จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่าเกษตรกรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปีจนขณะนี้ใกล้ 60 ปี จึงเป็นสิ่งน่ากังวลใจสำหรับประเทศไทย ที่จะไม่มีการสืบทอดความเป็นประเทศเกษตรกรรมเนื่องจากคนไทยรุ่นใหม่ไม่ทำการเกษตร โจทย์สำคัญนี้ใครจะเป็นผู้แก้ไขนอกจากเกษตรกรต้องแก้กันเอง สภาเกษตรกรแห่งชาติอันเป็นตัวแทนของเกษตรกรได้จัดทำโครงการ "เสริมสร้างยุวเกษตรกรและทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่"
เพื่อแก้ไขโจทย์นี้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ได้ดำเนินการคัดเลือกสัมมาชีพต้นแบบ เพื่อยกย่องเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพให้เป็นแบบอย่าง จังหวัดละ 2 สัมมาชีพ ปี พ.ศ.2558 จัดประกวดเกษตรกรต้นแบบสาขาเกษตรอินทรีย์และสาขาเกษตรปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี พ.ศ.2559 ดำเนินการขยายผลเกษตรกรต้นแบบสู่สถานศึกษาโดยนำเกษตรกรต้นแบบ หรือปราชญ์เกษตร ถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนในโรงเรียนทั้งวิชาการและลงมือปฏิบัติ จำนวน 8 สถานศึกษา 8 จังหวัด จากการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปรากฏให้เห็นผลในเชิงประจักษ์ นักเรียนที่เป็นบุตรหลานของเกษตรกรให้ความสนใจเรียนรู้ การปฏิบัติจริง นักเรียนมีรายได้ มีเงินออมระหว่างเรียนจากการทำเกษตร นักเรียนรวมกลุ่มกันทำเกษตร นักเรียนนำการบ้านการเกษตรไปทำร่วมกับผู้ปกครอง/ชุมชน นักเรียนที่เรียนจบการศึกษาหลายรายไปศึกษาต่อสถาบันด้านการเกษตร และบางรายประกอบการเกษตรเป็นอาชีพ ทั้งปวงคือการมุ่งสร้างทายาทเกษตรกร
ดังนั้น ในปี 2560 ได้ดำเนินการโครงการ "เสริมสร้างยุวเกษตรกรและทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่" ต่อจากปี 2559 ครบ 77 จังหวัด ได้ตั้งเป้าหมาย นักเรียนในสถานศึกษา จังหวัดละ 1 สถานศึกษา รวม 77 สถานศึกษาๆ ละ 100 คนรวม 7,700 คน , เกษตรกรรุ่นใหม่อำเภอละ 1 คน รวม 888 คน,ศูนย์เรียนรู้เกษตรเกษตรสัมมาชีพ จังหวัดละ 1 ศูนย์ รวม 77 ศูนย์ สำหรับการดำเนินโครงการ แบ่งเป็น 3 กิจกรรม ดังนี้
1.กิจกรรมสร้างจิตสำนึกด้านการเกษตรในสถานศึกษา โดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดประสานความพร้อมของเกษตรกรต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรต่อนักเรียนในสถานศึกษา ประสานงานสถานศึกษาในการเข้าร่วมโครงการ โดยควรเป็นสถานศึกษาในพื้นที่การจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบล หรือใกล้เคียง จังหวัดละ 1 สถานศึกษาพร้อมทั้งจัดทำ "แผนการจัดการเรียนรู้การเกษตรในสถานศึกษา"ที่ประกอบด้วยภาควิชาการและการลงมือปฏิบัติ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ นิเทศแผนกับผู้เกี่ยวข้อง ประสานเกษตรกรต้นแบบ สถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการจัดการเรียนรู้ เกษตรกรต้นแบบ สถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการเรียนรู้ทั้งภาควิชาการและปฏิบัติการกับนักเรียนในสถานศึกษาตามแผนการจัดการเรียนรู้ เกษตรกรต้นแบบ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนร่วมกันขยายผลการผลิต แปรรูป และทำการตลาดในผลผลิตการเกษตรในชุมชน และร่วมกันสรุปการเรียนรู้เพื่อนำสู่การพัฒนาจัดการเรียนรู้การเกษตรต่อไป
2.กิจกรรมสร้างเกษตรกรต้นแบบรุ่นใหม่ด้านการจัดการฟาร์ม โดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด สรรหาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเข้าสู่อาชีพการเกษตร พร้อมที่จะเรียนรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อย่างน้อยอำเภอละ1 คน โดยควรเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่การจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลก่อนเป็นลำดับแรก ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นผู้ที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาก่อน ซึ่งทางสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ/สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด จัดให้มีการอบรมหรือประสานงานให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าอบรมกับสถาบัน/หน่วยงาน/องค์กรที่จัดอบรมเพื่อพัฒนาความคิดและความรู้ทางวิชาการเกษตร การจัดการฟาร์ม ตามความต้องการของเกษตรกร เพื่อสร้างความพร้อมในการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ และดำเนินการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ และประสานงานกับเกษตรกรต้นแบบที่มีการประเมินคัดเลือกในปี 2558 เพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการดำเนินงานกลุ่มของเกษตรกรรุ่นใหม่ และจัดให้มีการประเมินคัดเลือกกันเองเพื่อเป็นเกษตรกรต้นแบบรุ่นใหม่ จังหวัดละ 1 คน
3.กิจกรรมจัดให้มีศูนย์เรียนรู้เกษตรสัมมาชีพ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้ที่จัดตั้งไว้ตามโครงการสัมมาชีพต้นแบบปี 2557 หรือสนับสนุนเกษตรกรต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกในระดับจังหวัด สาขาเกษตรอินทรีย์ สาขาเกษตรปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เป็นศูนย์เรียนรู้ให้สามารถเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และศึกษาดูงานแก่เกษตรกร เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติจะต้องจัดทำข้อมูลศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพของสภาเกษตรกรจังหวัด และศูนย์เรียนรู้เกษตรกรต้นแบบที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด แสดงให้เห็นสถานที่ตั้ง แผนที่การเดินทาง หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ องค์ความรู้ที่โดดเด่น สาขาอาชีพที่สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ เพื่อสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจหรือองค์กร สถาบันที่จัดอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เข้าไปศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดจะต้องประสานงาน อำนวยความสะดวก ในการศึกษาเรียนรู้ และรวบรวมข้อมูลผู้เข้าศึกษาเรียนรู้
สภาเกษตรกรแห่งชาติ หวังว่าการดำเนินโครงการ "เสริมสร้างยุวเกษตรกรและทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่" ในปี 2560 จะมีผลทำให้ยุวเกษตรกรที่เป็นนักเรียนได้เรียนรู้การทำการเกษตร จากเกษตรกรต้นแบบและสามารถลงมือปฏิบัติได้ สร้างโอกาสเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรวมกลุ่มเป็นองค์กรเกษตรกร สร้างความยั่งยืนให้ไทยคงไว้ซึ่งความเป็นประเทศเกษตรกรรมต่อไป
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 23 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.