การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะมีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐบาลในประเทศต่างๆ อาจมีแนวทางหรือวิธีการที่คล้ายคลึงกันบ้างและแตกต่างกันบ้าง อันขึ้นอยู่กับทฤษฎีหรือลัทธิทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองผู้ได้อำนาจรัฐให้ความเชื่อถือ
ในบทความนี้ จะตอบข้อสงสัยอย่างสังเขปว่าในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมา
รัฐบาลไทยในเชิงเปรียบเทียบได้อาศัยลัทธิเศรษฐกิจแบบใด และมีตัวอย่างของการพยายามใช้วิธีการจัดการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการรายได้อันเกี่ยวโยงกับการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนอย่างไร และข้อสังเกตเชิงวิพากษ์อันควรพิจารณาถึงในการดำเนินการเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางที่เหมาะสมกว่าหรือสมควรให้ความสำคัญกว่าคืออะไร
ลัทธิเศรษฐกิจและแนวทางการจัดการรายได้และความยากจน
ในบรรดาทฤษฎีหรือลัทธิทางเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่แข่งกันกันในโลกปัจจุบันนั้น อาจจะเห็นว่ามีความหลากหลาย แต่จะพบว่าอันที่จริง การแตกแขนงที่ดูว่าหลากหลายนั้น มาจากกรอบใหญ่ๆ ไม่กี่กรอบเท่านั้น แต่ก็ทำให้แต่ละประเทศนำไปใช้คล้ายคลึงและแตกต่างกันไป
ในบรรดาลัทธิทางเศรษฐกิจทั้งหลายเหล่านั้น ในอดีต-ปัจจุบันมีการใช้เด่นๆกันจำนวนหนึ่ง อาทิ เศรษฐกิจทุนนิยมหรือเสรีนิยมกลไกตลาด เศรษฐกิจสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจรัฐสวัสดิการหรือเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย และ เศรษฐกิจทางเลือก โดยมีทั้งข้อเสนอแบบต้นตำรับหรือดั้งเดิม (Classical Theory) และข้อเสนอใหม่คือมีรากฐานเดิมแต่ปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย (ซึ่งนักวิชาการมักเรียกกันว่า Neo เช่น Neo-Classic Liberal Economy Theory แต่การเรียกว่าใหม่ อันเทียบเท่ากับคำว่า "new" ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ควรเรียกว่าหวนคืนมากกว่า)
เสรีนิยมกลไกตลาดแบบดั้งเดิม ริเริ่มอย่างเป็นระบบในทางวิชาการโดย อาดัม สมิท (ก่อนหน้านี้ก็พอมีนักคิดแนวนี้ แต่ขาดความเป็นระบบในทางวิชาการที่มากพอ) เศรษฐกิจสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ริเริ่มโดย คาร์ล มาร์กซ์ เศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ (หรือเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย) ริเริ่มโดยจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ และลัทธิเศรษฐกิจทางเลือกอื่นๆ ที่พรรคการเมืองและรัฐบาลอาจผสมผสานลัทธิเศรษฐกิจต่างๆเหล่านั้น หรือพัฒนามาจากประวัติศาสตร์ของสังคม เช่น เศรษฐกิจชุมชนนิยม ซึ่งมีในแทบทุกสังคม เพราะเป็นระบบดั้งเดิม และเศรษฐกิจประชานิยมอันเป็นแนวสังคมนิยมแบบหนึ่ง ซึ่งกำเนิดจากกลุ่ม Narodniks ในรัสเซีย (ยุคโค่นล้มพระเจ้าซาร์) แล้วไปเติบโตในละตินอเมริกา ก่อนนำเข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น
แต่สำหรับในบทความนี้ จะเน้นกล่าวถึงลัทธิทางเศรษฐกิจและวิธีการในเชิงเปรียบเทียบที่รัฐบาลไทยใช้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา และมีตัวอย่างประกอบพอสังเขป เพื่อโยงกับการจัดการรายได้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนเท่านั้น อันได้แก่ เศรษฐกิจแนวทุนนิยมเสรี(ใหม่) เศรษฐกิจแนวสังคมนิยม (ใหม่) และ เศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง และทางเลือกที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญ
สาระอื่นๆที่มากกว่านี้ ท่านผู้อ่านคงหาได้จากตำราทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย
ในข้อเขียนที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของลัทธิเศรษฐกิจ สาระสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการรายได้ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และ ตัวอย่างการแก้ปัญหาความยากจนที่รัฐบาลไทยในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมา ใช้ดำเนินการ กล่าวคือ
1.เศรษฐกิจแนวทุนนิยมเสรี (ใหม่): สาระสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการรายได้ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาความยากจน คือ
1.1 เน้นกำไรสูงสุดและกลไกตลาด
1.2 รายได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคคล
1.3 การจัดการรายได้ไม่ลงตัว เกิดปัญหารวยกระจุก แต่จนกระจาย
1.4 ไม่ใช้กลไกที่ส่งเสริมให้คนขี้เกียจ แต่เน้น "สวัสดิการเพื่อส่งเสริมการประกอบการ (workfare)" คือรับสวัสดิการแล้วต้องทำงานได้ประสิทธิภาพ [ถูกเรียกแบบประชด หรือแข่งกับ "สวัสดิการ welfare" ที่นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมองว่าส่งเสริมการอยู่ดีกินดี แต่ทำให้คนขี้เกียจ]
1.5 รัฐไม่แจกเงินแก่ประชาชน แต่หากเป็นลัทธิทุนนิยมเสรีใหม่ อาจแจกเงินคนจน แต่ต้องเป็นคนที่ทำงานอยู่แล้ว หากประเทศเกิดภาวะวิกฤต เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ กระทำบ่อยครั้งไม่ได้ เพราะอาจทำให้ประชาชนติดใจ ไม่ (ขยัน) ทำงาน
1.6 ไม่เน้นการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของแรงงานหรือคนทำงานในอุตสาหกรรม
การดำเนินการทางเศรษฐกิจแนวทุนนิยมเสรี (ใหม่) ในประเทศไทยนั้น นับจากการเปลี่ยนแปลง
การปกครอง พ.ศ. 2575 เป็นไปโดยรัฐบาลแทบทุกชุดของประเทศไทย แต่ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ขอยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาล คสช. ในการจัดการรายได้และแก้ปัญหาความยากจน โดยสังเขปคือ:
1.1 เศรษฐกิจแนวประชาภิวัตน์ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปฏิเสธประชานิยม โดยเน้นกลไกตลาด) อาทิ
(1) แจกเงินคนจน ด้วยเหตุผลเศรษฐกิจตกต่ำ คือ เศรษฐกิจติดลบในช่วงก่อนหน้า ในพ.ศ. 2552 จึงแจกเงินตามโครงการเช็คช่วยชาติรายละ 2,000 บาท เพื่อให้จับจ่ายใช้สอยและเพื่อให้สถานประกอบการมีรายได้และลงทุนในทางเศรษฐกิจ และกระทำเพียงชั่วคราว รวม 9.7 ล้านราย เน้นผู้มีงานทำ (แต่เป็นผู้ประกันตนเสีย 8.1 ล้านราย นอกนั้นเป็นข้าราชการและบุคลากรของรัฐ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป) และใช้งบประมาณราวสองหมื่นล้านบาท)
(2) ไม่เชื่อมโยงศักยภาพของบุคคลที่รับการช่วยเหลือเพื่อหลุดพ้นความยากจนเข้ากับการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจ
(3) เน้นประกันราคาพืชผลหลัก (เช่น ข้าว)
(4) การเรียนภาคบังคับฟรี (แต่โรงเรียนเรียกเก็บอีกไม่น้อย อ้างว่าอยู่นอกเหนือรายการฟรี โดยผู้ปกครองต้องจำยอมจ่าย โดยโรงเรียนหากำไรจากธุรกิจการศึกษาเพราะโรงเรียนกลายเป็นนิติบุคคล ซึ่งเน้นหารายได้กันไปหมด)
(5) ให้ความสำคัญกับการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของแรงงานหรือคนทำงานในอุตสาหกรรมในระดับปานกลาง
1.2 เศรษฐกิจแนวประชารัฐของ คสช. (ชื่อจริงหรือชื่อที่ตรงกับความจริงแบบหนึ่งของรัฐบาล คสช. คือ รัฐบาลพรรคคณะเผด็จการแม่น้ำห้าสายนำโดยทหารผู้เป็นรั้วของชาติ) อาทิ
(1) ดำเนินการเศรษฐกิจแบบประชารัฐนิยม
(2) ประชารัฐของ คสช. ไม่ใช่ "รัฐของประชา" หรือ "รัฐของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน" แต่เป็น "รัฐที่รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนธุรกิจ (ที่เสียงดังฟังชัด) และภาคประชาชน (ที่เสียงแผ่วเบาหรือพูดได้ไม่เต็มที่) ตามแนว NPM หรือ การบริหารภาครัฐแนวใหม่เริ่มในปี 1968 ในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 50 ปีที่แล้ว)
(3) ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งชาติของรัฐบาล คสช. "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่ามีความหมายครอบคลุมเพียงใด
(4) แจกเงินคนจน ด้วยเหตุผลกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย คือ 3.5 – 4% ในพ.ศ. 2559 จึงช่วยเหลือเกษตรกร และคนจนตามโครงการลงทะเบียนคนจนเพื่อรับสวัสดิการ ตามระดับความยากจน คือ จนมากได้มาก จนน้อยได้น้อย (รัฐบาล คสช. กำหนดแจกเงิน ซึ่งเรียกอย่างสุภาพว่า "เงินช่วยเหลือ" ระหว่างวันที่ 1-30 ธันวาคม 2559 สำหรับผู้ว่างงานหรือมีรายได้ สองกลุ่ม โดยกำหนดกรอบความยากจนขั้นต่ำ (Mean test) คือ ผู้ยากจนมาก คือ มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับโอนเงินเข้าบัญชี 3,000 บาท และผู้ยากจนน้อย คือ ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 – 100,000 บาท จะได้รับโอนเงินเข้าบัญชี 1,500 บาท เกินกว่านี้คือมีรายได้ใกล้เคียงค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่ได้รับการคืนเงินตามแนวทางนี้ รวมงบประมาณประมาณเกือบ 1.3 หมื่นล้านบาท และหากรวมช่วยเกษตรก่อนก่อนหน้า 6 พันกว่าล้านบาท เท่ากับประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)
(5) การแจกเงิน รัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อการกระจายรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และแก้ปัญหาความยากจนเป็นสำคัญ
(6) เน้นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าจากธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกระทบแบบทวีคูณ (Multiple effects) (คนจนได้เงินมาจะไม่เก็บ แต่จะจ่ายหมดโดยเร็ว!? ไปยังจุดต่างๆที่มีผลกระทบกว้างขวางที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว)
(7) มีเป้าหมายกระทำทุกปี (อาจจะตลอดกาล!?) (โดยเฉพาะตราบเท่าที่คสช.ยังมีอำนาจเป็นรัฐบาล และมีอิทธิพล กำหนดผู้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560)
(8) ไม่เชื่อมโยงศักยภาพของบุคคลที่รับการช่วยเหลือเพื่อหลุดพ้นความยากจนเข้ากับการเข้าร่วมและเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจ
(9) ขาดการติดตามผลว่าเงินนำไปใช้ที่ใด และ ผู้รับแจกเงินมีงานทำหรือไม่ และทำงานหนักเพิ่มเติมหลังรับแจกเงินๆไปแล้ว
(10) ไม่เน้นการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของแรงงานหรือคนทำงานในอุตสาหกรรม
2. เศรษฐกิจแนวสังคมนิยม (ใหม่): สาระสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการรายได้ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาความยากจน คือ
(1) ไม่ปฏิเสธกลไกตลาดอย่างสิ้นเชิงแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ต้นตำรับ โดยนำกลไกตลาดมาใช้ประโยชน์ (เช่น ในจีน และเวียดนาม อ้างว่าเพื่อให้ประเทศมีความเป็นทุนนิยมจริงๆ เสียก่อน และจึงจะไปสู่สังคมนิยมได้ตามลัทธิมาร์กซิสม์)
(2) ยกระดับรายได้ของประชาชน และกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน
(3) รัฐกำกับกลไกตลาดไม่ให้เป็นผลลบต่อแรงงานและผู้บริโภค
(4) เน้นรับผิดชอบสวัสดิการสังคมของรัฐ แต่แบ่งภารกิจให้ภาคประชาสังคมดำเนินการแทนในกำกับของรัฐ
(5) รัฐสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆในสังคมในแนวประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
(6) รัฐลดทอนการประกอบการเศรษฐกิจเอง แต่ส่งเสริมธุรกิจเอกชนตามกรอบนโยบายรัฐ
รัฐบาลไทยที่ใช้นโยบายตามลัทธิเศรษฐกิจแนวสังคมนิยม (ใหม่) มีไม่มาก ตัวอย่างที่เห็นชัดสมัยรัฐบาลพรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (อดีตผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเงินผันสู่ชนบท และรัฐบาลพรรคชาติพัฒนาของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในเรื่องการออกกฎหมายประกันสังคมที่เคยมีกฎหมายเช่นนี้ เมื่อ พ.ศ. 2497 แต่ประกาศใช้จริงไม่ได้กว่า 30 ปี เพราะนายทุนและฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนมากปฏิเสธ แต่ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ก็มีรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย ในส่วนการจัดการรายได้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน แต่นโยบายส่วนอื่นของรัฐบาลนี้ ก็เป็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมจัด จึงนับว่าใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมสังคมนิยมและทุนนิยมเสรี ดังนี้
เศรษฐกิจแนวประชานิยมของพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย (ในส่วนการจัดการายได้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน) อาทิ
(1) ยกระดับรายได้ของประชาชน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และ เงินเดือนปริญญาตรีแรกเข้า 15,000 บาท
(2) ไม่ (กล้า) แจกเงินโดยตรง แต่แจกทางอ้อม เช่น รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี และกองทุนหมู่บ้าน
(3) ไม่สนใจผลิตภาพการผลิตจากเงินที่รัฐใช้แก้ปัญหาคนจน
(4) เน้นรับจำนำพืชผลหลัก (เช่น ข้าว) ทุกเม็ด = รัฐบาลเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อ-ขายข้าว เอง (เบี่ยงเบนกลไกตลาด แต่เพื่อความเป็นธรรมในสังคม!?)
นอกเหนือจากนี้ เป็นเพียงแนวทางของพรรคการเมือง ที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล โดยมีลักษณะเป็นสังคมนิยมใหม่แบบหนึ่ง เช่น เศรษฐกิจแนวรัฐสวัสดิการของพรรคสังคมธิปไตยในอดีต (พ.ศ. 2550 – 2552) มีนโยบายเศรษฐกิจ (ในแง่รายได้ – ความยากจน) อาทิ
(1) กระจายความมั่งคั่งให้กับประชาชน โดยอาศัยการควบคุมกลไกตลาดในกำกับของรัฐ ให้มีระบบเศรษฐกิจที่แข่งขันแต่เป็นธรรมระหว่างธุรกิจกันเอง และต่อแรงงานและผู้บริโภค แต่ไม่ได้ทำลายกลไกตลาด
(2) ไม่เน้นแจกเงิน แต่เน้นสวัสดิการฟรี เช่น การศึกษา และ รักษาพยาบาล จากเงินของรัฐที่ได้จากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า
(3) สนใจผลิตภาพการผลิตจากเงินที่รัฐใช้แก้ปัญหาคนจน เช่น ติดตามและกระตุ้นให้ต้องมีงานทำอย่างเคร่งครัด
(4) เน้นการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของแรงงานหรือคนทำงานเพื่อทำให้กลไกตลาดไม่แข็งตัวหรือตายตัวเกินไป
ข้อวิพากษ์ของการดำเนินนโยบายแจกเงินคนจนของรัฐบาลปัจจุบัน
ข้าพเจ้าเห็นว่าการแจกเงินคนจนของรัฐบาลปัจจุบัน และมีแผนจะทำอย่างต่อเนื่อง (ผ่านมาตรการลงทะเบียนคนจนเพื่อรับสวัสดิการ) ทั้งในทางหลักการและการปฏิบัติ ยังมีปัญหามากมาย จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยขอตั้งข้อสังเกตต่อไปนี้
1. การโอนเงินเข้ากระเป๋าคนจนเรียกกันหลายชื่อ คือ แจกภาษีช่วยคนจน หรือ ภาษีรายได้ทางลบ หรือ เงินจากภาษีมอบให้คนจน หรือ "เงินช่วยคนทำงาน" หรือ การคืนภาษีแก่คนจน หรือ การโอนเงินช่วยเหลือผู้ไม่จ่ายภาษีเพราะรายได้ติดลบจากระดับพื้นฐาน (Negative income tax) ซึ่งตรงข้ามกับระบบการจ่ายภาษีปัจจุบัน (Positive income tax) เน้นเสริมสร้างอำนาจซื้อของคนจน หรือการช่วยเหลือผู้ประกอบการกันแน่ แต่แท้จริงแล้วย่อมได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หากจัดการได้อย่างถูกต้อง
2. การแจกภาษีช่วยคนจนมีลักษณะคล้ายกับรายได้ขั้นพื้นฐาน (Basic income) ที่มีสำหรับเป็นเงินฟรีจากรัฐที่เป็นหลักประกันรายได้ขั้นต่ำที่ประชาชนพึงได้รับ (ตื่นตัวที่จะใช้กันในยุโรปในปัจจุบันบางประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส แต่ก็ยังกล้าๆกลัวๆกันอยู่ – สวิสเซอร์แลนด์หยุดชะงักไปแล้วเมื่อปีกลายด้วยการทำประชามติ)
3. การแจกเงินเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือการซื้อเสียงหรือไม่ (หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำมาใช้ก็ต้องถูกกล่าวหาว่าทุจริตเชิงนโยบายหรือการซื้อเสียง อย่างแน่นอน แบบที่เคยสมัยนายกสมัคร สุนทรเวช จนต้องเปลี่ยนไปเป็นทางอ้อม คือ รถไฟฟรี รถเมล์ฟรีฯลฯ แต่เมื่อใช้โดยพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐบาล คสช. ก็ไม่ถูกเพ่งเล็งเช่นนั้น หรือมีน้อยมาก)
4. การจัดแบ่งคนจน (หรือที่รัฐบาลเรียกแบบสุภาพมากขึ้นว่าผู้มีรายได้น้อย) โดยดูที่เพียงรายได้ (ต่อวัน/เดือน/ปี) สู้ดูการใช้จ่ายด้วยไม่ได้
5. รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดหวังว่าเงินช่วยแบบนี้คนจนเอาไปใช้หมด และเกิดผลกระทบทวีคูณ (Multiple effects) ในระบบเศรษฐกิจ แต่วัดได้จริงหรือไม่ และวัดอย่างไร การทำเช่นนี้จะลดความยากจนได้จริงหรือ? เพราะความยากจนจะหมดไปเมื่อคนเรามีเงินมีเงินออมมากกว่าเงินใช้จ่ายและหนี้สิน
6. ผู้รับเงินเอาเงินไปซื้อสินค้าไทยหรือต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของใคร หากรัฐบาลมีแนวคิดชาตินิยมคือซื้อของคนไทยก็น่าจะทำให้GNP เพิ่มขึ้น มิใช่ดูแค่ GDP เท่านั้น
7. ผู้รับแจกเงินควรแข็งแรงขึ้นในระบบเศรษฐกิจจริง และไม่มารับเงินในรอบต่อไป แต่หากแจกน้อยก็ไม่พอต่อการตั้งตัวอยู่ดี! จึงต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนให้ประชาชนทราบกติกาล่วงหน้า
8. การให้เงินโดยไม่เน้นเฉพาะคนทำงานหรือจำกัดกรอบอายุ คือ ให้กับผู้ที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป หากครอบคลุมกว้างขวางเช่นนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุที่เกิน 60 ปี ได้รับเงินเพิ่ม เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ จึงเป็นรายได้ซ้ำซ้อนกับเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับอยู่แล้ว (โดยหลักการ - แม้ว่าจะเป็นเงินเพียงเล็กน้อยก็ตาม)
9. ผลกระทบภายนอกที่ไม่ตั้งใจในทางลบ (Negative Externalities) เรื่องนี้ คืออะไร เช่น คนเอาเงินไปก่ออาชญากรรม การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือ กินเหล้าเมายา หรือเล่นการพนัน มีการตั้งเงื่อนไข และตรวจสอบจริงอย่างไร
10. การเกิดขึ้นของผู้รับบริการไม่ใช่บุคคลเป้าหมายจริง (adverse selection) คือ ไม่จนจริง แต่มารับเงินแจกมีหลายแสนคน ในครอบคลุม 5.3 ล้านคน ในคราวต่อไปจะมีมาตรการอย่างไร รวมทั้งการทุจริตทางจริยธรรม (Moral hazard) เช่น การรายงานเท็จว่ายากจนหรือมีรายได้ไม่พอจ่าย หรือทำงานหรือไม่มีงานทำ จะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร
11. รัฐบาลประชานิยมพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยควรเรียกรัฐบาล คสช.ว่าพี่ แม้จะเกิดมาทีหลัง เพราะการแจกเงินของรัฐบาล คสช. แม้จะประมาณสองหมื่นล้านบาท (รวมทั้งเกษตรกรและคนจน) แต่ในทางหลักการและการปฏิบัติดูจะประชานิยมจัดกว่าต้นตำรับ
แนวทางการจัดการรายได้และแก้ปัญหาความยากจนที่ควรจะเป็น
การจัดการรายได้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ที่รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันในรอบ 15 ปี กระทำนั้น ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง เพียงแต่ทำให้ระบบการใช้จ่ายแพร่สะพัดชั่วคราว หาไม่เช่นนั้น ประเทศไทยหลังพัฒนามากว่า 50 ปี นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่เริ่ม พ.ศ. 2504 จะไม่ดำรงอยู่ในสภาพ (กับดัก) ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ตามข้อสรุปของธนาคารโลกและสหประชาชาติมาอย่างยาวนาน และอาจยั่งยืน!? การแก้ปัญหาความยากจนที่ตรงจุดกว่านั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้ เช่น
1. ส่งเสริมบริการปัจจัยพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชน เช่น การศึกษา สุขภาพ เพื่อให้กำลังคนสร้างผลิตภาพแรงงานได้สูง
2. ส่งเสริมการออมเงินตั้งแต่เด็กเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีพและทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพในอนาคต
3. ส่งเสริมการรวมตัวของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในรูปสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือกันเอง (ออมก่อนแล้วกู้ และค้ำประกันหนี้ร่วมกัน)
4. รักษาความสมดุลระหว่าง "การออม – รายได้ - รายจ่าย" และลดหนี้สินครัวเรือนและบุคคล
5. การแจกเงินต้องทราบให้ได้ว่าผู้รับแจกเอาเงินไปทำอะไร ไม่เช่นนั้นอาจเข้าใจผิดได้ว่าเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจเสมอไป คนแจกกับคนติดตามผลต้องเป็นคนละคนกัน เพื่อป้องกันการสรุปผลเข้าข้างตนเอง
6. ส่งเสริมการมีอำนาจซื้อ ให้มากกว่าการมีรายได้สูง แต่กำลังซื้อต่ำ
7. การรับเงินควรเป็นไปอย่างมีเงื่อนไขที่ผู้รับเงินพึงยอมรับ เช่น การเรียนรู้เพิ่มเติม ยอมรับการฝึกอบรมเพื่อประกอบอาชีพ การหางานทำ การทำงานที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของตนและผู้อื่น การทำงานเพิ่มเติม หรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันหรือสัปดาห์
8. หากเงินแบบนี้มุ่งแก้ปัญหาความยากจนจริง ผู้รับเงินต้องหลุดพ้นความยากจนได้จริง (หรืออยู่เหนือเส้นยากจนภายในเวลาที่กำหนด) การไปถึงจุดนี้ได้นั้น การแจสมควรแจกอย่างมีเงื่อนไข
9. จัดกลุ่มคนยากจนออกมาให้ชัดว่ามีกี่กลุ่ม และต้องการการช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องใดบ้าง เช่น รายได้ สุขภาพ การศึกษา เวลา ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิต และความช่วยเหลือจากครอบครัว
10. การแจกเงินที่ผ่านมาถือเป็นการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ที่สมควรมีการวิจัยเชิงประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าประชาชนที่รับเงินนำเงินไปใช้จ่ายอย่างไร และไปสร้างผลกระทบอะไรที่เป็นรูปธรรม มิใช่คาดหวังอย่างเป็นนามธรรมว่าจะเกิด multiple effects ที่วัดจริงไม่ได้ หรือวัดได้ไม่แม่นตรง อันจะไม่ทำให้การแจกเงินของรัฐเสียของ
11. การแจกเงินหรือโอนเงินของรัฐคืนสู่สังคมอาจปรับปรุงให้เป็นระบบเพื่อการจัดการใหม่อย่างเหมาะสมใหม่ คือ 1) ให้แก่รายบุคคล 2) ให้แก่กลุ่มบุคคล 3) ให้แก่องค์การหรือหน่วยงาน และ 4) ให้แก่ท้องถิ่น ว่าควรเป็นแบบใด ควรทำอย่างไร และ ทำไมต้องทำเช่นนั้น
12. หากโอนเงินสวัสดิการสังคมเช่นนี้ ไปที่องค์การหรือสถาบันของประชาชนจะเป็นไปได้หรือไม่ หรือเพิ่มทางเลือกในแนวทางนี้ขึ้นด้วย ก็จะมีผลงานเกิดแบบ Multiple effects ได้ไม่น้อย เช่น ให้ไปที่ สหภาพแรงงาน สหกรณ์ สมาคมวิชาชีพ มูลนิธิหรือองค์การพัฒนาเอกชน หากใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้แห่งละ 5-10 ล้านบาท ก็อาจจะได้ถึง 2, 000 – 4,000 แห่ง องค์การเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้พอสมควร และสามารถติดตามตรวจวัดผลงานได้พอสมควร
สรุป
การใช้จ่ายเงินของรัฐเพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่ผ่านมา ผูกโยงกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม และโดยส่วนใหญ่กระทำไปโดยไม่สนใจอำนาจการต่อรองของประชาชน เพราะเป็นการสงเคราะห์แบบให้เปล่า จะว่าเป็นการหาเสียงของผู้ปกครองรัฐจากภาษีของชาวบ้านก็ไม่ผิด และทำให้ไม่เกิดผลการแก้ปัญหาความยากจนที่ยั่งยืน แต่หากประชาชนรวมตัวอย่างเข้มแข็งและมีอำนาจการต่อรองอย่างสมน้ำสมเนื้อร่วมกันกับผู้มีผลประโยชน์ได้เสียต่างๆ รวมทั้งกับรัฐเองที่ต้องเกื้อกูลให้เกิดขึ้นด้วย รายได้ที่เขาพึงจะได้จากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็จะสูง และนั่นคือการกระจายความมั่งคั่งที่แท้จริง อันหาได้มาจากการรับแจกไม่!
บทเสนอ (Thesis) ของพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยว่าด้วยประชานิยมในการแก้ปัญหาความยากจนและกระจายรายได้ด้วยการแจกโดยอ้อม ถูกโจมตีและบทท้าทาย (Anti-thesis) โดยการแก้ปัญหาความยากจนและกระจายรายได้ ด้วยการแจกเงินโดยตรงแก่ประชาชนแบบพรรคประชาธิปัตย์ผ่านนโยบายประชาภิวัตน์ และพรรค คสช. ผ่านนโยบายประชารัฐ นับว่าเป็นการหลงทิศผิดทางกันไปใหญ่ แต่กระนั้น ทางเลือกใหม่เชิงสังเคราะห์ (Synthesis) ด้วยการแก้ปัญหาตามแนว (ลัทธิ) เศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ (ที่ต้องทบทวนใหม่ในระดับหนึ่ง) ยังคงต้องรอคอย แต่ก็เป็นความหวังที่มีพลังมิใช่น้อยในการแก้ปัญหาการพัฒนาประเทศประชาธิปไตยของเรา
หมายเหตุ: ข้อเขียนข้างต้น ปรับปรุงจากเอกสารประกอบการอภิปรายในงานสัมมนาเรื่อง "แจกเงินคนจน...สวัสดิการหรือประชานิยม" จัดโดย กลุ่มนักศึกษาวิชา ECO499 สัมนาทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ และศูนย์วิจัยนโยบายและประชาคมอาเซียน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องออดิทอเรียม (11-101) อาคารรัตนคุณากร (ตึก 11) มหาวิทยาลัยรังสิต
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.