สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) หรือ MI สร้างความร่วมมือกับแขวงคำหม่วน สปป.ลาว หนุนชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ดีปลอดสารพิษ ส่งเข้าโรงสี ผลิตเป็นข้าวคุณภาพส่งออกขายทั่วประเทศและทั่วโลก ล่าสุดโรงสีข้าวในคำม่วน ยื่นขอรับมาตรฐาน GMP เป็นแรกของประเทศแล้ว
สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) โดยการสนับสนุนขององค์กรเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์(Swiss Agency for Development and Cooperation-SDC)ได้ดำเนิน โครงการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Regional and Local Economic Development – East West Economic Corridor/RLED-EWEC)มาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 โดยโครงการฯมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC)ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง และร่วมช่วยแก้ไขอุปสรรคในการพัฒนาระดับภูมิภาคด้วย โดย การประสานความร่วมมือระหว่างพื้นที่ ที่มีระดับการพัฒนาน้อยเข้ากับพื้นที่ที่มีการพัฒนามากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนาบริเวณระเบียงเศรษฐกิจ และเป็นการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ให้สามารถเข้าถึงตลาดในระดับภูมิภาคและระดับสากลเพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้คือ เกษตรกรรายย่อยSMEs สมาคมนักธุรกิจ และหน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการได้ดำเนินการประกอบไปด้วยพื้นที่สาธิตใน 6 จังหวัด ที่มีชายแดนติดกันในพื้นที่สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตกได้แก่ แขวงคำม่วนในประเทศลาว และจังหวัดนครพนมของประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกัน คือเมืองท่าแขก และอำเภอเมืองนครพนม , จังหวัดกวางตรีในประเทศเวียดนาม และแขวงสะหวันนะเขตในประเทศลาว ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกัน คือ เมืองลาวบาว และเมืองแดนสวรรค์ และรัฐกะหยิ่นในประเทศพม่า และจังหวัดตากของประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกัน คือ เมืองเมียวดี และอำเภอแม่สอด
เรื่องนี้ ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่า สาเหตุที่เลือกส่งเสริมการปลูกข้าวในแขวงคำม่วน สปป.ลาว เพราะสปป.ลาวได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศว่าจะให้แขวงคำม่วนเป็นแหล่งผลิตข้าวป้อนคนในประเทศ แต่ที่ผ่านมานั้น ชาวนาจะปลูกข้าวแบบทั่วไป ไม่ได้เลือกพันธุ์ข้าว ไม่ได้ผลิตแบบปราณีต ทาง MI จึงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกข้าวแบบครบวงจร เพื่อให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวแบบมีรายได้เพิ่มขึ้น และขายข้าวได้มากขึ้น และสามารถขายข้าวให้โรงสีได้ราคาดี รวมถึงการส่งเสริมเรื่องการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศด้วย
ด้านนายนิคม รวมสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานโครงการใน สปป. ลาว ของ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Project Team Leader in Lao PDR ) กล่าวถึงการเข้าไปทำงานในแขวงคำม่วนว่า สำหรับการเข้ามาส่งเสริมในสปป.ลาวนั้น ได้เริ่มดำเนินการมา 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มของชาวนาจำนวน 80 ครอบครัวใน 4 กลุ่ม 3 เมืองคือ เมืองท่าแขก เมืองยมราช และ เมืองหนองบก คือ ให้ปลูกข้าวพันธุ์ดี ด้วยการคัดเลือกพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเช่นพันธุ์เซบั้งไฟ ข้าวหอมมะลิ , ข้าวกข. 6, กข.8 และต้องปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมี การทำงานร่วมกับแขวงคำม่วน สปป.ลาว ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ และมีการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ปลูกด้วยว่าไม่มีสารเคมีจริงหรือไม่ ก่อนที่จะนำส่งเข้าโรงสี
ซึ่งกลุ่มชาวนาที่ทำนาก็ได้ปลูกข้าวมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (Good Agricultural Practice ) หรือ GAP เพื่อยกระดับการปลูกข้าวของชาวนาในพื้นที่ และเป็นกลุ่มตัวอย่างในการทำเกษตรปลอดภัย จากนั้นได้ไปส่งเสริมโรงสีข้าวให้รับซื้อข้าวจากชาวนากลุ่มนี้ และให้ราคาสูงกว่าราคาข้าวในตลาด โดยปี 2559 ที่ผ่านมา ชาวนากลุ่มนี้สามารถขายข้าวได้สูงกว่าท้องตลาดถึง 10-25 เปอร์เซ็นต์สำหรับข้าวเหนียว ส่วนข้าวจ้าวได้สูงกว่าท้องตลาดถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นที่พอใจของชาวนามาก โดยเฉพาะเมื่อมีการคัดข้าวพันธุ์ดี ทำนาแบบปราณีต ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี พบว่าชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิตในการปลูกข้าวได้มาก เช่น ข้าวจ้าวปลูกได้มากถึง 1 เฮกต้าร์ หรือ 6 ไร่ต่อ 4 ตัน ข้าวเหนียว 3.5 ตัน ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่ปลูกได้เพียง 1-2 ตันต่อ 1 เฮกต้าร์เท่านั้น
ส่วนโรงสีทาง MIได้เข้าไปส่งเสริมให้โรงสีรับซื้อข้าวจากชาวนากลุ่มนี้ โดยมีกลุ่มโรงสีที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์โรงสีข้าวจำนวน 13 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน มีตัวเลขว่าปี 2557 นั้น ได้มีการซื้อข้าวจากชาวนาในพื้นที่ 14,360 ตัน ในปี 2558 ที่สถาบันได้ไปส่งเสริมเรื่องการผลิตข้าวปลอดภัย พบว่าโรงสีได้มีการซื้อข้าวจากชาวนามากขึ้นเพิ่มเป็น 25,202 ตัน และพบว่าตัวเลขการส่งออกข้าวลดลงและมีการนำเอาข้าวปลอดภัยขายในประเทศเพิ่มขึ้น และขณะนี้ทางสถาบันฯได้ให้คำปรึกษาเพื่อให้โรงสีพัฒนาตัวเองให้เป็นโรงสีมาตรฐาน หลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice ) หรือ GMP เพื่อจะได้แปรรูปข้าวส่งออกขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกด้วย
"โดยก่อนหน้านี้โรงสีข้าวส่วนใหญ่จะสีข้าวขายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้เริ่มมองตลาดต่างประเทศแล้ว และมีโรงสีที่เข้าร่วมโครงการกับสถาบันฯ ได้พัฒนาโรงสีตัวเองและขอมาตรฐาน GMP แล้ว 1 โรง และจะกลายเป็นโรงสีแห่งแรกของประเทศ สปป.ลาว ที่จะได้มาตรฐาน GMP ด้วยนั่นคือโรงสี วานิดา อยู่ที่แขวงคำม่วนแห่งนี้ และเป้าหมายของสถาบันฯในการเข้ามาส่งเสริมคือต้องการให้มีการผลิต แปรรูป และส่งขายข้าวอย่างเป็นระบบได้มาตรฐานสากลด้วย เพราะขณะนี้ข้าวลาวเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากเพราะได้รับการยอมรับเรื่องปลอดภัย ไม่มีสารเคมี และเป็นข้าวพันธุ์ดีด้วย"นายนิคม กล่าว
ด้านนายทองออน จันทะวงสา ประธานกลุ่มกสิกรรมที่ดีบ้านผักอีตู่ แขวงคำม่วน สปป.ลาว กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการนั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ยุ่งยากในการทำเอกสารในช่วงแรก แต่ทาง MI ได้เข้ามาส่งเสริม อบรม ให้ความรู้ จนสามารถทำเป็น ทำได้ โดยได้เข้าร่วมโครงการในปี 2559 ที่ผ่านมา ทำเพียง 1 ปีได้ใบรับรองการปลูกข้าวปลอดสารเคมี ซึ่งสมาชิกดีใจมาก เพราะทำให้ขายข้าวได้ราคาดีกว่าแต่ก่อน ปลูกข้าวมาก็มีโรงสีมารับซื้อทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ขายข้าวได้ราคาต่ำ และขายยาก แต่พอมาเข้าร่วมโครงการต้นทุนการผลิตลดลง แต่รายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
"การเข้าร่วมโครงการ ทำให้เราต้องจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ อย่างถี่ถ้วน บางคนเบื่อเพราะเอกสารเยอะลาออกไปก็มี แต่ก่อนมีสมาชิกอยู่ 34 คน ลาออกไป 4 คนเหลือ 30 คน แต่พอทำได้แล้วก็สะดวกและทำให้รู้ต้นทุน กำไรมากขึ้น ตอนนี้มีหลายคนอยากจะมาเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพราะปลูกข้าวแล้วโรงสีรับซื้อทั้งหมดเลย ตอนนี้สมาชิกเราเฉพาะบ้านผักอีตู่มีอยู่ 30 ครอบครัว อนาคตคาดว่าจะขยายกลุ่มออกไปอีก เพื่อให้เพื่อนชาวนามีรายได้มากกว่าแต่เดิม" นายทองออน กล่าว
ด้านนายเพ็ดสะหมอน บัวพันทะวง เจ้าของโรงสีข้าววานิดา แขวงคำม่วน สปป.ลาว ซึ่งกำลังจะกลายเป็นโรงสีแห่งแรกของสปป.ลาว ที่ได้รับมาตรฐาน GMP กล่าวว่า ทางโรงสีได้ใช้เงินปรับปรุงโรงสีไปกว่า 5 ล้านบาท เพื่อยื่นขอใบมาตรฐาน GMP เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาดสากล โดยที่ผ่านมานั้น ทางโรงสีได้สีข้าวป้อนตลาดในประเทศ และต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐาน GMP เท่าใดนัก พอสถาบัน MI เข้ามาส่งเสริมทำให้ทางโรงสีอยากจะได้รับมาตรฐาน GMP จึงได้ปรับปรุง และทำทุกกระบวนการให้ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สุขลักษณะของสถานที่ตั้งและอาคารผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด และบุคลากร ซึ่งปลายเดือนมีนาคมนี้ก็จะรู้คำตอบแล้วว่าจะได้รับมาตรฐาน GMP หรือไม่ แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้แน่นอน
"เรามีพนักงาน 15 คน เป็นโรงสีขนาดเล็ก รับซื้อข้าวจากกลุ่มเกษตรกรมาสีแล้วบรรจุถุงขาย มีหลายขนาดตั้งแต่ 1-50 กิโลกรัม โดยใช้ชื่อยี่ห้อตราช้าง ที่ผ่านมาเคยผลิตส่งขายในลาว เวียดนาม เยอรมัน โดยมีกำลังผลิตต่อปีประมาณ 1 พันตัน แต่ปี 2559 ผลิตได้มากถึง 1,800 ตัน หากปีนี้ได้มาตรฐาน GMP แล้วปี 2561 ตั้งใจยกระดับโรงสีให้ได้มาตรฐานการผลิต ที่มีมาตรการป้องกันอันตราย ที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร ( Hazard Analysis Critical Control Point) หรือ HACCP ให้ได้แห่งแรกของประเทศอีกเช่นกัน และอนาคตอยากจะทำให้โรงสีวานิดาเป็นศูนย์เรียนรู้ของผู้สนใจที่อยากจะผลิตข้าวแบบได้มาตรฐานและครบวงจร เพื่อยกระดับการพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศลาวให้ดียิ่งขึ้น"นายเพ็ดสะหมอน กล่าว
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 14 มี.ค. 2560
โดย – สุมาลี สุวรรณกร
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.