วันนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาระหลักของการพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อสหประชาชาติได้ประกาศ "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการพัฒนาของโลกระหว่างปี 2016-2030 และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ลงนามร่วมกับภาคีสมาชิก ในการรับรองฉันทามติเป้าหมายการพัฒนาใหม่นี้
จากเดือนกันยายน 2558 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบ 1 ปีครึ่งที่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของภาคส่วนต่างๆ ภาครัฐ ที่คืบหน้าอย่างเป็นลำดับและเร่งด่วน โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติถูกผูกโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้ยุทธศาสตร์ต้องมีการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปด้วย
นั่นหมายความว่า ประเด็นความยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องจัดทำหลังรัฐธรรมนูญประกาศภายใน 120 วัน
ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 เป็นต้นมา เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญของการขับเคลื่อนไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายประการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย
เดือนสิงหาคม รัฐบาลได้ประกาศชัดว่าจะนำ SDGs ไปเชื่อมโยงในยุทธศาสตร์ชาติ
เดือนตุลาคม 2559 กระทรวงต่างประเทศ มีข้อเสนอให้ไทยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง หรือ SEP for SDGs เพื่อสานต่อพระราชปณิธานและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ล่าสุด ในเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 2 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติกำหนดให้มี 30 เป้าประสงค์เร่งด่วนที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการในช่วง 5 ปีแรก จากเป้าหมาย 17 ประการและ 169 เป้าประสงค์ ของ SDGs ที่จะต้องบรรลุเป้าหมายภายใน 15 ปี เนื่องจากเป็นประเด็นเร่งด่วนและมีผลกระทบสูง เช่น ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนประมงเกินขีดจำกัด, การประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU), ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ฯลฯ
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวไว้ในหลายเวทีว่า "มี 3 สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติได้ ประการแรก คือ การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประการที่ 2 ต้องสามารถเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12"
การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นสำคัญให้เหลือ 30 เป้าประสงค์ จาก 169 เป้าประสงค์ ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สามารถเชื่อมโยงเป้าประสงค์สำคัญกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ตามที่คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีมติไปแล้วนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
....ทั้งในประเด็น 30 เร่งด่วนที่จะถูกโฟกัสและบรรจุในแผนของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เรื่องนั้นๆ บรรลุผล
....และในความสามารถที่จะเชื่อมโยงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยกับนโยบายภาพใหญ่
ผลิตยั่งยืน-IUU-พลังงาน กับลิสต์ประเด็นเร่งด่วน
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม จำนวน 5 ครั้ง ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2559 นำมาสู่การประเมินของคณะทำงานอันประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนนักวิชาการ ในการจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์ที่เร่งด่วนของไทยจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ โดยการประเมินว่าอะไรสำคัญและอะไรเร่งด่วน ใช้มิติในการประเมินโดยมองจาก 2 แกน คือ มิติความสำคัญด้านความเร่งด่วนและผลกระทบ และในมิติความพร้อมของข้อมูล กฎหมายทรัพยากร และสังคม
โดย 30 เป้าประสงค์ที่ได้คะแนนสูงสุดแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายด้านสังคม (People) หรือ เป้าหมาย SDGs ที่ 1, 2, 3, 4 และ5 มี 11 เป้าประสงค์ที่ติดอันดับ ประกอบด้วย ประเด็นด้าน 1.3 มาตรการคุ้มครองทางสังคม 2.1 การยุติความหิวโหยและเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยพอเพียง 2.4 ระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน การเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.5 ความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของ HIV และโรคติดต่อ3.4ลดการตายจากโรคไม่ติดต่อ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด 3.6 ลดอุบัติเหตุทางถนน 4.1 สำเร็จการศึกษาประถม มัธยม คุณภาพเท่าเทียมและไม่มีค่าใช้จ่าย 4.2 เข้าถึงการพัฒนา การดูแล การจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ 5.2 ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) หรือเป้าหมาย SDGs ที่ 7, 8, 9, 10 และ 11 มี 6 เป้าประสงค์ที่ติดอันดับ ประกอบด้วย เป้าประสงค์ 7.3 ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 8.1 การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน 8.4 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและดัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม 9.4 อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 10.1 เพิ่มการเติบโตของรายได้กลุ่มคนยากจนร้อยละ 40 ล่างสุด 11.5 ลดการเสียชีวิตและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
กลุ่มเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) หรือเป้าหมายที่ 6, 12, 13, 14 และ 15 มี 8 เป้าประสงค์ที่ติดอันดับ ประกอบด้วยเป้าประสงค์ 6.1 การเข้าถึงน้ำดื่มปลอดภัย มีราคาหาซื้อได้ 12.4 การกำจัดสารเคมีและของเสียอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 14.4 การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล 14.6 ยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนประมงเกินขีดจำกัดและ IUU 15.2 การจัดการป่าอย่างยั่งยืน 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย และ 15.1 อนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก น้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายด้านสันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม (Peace) หรือเป้าหมายที่ 16 มีเป้าประสงค์ติดอันดับ 2 เป้าประสงค์ ประกอบด้วย 16.2 ยุติการค้ามนุษย์ และ 16.5 การลดการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายด้านหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) เป้าหมายที่ 17 มีเป้าประสงค์ติดอันดับ 3 เป้าประสงค์ ประกอบด้วย 17.1 เรื่องการยกระดับทรัพยากรของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน 17.11 เพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา และ 17.14 การยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
"ชล บุนนาค" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ในฐานะผู้ติดตามการขับเคลื่อน SDGs ในโครงการการประสานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า "ในเป้าหมาย 17 เป้าหมายของ SDGs แต่ละเป้าหมาย (goal) มี เป้าประสงค์ (target) และมีตัวชี้วัด (indicator) โดยมี 169 เป้าประสงค์ รวมทั้งหมด 241 ตัวชี้วัด ซึ่งตัวชี้วัดจำนวนมากมีทั้งที่มีความชัดเจนอยู่แล้วและยังไม่ชัดเจน การกำหนดให้มี 30 เป้าประสงค์ ถือเป็นการกำหนดที่ทำให้เห็นชัดเจนของการขับเคลื่อนจากเวทีระดับสูงทางการเมืองที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย"
เชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ แผนฯ 12 และ 30 เป้าประสงค์
ในผลสรุปการจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังยกประเด็นถึง การเชื่อมโยงทั้ง 30 เป้าประสงค์กับยุทธศาสตร์ชาติ พบว่า 30 เป้าประสงค์ที่จัดลำดับมายังมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ถึง 8 ยุทธศาสตร์ โดยจะสอดคล้องมากในยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่า 30 เป้าประสงค์จะไม่ซ้อนทับกับยุทธศาสตร์ที่ 8 และ 9 เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว แต่ทั้ง 2 ยุทธศาสตร์นี้ก็ยังคงเชื่อมโยงกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายที่ 9 เรื่อง โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และนวัตกรรม และเป้าหมายที่ 11 เรื่อง เมืองและชุมชนยั่งยืน
ในภาพที่ไกลกว่า 5 ปีของแผนฯ 12 ยังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง 30 เป้าประสงค์นี้ก็มีความสอดคล้องเช่นเดียวกัน และยุทธศาสตร์ที่มีความสอดคล้องสูงก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (6 เป้าประสงค์), ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันในสังคม (5 เป้าประสงค์) และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (13 เป้าประสงค์)
ชูน้อมนำฯ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง
รายงานยังระบุด้วยว่า การจัดลำดับ 30 เป้าประสงค์นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำเพียง 30 เป้าประสงค์นี้เท่านั้น แต่หมายถึง เราควรให้ความสำคัญกับ 30 เป้าประสงค์นี้เป็นพิเศษ แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ควรดำเนินการบรรลุเป้าประสงค์ SDGs ที่สอดคล้องตามภารกิจของหน่วยงานและตน เพียงแต่ให้ความสำคัญกับ 30 เป้าประสงค์นี้เป็นพิเศษในช่วง 5 ปีแรก เช่นเดียวกัน การดำเนินการเพื่อบรรลุแผน 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ควรดำเนินการบรรลุเป้าประสงค์ SDGs ที่สอดคล้องกับแผนและยุทธศาสตร์นั้นๆ เพียงแต่ให้ความสำคัญกับเป้าประสงค์ 30 เป้านี้เป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า ควรน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและคัดกรองกิจกรรม โครงการ แผนงานของหน่วยงานในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า กระบวนการการดำเนินโครงการจะเป็นไปตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรลุตาม "ผลลัพธ์" (Outcome) ที่ควรจะเป็นในท้ายที่สุด
ที่มา : Thaipublica วันที่ 3 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.