กลายเป็นความกังวลขึ้นมาในทุกภาคส่วน เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ท่ามกลางการจับจ้องปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยตัวเลขสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 เขื่อนล่าสุด ณ วันที่ 10 มีนาคม ปรากฏมีปริมาตรน้ำใช้การได้จริงแค่ 6,369 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ที่จะต้องใช้ไปอีก 3 เดือน จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน
ท่ามกลางคำถามที่ว่า ด้วยปริมาณน้ำคงเหลือดังกล่าว กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างไรบ้างสำหรับการบริหารจัดการน้ำปีนี้
สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัททีม คอนซัลติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ ให้ความเห็นถึงสถานการณ์น้ำของประเทศในขณะนี้ว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 20,000 ล้าน ลบ.ม. (ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 10 มี.ค. อยู่ที่ 19,869 ล้าน ลบ.ม.) หรือมากกว่าปี 2559 มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่า 8,000 ล้าน ลบ.ม.
โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จาก 4 เขื่อนหลักที่ส่งน้ำให้กับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 6,369 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำรวมกันแค่ 2,929 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น (น้ำใช้การได้จริงมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2.3 เท่า) นั่นหมายความว่าในปีนี้ ประเทศไทยโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ หรืออยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า "มีความปลอดภัย" นายชวลิตกล่าว
แต่ความปลอดภัยดังกล่าวยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องนำมาพิจารณาตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ถึง 2 ปัจจัย ได้แก่ ปริมาณการปลูกข้าวนาปรัง กับฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่
ภูมิพลน้ำต่ำกว่าเส้นปลอดภัย
ในประเด็นแรกจากตัวเลขล่าสุดพบว่า ขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวไปแล้วกว่า 6 ล้านไร่ จากแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการปลูกข้าวไว้แค่ 4 ล้านไร่ (ตัวเลขกระทรวงเกษตรฯให้พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.30 ล้านไร่ หรือเกินแผนไปแล้ว 2.63 ล้านไร่ จากที่กำหนดไว้ไม่ให้ปลูกเกิน 2.67 ล้านไร่) โดยการปลูกข้าวในแต่ละไร่จะต้องใช้น้ำไม่ต่ำกว่า 3,000 ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักที่มีอยู่เหลืออยู่ค่อนข้างจำกัด
ยกตัวอย่าง เขื่อนภูมิพล ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 6,313 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาตรน้ำในอ่างที่ต่ำกว่า เส้น LRC หรือ Lower Rule Curve หรือระดับน้ำในอ่างที่ควรรักษาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำแห้งของอ่างเก็บน้ำ หรือเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคตที่อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ กรณีระดับน้ำในอ่างที่ต่ำกว่าเส้น LRC นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก แต่เกิดขึ้นติดต่อมาไม่ต่ำกว่า 4 ปีแล้ว แต่หากจะพิจารณาเฉพาะตัวเลขน้ำใช้การได้จริงของเขื่อนภูมิพลที่ 2,513 ล้าน ลบ.ม.นั้น ปรากฏ "ตัวเลขมันดูใหญ่โต" แต่ต้องไม่ลืมว่า เป็น 19% ของปริมาณน้ำใช้การได้จริง ไม่ใช่ 47% ของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลทั้งหมด
นั่นหมายถึงจะต้องมีการจัดสรรน้ำอย่างระมัดระวัง เพราะน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย (ต่ำกว่าเส้น LRC) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าแผนที่กำหนด ในประเด็นนี้จะทำอย่างไรระหว่างการปล่อยให้ข้าวของชาวนาแห้งตาย กับความเสี่ยงที่จะต้องจัดสรรน้ำเกินไปกว่าแผนการจัดสรรที่กำหนด (น้ำเพื่อเกษตรกรรมถูกจัดสรรไว้ที่ 9,579 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2559-30 เม.ย. 2560)
เอลนิโญมา ฝนทิ้งช่วง
ประการที่สอง จากแบบจำลอง IRI/CPC Pacific Nino ของ NOAA ล่าสุดปรากฏ การวัดระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกล่าสุด (เดือนธันวาคม-มกราคม 2560) พบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลอยู่เหนือเส้นแดง นั่นหมายถึง ประมาณเดือนมิถุนายนจะเกิดปรากฏการณ์ El Nino อย่างอ่อน ๆ หรือ
"ฝนน้อย-น้ำน้อย" มีความเป็นไปได้ว่า ปริมาณฝนของประเทศไทยจะตกน้อยลง หรือจากเกณฑ์ปกติประมาณ 1,200-1,300 มิลลิเมตร/ปี ในปีนี้อาจจะลดลงเหลือแค่ 1,100 มิลลิเมตร/ปี ในฤดูฝนปีนี้
ดังนั้นสิ่งที่ควรระมัดระวังก็คือ การเกิดฝนทิ้งช่วง จากที่ควรจะเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ก็อาจจะลากยาวไปจนถึงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม นั่นหมายถึงฝนจะไปตกเอาในเดือนสิงหาคม หรือช้ากว่าแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ที่วางเอาไว้แค่สิ้นเดือนเมษายนเท่านั้น
"แบบจำลองของ NOAA บอกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญแบบอ่อน ๆ ในเดือนมิถุนายน ขณะที่แผนการจัดสรรน้ำสิ้นสุดลงแค่ต้นเดือนพฤษภาคม ที่เชื่อกันว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน ถ้ามันไม่เป็นแบบนี้จะทำอย่างไร" นายชวลิตกล่าว
จับตานำน้ำสำรองมาใช้
สำหรับการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจาก 4 เขื่อนหลัก จะประกอบไปด้วย น้ำเพื่อเกษตรกรรม 36 ล้าน ลบ.ม./วัน, น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มอยู่ระหว่าง 5-7 ล้าน ลบ.ม./วัน, น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 3 ล้าน ลบ.ม./วัน, น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค (ผลิตน้ำประปา) 8 ล้าน ลบ.ม./วัน และอื่น ๆ อีก 3 ล้าน ลบ.ม./วัน นั้นหมายถึง 4 เขื่อนหลักจะต้องระบายน้ำรวมกันไม่ต่ำกว่าวันละ 55 ล้าน ลบ.ม./วัน จึงจะครอบคลุมกิจกรรมการจัดสรรน้ำทั้งหมดที่วางเอาไว้ได้
แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำใช้การได้จริงใน 4 เขื่อนหลัก เหลืออยู่ประมาณ 6,369 ล้าน ลบ.ม. หากต้องระบายน้ำในระดับนี้ (55 ล้าน ลบ.ม./วัน) ต่อไปอีก 3 เดือน ก็จะเหลือปริมาณน้ำใช้การได้จริง ณ สิ้นเดือนเมษายน อยู่ระหว่าง 1,350-1,400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่า "น้อยมาก" เมื่อเทียบกับปัจจัยเสี่ยง 2 ประการข้างต้นก็คือ การเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น กับปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วง "ดังนั้นทางออกก็คือ กรมชลประทาน คงจะต้องนำน้ำสำรองที่เหลืออยู่ใน 4 เขื่อนหลัก ประมาณ 4,300 ล้าน ลบ.ม. ออกมาใช้จริง ๆ ซึ่งก็หมายถึงการเปลี่ยนสถานะจากการนำน้ำใช้การได้จริงที่ถูกจัดสรรจนหมด มาเป็นการใช้น้ำสำรองในเขื่อนแทน" นายชวลิตกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 มี.ค. 60
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.