ช่วงนี้ อากาศทวีความร้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่จริงกรมอุตุนิยมวิทยาก็ประกาศเมื่อต้นเดือนว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเป็นทางการแล้วตั้งแต่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โดยฤดูร้อนปีนี้ อุณหภูมิค่อนข้างสูงพอสมควรราว 42-43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะช่วงเมษายน ทั้งนี้ภาคเหนือจะอากาศร้อนสุด รองลงมาก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯบางวันอุณหภูมิจะสูงถึง 40 องศา
จากอากาศร้อนสู่เรื่อง "แล้ง" ซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างยืนยันว่า สถานการณ์"แล้ง"ปีนี้ไม่รุนแรงนัก หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยเราต้องเผชิญปรากฏการณ์"เอลนีโญ"จนร้อนแล้งขั้นวิกฤติสาหัสมาแล้ว พอหมดเอลนีโญ ช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็มีฝนตกมากพอสมควร กักเก็บน้ำได้มากขึ้นในเขื่อนหลายแห่ง จนปริมาณน้ำเขื่อนมีมากกว่าปีก่อนไม่น้อย เพียงพอรับมือสำหรับการอุปโภคบริโภค ตลอดหน้าแล้งนี้ได้ แต่เรื่องน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่ ยังจำเป็นต้องควบคุมอยู่ โดยเฉพาะการ"ทำนาปรัง"ที่ใช้น้ำมาก ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ประกาศขอความร่วมมือให้ลดทำนาปรังเหมือนเช่นทุกปี แต่ดูเหมือนตัวเลขการทำนาปรังก็ยังคงสูงเกินเป้าหลายล้านไร่
แม้ฝนจะมีมากขึ้นช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญอย่างคุณรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ชี้ว่า ช่วง 5 ปีมานี้ แนวร่องฝนเปลี่ยนมาตกใต้เขื่อนมากขึ้น เรียกว่า "ฝนตกผิดที่" จะเห็นว่า เขื่อนขนาดใหญ่ต่างๆ มีน้ำที่ไหลเข้ามาเฉลี่ยน้อยลงทุกปีซึ่งจะทำให้มีปัญหาต่อการจัดสรรน้ำ ส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตรเขตชลประทาน การควบคุมพื้นที่ทำนาปรังจึงยังจำเป็นมาก แต่ปีนี้ก็ยังปลูกเกินแผนส่งน้ำไปกว่า 3 ล้านไร่แล้ว จนอาจเสี่ยงเสียหายได้ รวมถึงชาวนาส่วนใหญ่ยังปลูกข้าวต่อเนื่องโดยไม่มีรอบ หากใช้น้ำมาก ก็จะกระทบฤดูถัดไป
ดังนั้น คุณรอยลจึงจี้ให้วางแผนบริหารจัดการน้ำแบบใหม่ เน้นการใช้อย่างประหยัดทุกภาคส่วน ขณะที่เกษตรกร ชาวนาก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง อย่าอาศัยน้ำจากระบบชลประทานอย่างเดียว ต้องหันมาทำเกษตรผสมผสาน รู้จักใช้ประโยชน์ที่ดิน สร้างแหล่งน้ำของตนเอง ตามหลัก"การเกษตรทฤษฎีใหม่"ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ หรือร่วมกลุ่มกันทำเกษตรแบบ Macro management ทำหลากหลายไม่จำเป็นต้องทำชนิดเดียวกัน โดยให้มีการใช้น้ำสลับหมุนเวียนกันได้ ปลูกเหลื่อมเวลากัน วางระบบใช้ที่ดิน จะทำให้ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตไปได้ในตัว ลดความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำด้วย
ก็ย้ำชัดๆ กันตรงนี้ ถ้าเกษตรกรมีพื้นที่ไม่มาก แต่ยังรักที่จะทำเอง ก็ควรเน้นทำแบบ "การเกษตรทฤษฎีใหม่" ไร่นาสวนผสม ซึ่งก็ต้องอาศัยองค์ความรู้ ขยันศึกษา ดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมกับที่ดินที่มีอยู่ แต่ถ้าไม่มั่นใจในองค์ความรู้ตัวเอง ก็เข้าร่วมโครงการ"นาแปลงใหญ่" แบบที่กระทรวงเกษตรฯกำลังสนับสนุน ผลักดันการรวมกลุ่มทำการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตด้วย แล้วยังมีอำนาจต่อรองที่จะกำหนดราคาได้มากขึ้น ตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาลด้วย
เรื่อง"การปรับตัวของเกษตรกร" นับเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง ที่จะแก้ไขปัญหาความลำบากยากจนของเกษตรกรเอง แล้วยังนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งประเด็นนี้ ก็อยากกล่าวถึงการแห่ปลูกไร่ข้าวโพดทางภาคเหนือที่ถูกมองเป็นต้นตอปัญหา "ไฟป่า-หมอกควันพิษ" รวมถึงความยากจนของเกษตรกรในพื้นที่เองด้วย เพราะช่วงมีนาฯหน้าร้อนนี้ "ไฟป่า" จากการบุกรุกถางป่าด้วยการ"เผา"เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพด ยังคงกลับมาเป็นปัญหาหลอกหลอนซ้ำซากวนเวียนอีกปีหนึ่ง
ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ,เอกชนและประชาสังคมพยายามช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา การบุกรุกถางป่าทำไร่ข้าวโพด โดยเฉพาะที่จังหวัดน่านซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสำคัญของภาคเหนือ โดยหนุนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด หันไปปลูกป่า ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งทำมาได้ 2-3 ปีแล้ว แต่ดูเหมือน ยังไม่สามารถทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนได้ ล่าสุด ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เผยว่า จากการติดตามสถานการณ์พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด จ.น่าน ด้วยข้อมูลดาวเทียม พบว่า ช่วง 3 ปีมานี้นับแต่ปี 2557 ที่น่านปลูกข้าวโพด 1.5 ล้านไร่ แล้วปรับลดลงเหลือ 1.3 ล้านไร่ในปี 2558 แต่ล่าสุดปี 2559 ก็กลับมาเพิ่มเป็น 1.5 ล้านไร่เหมือนเดิมอีก
นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดว่า การที่จะทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบเดิมๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย
ดังนั้นหากจะสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า หน่วยงานรัฐและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องทำกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนกว่าจะสำเร็จได้จริงๆ
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 15 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.