีต แต่ก็ใช่ว่าจะหายใจหายคอได้โล่งเพราะปริมาตรน้ำในเขื่อนบางเขื่อนที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ไม่ได้มากมายนัก โดยล่าสุด ณ วันที่ 25 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา มีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 41,772 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59% มีน้ำใช้การได้ 18,245 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39%
แม้ค่าเฉลี่ยน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศจะอยู่ที่ 59% แต่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของลุ่มเจ้าพระยา กลับมีน้ำในเขื่อนรวมกัน 11,513 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุ และมีน้ำใช้การได้ 4,863 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 30% เท่านั้น และเมื่อแยกเฉพาะในส่วนของเขื่อนภูมิพลนั้นมีน้ำอยู่ 6,127 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 2,327 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 24% เท่านั้น
ขณะที่สถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกรในลุ่มน้ำภาคกลางทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน รวมกันไปแล้วกว่า 11.06 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่กระทรวงเกษตรฯวางไว้ที่ 6.93 ล้านไร่ หรือมากกว่าแผนไปราว 4.13 ล้านไร่ หรือประมาณ 60% จึงไม่อาจวางใจต่อความเสี่ยงจากภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น
"ทีมเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เพื่อไขข้อกังขาต่อสถานการณ์ "น้ำและภัยแล้ง" ของประเทศว่าภาครัฐยังคง "เอาอยู่" หรือไม่ ดังนี้ :
สัญชัย เกตุวรชัย
น้ำต้นทุนต่ำ–เสี่ยงแล้ง 34 จังหวัด
หากพิจารณาต้นทุนน้ำใน 4 เขื่อนหลักของประเทศ อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามรายงานของกรมชลประทานล่าสุดจะเห็นได้ว่า มีปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนรวมในปีนี้อยู่ที่ 12,493 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุอ่างฯ มากกว่าปี 2559 ซึ่งมีปริมาณน้ำ 9,260 ล้าน ลบ.ม.
โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,797 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ซึ่งยังน้อยกว่าแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งที่กำหนดไว้ว่าจะมีปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อน 5,950 ล้าน ลบ.ม.
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า แม้ปีนี้สภาพอากาศโดยรวมของประเทศไทยจะร้อนระอุกว่าปีที่ผ่านมา โดยกรมอุตินิยมวิทยาประกาศว่าในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2560 ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงกว่าทุกปี โดยเฉพาะเดือน เม.ย.นี้ จะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดและมีอุณหภูมิสูงสุด 42-43 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอีกสาเหตุของการเกิด “ภัยแล้ง”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 26-28 มี.ค.นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่า ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนซึ่งจะส่งผลดีอาจทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มเติมอีกจากแผนที่วางไว้ว่า ในช่วงวันที่ 1 พ.ค.2560 ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนจะมีน้ำใน 4 เขื่อนหลัก 3,750 ล้าน ลบ.ม. อาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าแผนที่วางไว้ 700 ล้าน ลบ.ม.
แม้สถานการณ์น้ำและภัยแล้งในปีนี้ดูจะคลี่คลายลงไปจากอดีต แต่กระนั้น อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ยังคงมี “พื้นที่เสี่ยง” ที่กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินในช่วง 3 เดือนระหว่าง ก.พ.-เม.ย. พบว่าพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทานมีทั้งหมด 34 จังหวัด 105 อำเภอ แบ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง 86 อำเภอ พื้นที่ใกล้วิกฤติ 12 อำเภอ และอยู่ในพื้นที่วิกฤติมี 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก อ.กงไกรลาศ และ อ.เมือง จ.สุโขทัย อ.ชุมแสง อ.บรรพตพิสัย และ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ และ อ.โพนทะเล จ.พิจิตร ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 4 เท่า
ลุ่มเจ้าพระยายังโหมทำนาปรัง
นอกจากนั้น ยังมี “ความเสี่ยง” ที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำอาจต้อง “สะดุด” จากการที่เกษตรกรชาวนาโหมปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตลุ่มเจ้าพระยา ที่มีการเพาะปลูกนาปรังเกินแผนมากที่สุด โดยปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ จากแผนเดิมที่กำหนดไว้ 2.67 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าแผนที่วางไว้ถึง 2.68 ล้านไร่ โดยมีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 1.27 ล้านไร่ คงเหลือพื้นที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 4.08 ล้านไร่
ทั้งนี้พื้นที่การเกษตรที่ต้อง “เฝ้าระวัง” คือในเขตลุ่มเจ้าพระยาที่ยังเก็บเกี่ยวไม่หมด และพื้นที่ที่ปลูกข้าวที่มีอายุ 1-10 สัปดาห์ ประมาณ 2.20 ล้านไร่ ที่อาจเสี่ยง นาข้าวเกิดความเสียหาย เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันในเขตชลประทานสามารถสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้ได้จนถึงช่วงฝนตกชุกเท่านั้น โดยขณะนี้ลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้ว 5,327 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90% ของแผนจัดสรรน้ำ ที่กำหนดไว้ 5,950 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่กักเก็บไว้ใช้เริ่มจะเกิดปัญหา
“ปัจจุบันมีการปลูกข้าวนาปรังมากกว่าเดิม 1 เท่า ทำให้มีการใช้น้ำมากกว่าเดิม แต่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวเกินแผนมาส่วนหนึ่งมีบ่อบาดาลของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีชาวนาส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผน การรับน้ำ ลักลอบสูบน้ำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรของตัวเอง ซึ่งตรงนี้ส่งผลกระทบต่อแผนจัดการน้ำในภาพรวมด้วย”
ทั้งนี้หากชาวนายังระดมปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องจนปริมาณน้ำที่ใช้สนับสนุนในเขตชลประทานมากขึ้น จะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุน และคาดว่าในอนาคตจะเกิดการ “แย่งชิงน้ำ” ในพื้นที่อย่างแน่นอน!
เกษตรวางกรอบรับมือภัยแล้ง
แม้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะยังไม่ได้ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติจากเขตภัยแล้งอย่างเป็นทางการ แต่พื้นที่ภาคการเกษตรในหลายจังหวัดนอกเขตชลประทาน เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นมาบ้างแล้ว
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงเสนอแผนเตรียมการช่วยเหลือภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2559/60 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2560 โดยวางแนวทางการดำเนินงาน 5 แผนงาน ได้แก่ 1.การจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2559/60 2.การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2559/60 3.แผนการจัดสรรน้ำของรัฐบาล 4.แผนปฏิบัติการฝนหลวง และ 5.การลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการ 29 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 17,324 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง โครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในเกษตรกรรายย่อย ดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้ว 8,870 ราย ใน 12 จังหวัด 2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร อาทิ โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2560
3.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โครงการก่อสร้าง ขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน งบประมาณ 125.92 ล้านบาท เป้าหมาย 113 แห่ง 33 จังหวัด ดำเนินการแล้วเสร็จ 57 แห่ง 20 จังหวัด คิดเป็น 59.29% โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน งบประมาณ 752.40 ล้านบาท เป้าหมาย 44,000 บ่อ ใน 60 จังหวัด
4.มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย โครงการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกร กิจกรรมหน่วยบริการชาวนาแบบเคลื่อนที่ งบประมาณ 8.30 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ฯแล้ว 51 ศูนย์ อบรมเกษตรกรไปแล้ว 2,408 ราย การจ้างแรงงานเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน งบประมาณ 2,400 ล้านบาท เป้าหมายจ้างงาน 8 ล้านคนต่อวัน 5.มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 6.มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง
เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 8.7 ล้านไร่
สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนนั้น อธิบดีกรมชลประทานระบุว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมพัฒนาที่ดิน จะต้องเดินตามแผน “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2558-2569 ตามยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี
โดยสิ่งที่ต้องทำ คือการเพิ่มพื้นที่ชลประทานและแหล่งกักเก็บน้ำในเขตพื้นที่นอกชลประทานให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่เกิดภัยแล้งนอกพื้นที่ชลประทาน คือ การขาดแคลนน้ำ “อุปโภคและบริโภค” “สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างเขื่อน แก้มลิง ประตูระบายน้ำ ฯลฯ เพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน แผนระยะยาวทางรัฐบาลมีอยู่แล้ว แต่การจะเดินตามแผนต้องใช้เวลา เพราะอาจประสบปัญหาทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม อาทิ การสร้างเขื่อนจะเกิดผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย มีทั้งคนที่ได้รับและเสียผลประโยชน์ ต้องมีการทำรายงานสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”
สำหรับในปี 2560 นี้ กรมชลฯตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 350,000 ไร่ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม 400-500 ล้าน ลบ.ม. โดยมีเป้าหมายอีก 5 ปีจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 8.7 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 4,800 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่ที่กรมฯต้อง “ทำให้ได้” เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กรมสามารถเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำได้เพียง 1,000 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 1.5 ล้านไร่ คิดเป็น 20% ของแผนทั้งหมด 12 ปีที่กำหนดไว้
“ต่อไปกรมชลประทานคงต้องรับ “ภาระหนัก” ในการเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากยังมีพื้นที่เหลืออีก 7.7 ล้านไร่ ที่ต้องพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อแก้ปัญหาชลประทานที่ไม่เพียงพอกับการเพาะปลูก เดินหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องการบริการจัดการ “น้ำ” ในระยะยาว จะมัวทำงานแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านมาไม่ได้”
แต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ประเทศไทยประมาณ 700,000 ล้าน ลบ.ม. ระเหยไปประมาณ 400,000 ล้าน ลบ.ม. และซึมลงดิน 100,000 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำผิวดินที่นำไปใช้ได้จริง 200,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนทั่วประเทศหากกักเก็บน้ำได้เต็มเขื่อนจะอยู่ที่ 79,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเก็บน้ำได้เพียง 10% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศ
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดน้ำ แต่ที่เราขาดคือ ระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและน้ำเป็นหัวใจหลักของการเกษตร แต่กลับไม่มีการขับเคลื่อนที่จริงจังและยั่งยืน ทำกันแค่ “ขายผ้าเอาหน้ารอด”
ทุกวันนี้เรายังคงบริหารจัดการน้ำตามยถากรรม และปล่อยให้ประเทศและเกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำทุกปี สร้างความเสียหายให้ผลผลิตและงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายที่มาจากปัญหาภัยแล้งและพืชผลทางเกษตรเสียหายปีละนับหมื่นล้าน โดยไม่สามารถ “จับต้อง” และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะ “สังคายนา” ระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างจริงจังในยุคที่รัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ในมือแบบเบ็ดเสร็จเช่นนี้!!!
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 27 มี.ค. 2560