การเลี้ยงสัตว์หลายชนิด เช่น การเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด หมู ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเกษตรพันธสัญญาไปเสียเกือบหมด เนื่องจากมีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายที่เข้ามาเป็นคู่พันธสัญญา บริษัทเหล่านี้อำนวยความสะดวกทุกอย่างในการเกิดขึ้นของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงขนาดสามารถประสานกับธนาคารพาณิชย์เพื่อดำเนินการให้เงินกู้แก่กิจการปศุสัตว์เหล่านี้ได้ เพราะถือว่ามีตลาดรองรับที่แน่นอน แต่นั่นก็มีปัญหาอื่นแอบแฝงอยู่ เนื่องจากเกษตรกรเองไม่มีความรู้และไม่ได้เอาใจใส่อย่างจริงจัง ในรอบแรกที่เลี้ยงมักจะประสบผลสำเร็จ เพราะเป็นพื้นที่ใหม่ หลังจากนั้น การจัดการเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเกษตรกรทั่วไปละเลยจึงประสบผลขาดทุน
กิจการวัวเป็นกิจการปศุสัตว์ที่เหมาะสำหรับทำในครอบครัว และหลีกหนีพ้นวงการเกษตรพันธสัญญา แต่มีข้อดีเหมือนกับเกษตรพันธสัญญาตรงที่ว่ามีผู้รับซื้อแน่นอนเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ผู้รับซื้อเป็นสหกรณ์การเกษตรซึ่งเอื้อต่อสมาชิก และหวังผลประโยชน์ให้สมาชิกมากกว่าเอาเข้าสหกรณ์ ส่วนบริษัทเอกชนก็มักจะดำเนินแนวทางคล้ายสหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์เป็นคู่แข่งที่สำคัญและเป็นผู้นำตลาดมากกว่าเอกชน
แต่กิจการเลี้ยงวัวนมของไทยเกิดขึ้นบนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์เกินไปที่จะมีค่าแค่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ที่เขียนอย่างนี้เพราะข้อมูลที่จำแนกพื้นที่สำหรับทำเกษตรของกรมพัฒนาที่ดินหรือกรมวิชาการเกษตรจะจำแนกพื้นที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับปลูกพืช ส่วนพื้นที่รองลงมาจะถูกจำแนกว่าเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์ ฟาร์มโคนมในประเทศไทยจึงตั้งอยู่บนที่ดินเพียง 1-2 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการปลูกหญ้าให้วัวกิน จึงต้องอาศัยการซื้ออาหารหยาบมาเลี้ยงแทน ไม่เหมือนกับฟาร์มปศุสัตว์ของต่างประเทศที่มีพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าไว้ให้วัวขนาดใหญ่
ตามหลักของการใช้พื้นที่วัวนมจะกำหนดไว้สำหรับการปลูกหญ้าเพื่อวัวนม 1 ตัว จะต้องมีแปลงหญ้า ขนาด 1 ไร่สำหรับการตัดให้กิน และพื้นที่ 5 ไร่ ต่อวัวนม 1 ตัว สำหรับให้ย่ำกินเองในแปลง ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากสำหรับฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งในหลักการนี้ ส.ป.ก. ก็ได้กำหนดจำนวนครอบครองพื้นที่แต่ละครอบครัวไม่เกิน 50 ไร่ ยกเว้นการเลี้ยงวัวจะขยายให้ถึง 100 ไร่
การเลี้ยงวัวนมของไทยจึงต้องพึ่งปัจจัยการผลิตภายนอกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาหารหยาบ ได้แก่ หญ้า ซึ่งเป็นอาหารหลัก แต่ในข้อเท็จจริงวัวนมในประเทศไทยกินฟางมากกว่าหญ้า จึงได้น้ำนมที่มีปริมาณน้อยและคุณภาพด้อยกว่า ข้าวโพดหมัก หญ้าหมัก จึงเป็นสิ่งที่มาทดแทนหญ้าในปัจจุบัน
จากพนักงานบริษัทมาเป็นเกษตรกร
คุณสายัน เกตุคง มองเห็นความสำคัญในจุดนี้ จึงได้มาตั้งกลุ่มผลิตข้าวโพดหมักเพื่อรองรับความต้องการของฟาร์มวัวนม
จากพนักงานบริษัทที่รับผิดชอบฝ่ายสโตร์ในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ ที่ใช้เวลาถึง 14 ปี จนถึงจุดอิ่มตัว เมื่อปี พ.ศ. 2551 ประกอบกับต้องมารับหน้าที่ทดแทนคุณบุพการีจึงกลับมาบ้านเกิดที่ลพบุรี เพื่อทำไร่ข้าวโพดและไร่มันสำปะหลังเป็นอาชีพ ซึ่งเคยทำมาตั้งแต่เด็ก
จากที่เคยแค่ช่วยงานในวัยเด็ก คุณสายัน ต้องมารับผิดชอบงานไร่เต็มตัว ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เนื่องจากเคยทำมาก่อน แต่มามองเห็นว่าการปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชไร่นี้ เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ มิหนำซ้ำยังมีการเอาเปรียบได้ง่าย ในคราวที่เอาข้าวโพดไปขายครั้งแรกมีการหักความชื้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าผู้รับซื้อจะจ่ายไม่ตรงกับราคาประกาศ เพราะต้องหักความชื้น หลังจากนั้นอีกวันเอาข้าวโพดในแปลงเดียวกันไปขาย ปรากฏว่าน่าแปลกใจ ความชื้นกลับเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ข้าวโพดแก่ขึ้นอีก 1 วัน ซึ่งอย่างน้อยก็ควรจะเท่ากัน คุณสายันมองเห็นจุดบกพร่องตรงนี้ที่เกษตรกรถูกเอาเปรียบ จึงคิดที่จะออกไปให้พ้นจากวงจรนี้
ในพื้นที่เขตอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มีเกษตรกรเลี้ยงวัวนมแต่มีพื้นที่จำกัด จึงต้องอาศัยอาหารหยาบจากภายนอก คุณสายันมองเห็นจากการไปพูดคุยกับเกษตรกรเลี้ยงวัวนมว่า ในช่วงแล้งวัวไม่มีหญ้ากิน จำเป็นต้องกินฟางซึ่งทำให้ปริมาณน้ำนมและคุณภาพลดลงกว่าปกติ แต่ถ้ามีการเสริมข้าวโพดหมัก จะทำให้น้ำนมมีปริมาณมากขึ้น จึงมีความคิดที่จะทำข้าวโพดหมักขาย
เริ่มจากการรวบรวมพรรคพวกที่ต้องการทำข้าวโพดหมักรวมกันเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวโพดบดหมักบ้านศรีสวัสดิ์ ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โทรศัพท์ (089) 802-2545 แล้วไปคุยกับธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จึงนำไปสู่การติดต่อกับสหกรณ์โคนมเพื่อที่จะทำธุรกิจ มีการตกลงเซ็น เอ็มโอยู กันในปริมาณข้าวโพดที่สหกรณ์ต้องการ เดือนละ 200 ตัน ธ.ก.ส. ได้ให้เงินกู้มาจำนวนล้านกว่าบาท เพื่อเป็นทุนสำหรับเกษตรกรสมาชิกในกลุ่ม เพื่อลงทุนในระบบน้ำเสียส่วนใหญ่ เพราะเหตุพื้นที่นี้จำเป็นต้องใช้น้ำบาดาล เนื่องจากต้องปลูกข้าวโพดให้ได้ตลอดทั้งปี
ต้องวางแผนการผลิต
คุณสายัน ได้วางแผนการผลิตเพื่อให้ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาทุกวัน โดยจะมีคนงานตัดและบดอีกต่างหาก พอถึงเวลาก็จัดส่งข้าวโพดบดสดใส่รถบรรทุกเพื่อนำไปส่งสหกรณ์เพื่อหมักอีกที ปรากฏว่ามีปัญหา เพราะสหกรณ์ต้องการให้ส่งข้าวโพดบด 200 ตัน ภายใน 7 วัน ไม่ใช่ส่งตลอดทั้งเดือนอย่างที่วางแผนไว้ ซึ่งทางกลุ่มและ ธ.ก.ส. ไม่ทราบรายละเอียดนี้มาก่อน เพราะไม่ได้ระบุไว้ใน เอ็มโอยู ทำให้มีปัญหากระทบการผลิตและการจัดส่ง จำต้องเลิกราไปโดยปริยาย
ในเมื่อการวางแผนผลิตกับการจัดส่งไม่ตรงกัน ทำให้คุณสายันต้องหาตลาดใหม่ โดยวิ่งชนกับฟาร์มโคนมโดยตรง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี แต่ระยะเวลาการเก็บเงินจากสหกรณ์จะเร็วกว่าฟาร์มวัวนม เพราะฟาร์มวัวนมจะจ่ายค่าข้าวโพดบดให้ตอนเงินวัวนมซึ่งจะออกให้เดือนละ 1 ครั้ง เหมือนเงินเดือน ทำให้ต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกในกลุ่มเรื่องการจ่ายเงิน แต่ก็สามารถผ่านไปได้จนถึงรอบระยะเวลาจ่ายครั้งแรก
หลังจากนั้น ก็พอมีเงินหมุนได้ ที่มีปัญหาเรื่องการเงินหมุนเวียนเนื่องจากเงินที่กู้ ธ.ก.ส. ทั้งหมดเกษตรกรเอาไปทำระบบน้ำและทางกลุ่มซื้ออุปกรณ์เกือบหมด จึงเหลือเงินหมุนเวียนน้อย และสาเหตุจากระยะเวลาจ่ายเงินค่าข้าวโพดของฟาร์มโคนมยาวนานกว่าสหกรณ์ บวกกับทางกลุ่มฯ ไม่ได้วางแผนสำหรับเครดิตที่ยาวกว่า
การผลิตข้าวโพดบดหมักให้วัวนมเหมือนกันกับการผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ทั่วไป แต่ทางกลุ่มเน้นให้มีการไถดินให้ละเอียดทุกครั้งที่ปลูก เพราะจะให้ผลผลิตค่อนข้างดี และจะใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ เช่น มูลวัว หรือมูลไก่ เป็นหลัก ส่วนปุ๋ยเคมีที่ใช้จะเป็นปุ๋ยยูเรีย เพื่อเร่งต้นจำนวนไม่มาก ผลผลิตข้าวโพดบด 1 ไร่ จะได้น้ำหนักตั้งแต่ 5-9 ตัน ทางกลุ่มรับซื้อข้าวโพด ในราคา ตันละ 1,200-1,300 บาท แล้วแต่คุณภาพ
ข้าวโพดที่บดจะเป็นต้นข้าวโพดที่มีอายุ ประมาณ 80-85 วัน ซึ่งฝักข้าวโพดจะเติบโตในระยะเริ่มมีน้ำนม ถ้าแก่เกิน 90 วัน เมล็ดข้าวโพดจะแข็ง การบดจึงทำให้เมล็ดข้าวโพดยุ่ยไปรวมกับต้นที่ป่นแล้วเหมือนกับเป็นการเคลือบไปในตัว ต้นข้าวโพดที่บดแล้วจะนำมาใส่ถุงอาหารสัตว์ปิดปากถุงให้สนิท ให้เหลือช่องว่างที่มีอากาศน้อยที่สุด โดยไม่ต้องใส่อะไรเลย ใช้เวลาประมาณ 14 วัน ข้าวโพดจะมีกลิ่นหอมน่ากิน ซึ่งวัวนมชอบเป็นพิเศษ ข้าวโพดบดจะถูกบรรจุในอัตรา 25 กิโลกรัม ต่อถุง ราคาจำหน่ายปลีกมารับเอง ถุงละ 58 บาท
ในเรื่องนี้ ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการปลูก แต่ต้องการให้เห็นถึงแนวความคิดที่ไม่ติดอยู่กับที่ มีการวางแผนและการแก้ไขปัญหาเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้ในกรณีนี้ ที่คุณสายันฉีกแนวไปทำข้าวโพดหมักและได้วางแผนเป็นกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนกับแหล่งเงินทุนเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่วายที่จะมีปัญหาเรื่องการจัดส่งอีก แต่ด้วยความสามารถของคุณสายันและสมาชิกในกลุ่มได้พลิกวิกฤตินั้นได้จนประสบผลสำเร็จ
ผู้เขียน : องอาจ ตัณฑวณิช
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 20 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.