อยากเป็นเกษตรกร ก็ต้องถามใจตัวเองก่อนว่า เหนื่อยนะ ทนได้ไหม
คนที่กำลังจะก้าวสู่เส้นทางเกษตรกร ต่างรู้ดีว่า ไม่ง่าย ไม่โรแมนติก แต่ก็อยากกลับบ้าน อยู่กับครอบครัว ทำการเกษตรเล็กๆ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้บ้าง
แม้วิถีเกษตรจะไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ถ้าตั้งใจจริง ก็พอสร้างฐานะได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย จึงร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดงานคนกล้า คืนถิ่น เป็นปีที่ 3 เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีแนวทางในการกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่นำไปประยุกต์ใช้กับอาชีพเกษตรกร ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยโครงการเน้นการสร้างคนต้นแบบที่ใช้ชีวิตพึ่งพิงตนเอง และในอนาคตสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น
โครงการคนกล้าคืนถิ่น จึงมีกระบวนการบ่มเพาะหนุนเสริม ร่วมคิด พาลงมือทำ ติดตามงานจนสัมฤทธิ์ผล และนำผลลัพท์ที่ได้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นต่อไป
ในวันงานดังกล่าว มีคนรุ่นใหม่ที่คิดจะผันตัวสู่อาชีพเกษตรกร มานั่งฟังการเสวนาจากเกษตรกรตัวจริง นักการตลาด นักสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจเพื่อสังคมเต็มห้องทุกเวที
หากใครอยากจะเป็นคนกล้าคืนถิ่น แม้ไม่มีพื้นดินของตัวเอง ไม่มีความรู้ด้านการเกษตร ก็เริ่มต้นได้ แต่ถ้ามีพื้นดินของตัวเอง ก็ย่อมเป็นการเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากทางโครงการจะมีกระบวนการบ่มเพาะการเกษตรที่สนใจ 4 วัน 4 คืน จากนั้นก็ลงแปลงเกษตรของตัวเอง ถ้าไม่มีพื้นที่ ก็มีพื้นที่ส่วนกลางให้ลองผิดลองถูกเป็นเวลา 5 เดือน โดยมีเกษตรกรตัวจริงให้คำแนะนำ ซึ่งโครงการที่อบรมมีทั้งเสียค่าใช้จ่าย และไม่เสียค่าใช้จ่าย (รอผู้สนับสนุนเงินทุนการอบรม)
"ก่อนจะทำการเกษตร ต้องมีการออกแบบพื้นที่ ฝึกสเก็ตภาพพื้นที่ เพื่อเรียบเรียงความคิดก่อนลงมือทำ "อ.จุลพร นันทพานิช สถาปนิกสีเขียว ซึ่งมีพื้นดินทางการเกษตรอยู่ที่จังหวัดลำพูน กล่าวในวงเสวนา เรื่อง เข้าใจธรรมชาติ...แล้วดีอย่างไร
เพราะต่างรู้ดีว่า เมืองไทยมีฤดูฝนปีละสี่เดือน เป็นฤดูน้ำมากและน้ำหลาก ถ้าอาศัยอยู่ในภาคเหนือ การทำการเกษตรจึงต่างจากพื้นที่อื่นๆ อาจารย์จุลพร บอกว่า
หากมีพื้นที่การเกษตรอยู่บนที่สูง และไม่อยากให้น้ำไหลลงสู่ลำห้วย ต้องปลูกต้นไม้อุ้มน้ำเอาไว้ และทำการเกษตรแบบขั้นบันได
"ถ้าทำการเกษตรพื้นที่ไม่เยอะ ไม่เกินสามไร่ ไม่จำเป็นต้องจ้างรถแมคโครมาขุดสระ ขุดบ่อ ผมเองก็ใช้เครื่องมือในท้องถิ่นพวกจอบเสียมขุด ปลูกต้นไม้ไปก่อน อย่างต้นมะพอก ลำพูป่า กระทุ่ม ปลูกทิ้งไว้จะได้ทั้งน้ำและความชื้น ต้นไม้พวกนี้จะเหมือนถังน้ำสามารถอุ้มน้ำได้ดี บ้านผมจึงไม่มีสระน้ำ มีต้นไม้เป็นแท็งค์น้ำ และน้ำที่ไหลมารวมกัน ก็มีอินทรีย์วัตถุสะสมอยู่ จะปลูกข้าวหรือปลูกอะไรก็อุดมสมบูรณ์"
ได้ยินได้ฟังแบบนี้ หลายคนคงรู้ดีว่า ก่อนจะทำการเกษตร ต้องวางแผนออกแบบพื้นที่ สเก็ตสิ่งที่อยากทำไว้ในกระดาษก่อนลงพื้นที่่จริง
ในพื้นที่ของอาจารย์จุลพร เขาเลือกปลูกต้นไม้ท้องถิ่นเพื่ออุ้มน้ำไว้ใช้ หากพื้นดินมีน้ำขัง ก็ปล่อยปลาลงไปกินลูกน้ำ นอกจากนี่้ยังต้องดูทิศทางลม ทิศทางแดด เพื่อนำแดดเข้ามาในจุดที่เหมาะสม
"ก่อนจะทำการเกษตร สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา ก็ต้องบันทึก รู้ทิศทางลม ทิศทางแดด ซึ่งจะทำให้เรามีสมรรถนะในการปลูกต้นไม้ได้ดี อย่างทิศตะวันตกเฉียงใต้จะนำความชื้นเข้ามา เราอาจปลูกต้นไม้ที่กักความชื้นเอาไว้ อย่างต้นตะเคียนทอง จามจุรี ชุมแสง จะปล่อยไอน้ำเย็นๆ ตลอดเวลา"
ถ้าต้องการออกแบบพื้นดินแบบนั้น ต้องเริ่มต้นอย่างไร
อ.จุลพร บอกว่า ถ้าจะออกแบบที่ดินให้มีทุกอย่างตามที่เราคิด ต้องไปกิน นอน อยู่ ในที่ดินแปลงนั้น หัดสังเกต บันทึกจากจุดเล็กๆ และสิ่งรอบตัว ดูตั้งแต่ต้นไม้ ลำธาร เพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมโยงกับทุกอย่างบนพื้นดินของเรา
"อย่างในอีสาน เราจะไม่เห็นนาสุดลูกหูลูกตา เพราะพวกเขาออกแบบให้ป่าอยู่กับนาข้าว"
ส่วน ดร. เกริก มีมุ่งกิจ เกษตรกรจากจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป บอกว่า ตอนเริ่มทำการเกษตรกร จะเน้นปลูกต้นไม้ให้เต็มพื้นที่ ตรงไหนเป็นร่องน้ำปล่อยให้ธรรมชาติจัดการ
"ก่อนปลูกต้นไม้ ผมเคยขุดบ่อน้ำซึมลึกลงไป 12 เมตร แต่ไม่มีน้ำ จึงต้องเลิกขุด พอปลูกต้นไม้เต็มพื้นที่ ปรากฎว่า ขุดลงไปไม่ลึกมาก น้ำก็ขึ้นมาแล้ว แสดงว่าต้นไม้อุ้มน้ำเอาไว้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ฝนตก น้ำจะซึมหยั่งลึกถึงรากแก้วของต้นไม้"
และเขาเองก็ยอมรับว่า ยังมีความคิดแบบโบราณ ๆ เพราะมีรายได้น้อย แค่วันละสองหมื่นบาท จึงเลือกปลูกต้นไม้ก่อนขุดสระ
"ผมเชื่อว่าในดินมีน้ำ ถ้าไม่เชื่อ สามารถทดสอบง่ายๆ ลองขุดดินมาหนึ่งกิโลกรัมนำไปตากแดด แล้วนำกลับมาชั่งกิโลอีกครั้ง ดูสิปริมาณน้ำหนักจะลดลงไหม เมื่อมีเงินน้อย ก็ต้องใช้วิธีปลูกต้นไม้เพื่อสร้างน้ำ ซึ่งการขุดสระไม่ใช่ไม่ดี แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผมจึงมีวิธีการของตัวเอง ปลูกต้นไม้รอบสระเต็มพื้นที่ เพื่อบังแสงแดดไม่ให้เอาน้ำไปจากพื้นดิน และปลูกต้นไม้ขอบบ่อน้ำ ไม่ให้ดินพังทลาย"
วิธีการปลูกต้นไม้แบบวนเกษตรของดร.เกริก จะเน้นปลูกต้นไม้ให้ห่างกันแค่สองเมตร ในร่องระหว่างต้นไม้ ปลูกผักและข้าว
"กว่าไม้โตเร็ว โตช้า จะเติบโต ผมก็ได้ผลผลิตข้าวมาสามรุ่น ผักสวนครัวไม่รู้กี่รอบ 3 ปีผ่านไปต้นไม้โต ก็ตัดแต่งกิ่ง มาเผาถ่านในเวลากลางวัน มันก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต้นไม้ปรุงอาหารอีก ต้นไม้ผมก็เลยโตเร็วกว่าต้นไม้คนอื่น ผมปลูกต้นไม้มา 8 ปี คนเห็นนึกว่าปลูกมา 20 ปี เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษา ผมปลูกต้นไม้โตเร็ว อย่างกระถิ่นเทพา มะฮอกกานี สะเดา ประดู่ ฯลฯ
ส่วนสาเหตุที่ต้นไม้ของเขาโตเร็วกว่าต้นไม้แปลงอื่น เพราะเขาปลูกสลับกันไปมาระหว่างไม้โตเร็ว ไม้โตปานกลาง ไม้โตช้า ถ้าปลูกไม้สักทองไว้ด้านหน้า พื้นที่ด้านหลัง ซ้าย ขวา ต้องไม่ใช่สักทอง จะปลูกต้นอะไรก็ได้
"ในเรื่องปุ๋ยต้นไม้ ต้องรู้ก่อนว่า ต้นไม้จะไม่กินใบที่ร่วงหล่นใต้ต้นตัวเอง มันจะคายทิ้ง แต่ถ้ามีใบไม้ที่หลากหลายมารวมกันจะเป็นธาตุประกอบตัวใหม่ให้ต้นไม้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยพิสูจน์แล้วว่าจริง อีกอย่างพืชชนิดเดียวกัน จะกินอาหารเหมือนกัน ถ้าปลูกแปลงเดียวกันหรือติดกัน มันจะแย่งอาหารกัน ถ้าปลูกต้นไม้แบบเดียวกันทั้งแปลง ต้นไม้จะโตแค่รอบนอก เพราะมันไม่แย่งอาหารกับใคร ส่วนด้านในจะไม่ค่อยโต เราจึงต้องปลูกต้นไม้ให้หลากหลาย"
ดร.เกริก บอกอีกว่า หากต้นไม้ที่โตช้า และโตปานกลาง เมื่อมาอยู่รวมกับต้นไม้โตเร็ว มันจะแย่งกันรับแสง ทำให้โตเร็ว อย่างกระถิ่นเทพาปลูกไม่นาน ก็นำมาสร้างบ้านได้ เพราะฉะนั้นที่ดินของใครประสบปัญหาแล้ง ต้องปลูกต้นไม้เยอะๆ มันจะเป็นเหมือนบ่อน้ำใต้ดินที่มีน้ำอยู่ตลอดเวลา ต้นไม้ที่ผมปลูกโตปีละเมตร แม้กระทั่งพะยูงที่โตช้า ก็โตเร็วกว่าคนอื่น
"นักวิชาการเพื่อนผมบอกว่า การปลูกข้าวต้องแดดจัดๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา เมื่อศึกษาแล้ว จึงได้รู้ว่า ข้าวต้องการแดดจัดๆ แค่สองชั่วโมง เพียงพอแล้ว ที่สำคัญการทำเกษตรต้องดินดีเพราะสิ่งมีชีวิตที่ทับถมกันจะกลายเป็นดินที่สมบูรณ์ และดินบ้านเรามีจุลินทรีย์อยู่แล้ว บางประเทศต้องพลิกพื้นดิน เพื่อกระตุ้นจุลินทรีย์ให้ทำงาน" ดร.เกริก เล่า ในฐานะเกษตรกรที่ปฏิเสธการใช้สารเคมีตั้งแต่แรกเริ่ม
"ผมเคยได้รางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำนา แต่ผมไม่ใช่คนที่มีอาชีพทำนา ผมแค่ทำนาเก่ง ผมมีหลายอาชีพ ถ้าผมปลูกต้นไม้ ก็โตเร็วกว่าคนอื่น ปลูกอ้อยได้120 ตันต่อไร่ มันสำปะหลังได้ผลผลิต 60 ตันต่อไร่ ข้าวได้ผลผลิต 7,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่คนทั่วไป ปลูกอ้อยได้ผลผลิต 8-10ตันต่อไร่ มันสำปะหลังได้ผลผลิต 3-4 ตันต่อไร่ ข้าวได้ผลผลิต 500 กิโลกรัมต่อไร่"
เขาคำนวณให้เบ็ดเสร็จว่า ผลผลิตทางการเกษตรของเขา 1 ไร่ เท่ากับคนทั่วไปทำการเกษตร 15 ไร่ ส่วนสาเหตุที่เขาทำได้แบบนี้ เพราะความใส่ใจ ศึกษาดูแล และใช้องค์ความรู้หลายอย่าง
หากใครคิดว่า เขาเป็นเกษตรกรสายชิล ลองคุยกับเขาลึกๆ แล้วจะรู้ว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่
"เป็นเกษตรกรไม่โรแมนติกหรอก ที่ผมทำได้แบบที่ผมพูด เพราะผมมีความเพียร" ดร. เกริก เล่า
โดย...เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.