คราวนี้จะพูดถึงข้าวไทยในยุคที่รุ่งเรื่อง ต่อจากราวที่แล้ว คือความสำคัญของข้าวและชาวนาในยุคนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในการว่าจ้าง นายเย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด (Mr J. Homan Van der Heide) วิศวกรชลประทานชาวฮอลันดามาดำเนินงานชลประทานประเทศไทย และทรงแต่งตั้งให้ นายเย โฮมัน เข้ารับราชการ
พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมคลอง" หรือกรมชลประทานในปัจจุบัน และทรงแต่งตั้งนาย เย โฮมัน เป็นเจ้ากรมคลองคนแรก เพื่อทำหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงคลองต่างๆไม่ให้ตื้นเขินให้มาวางแผนกิจการชลประทานขนาดใหญ่ในบริเวณทุ่งราบภาคกลาง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกข้าวและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวนา
ทั้งยังให้ นายเย โฮมัน จัดทำแผนงานการชลประทานโครงการเจ้าพระยาใหญ่เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวและลดความผันแปรของผลผลิตเนื่องจากดินฟ้าอากาศในแต่ละปี แต่แผนงานที่นายเย โฮมันได้นำเสนอต่อฝ่ายสยามในขณะนั้นไม่ได้นำไปใช้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
การลงทุนขุดคลองสมัยนั้นแม้จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประชาราษฎร์ จึงได้ทรงโปรดให้ใช้เงินจากฝ่ายพระคลังของพระมหากษัตริย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินได้จากภาษีอากรการต่างๆ และรวมถึงการส่งออกข้าว มาลงทุนขุดคลองต่างๆ เป็นสำคัญยกเว้นคลองรังสิตที่ได้ให้สัมปทานกับบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวและรองรับกับการขยายตัวของการส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในขณะนั้น
นอกจากการขยายตัวของการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำและเส้นทางคมนาคมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งเพาะปลูกใหม่ๆได้โดยสะดวกแล้ว ในยุคนั้น ได้ส่งเสริมอาชีพการทำนาและการทำเกษตรกรรมอย่างมาก
ดังจะเห็นได้จากการจัดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวจากมณฑลต่างๆในงานการจัดแสดงและนิทรรศการทางการเกษตรและการค้าครั้งที่หนึ่งที่วังสระปทุม พร้อมการแจกรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศพันธุ์ข้าวประเภทต่างๆ การคัดเลือกนักเรียนทุนเพื่อไปศึกษาทางด้านข้าวและเกษตรกรรม รวมถึงการมีพระราชดำริให้จัดตั้งนาทดลองขึ้น เรียกว่า "นาทดลองคลองรังสิต"
หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งเปิดทำการขึ้นในปี 2459 นาทดลองดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรกของประเทศ" โดยมีพระยาโภชากร เป็นหัวหน้าคนแรกทั้งนี้เพื่อจัดให้มีการคัดเลือกพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการปลูกข้าวของชาวนาไทย ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมการข้าวในปี 2496
การที่ตลาดต่างประเทศต้องการข้าวจากไทยมาก ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาดี ชาวนาส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมีรายได้ดีจากการผลิตข้าว เกิดมีความต้องการที่ดินที่ใกล้ฝั่งคลองเพื่อการเพาะปลูกมากขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นความสำคัญของการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชาวนาและประชาราษฎร์ จึงได้ทรงโปรดให้ปรับปรุงระบบถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากเดิมทีที่ดินทุกแห่งเป็นของพระมหากษัตริย์และการถือศักดินาของผู้ครองนคร มาสู่ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน
ทั้งนี้ ได้มีประกาศการออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) และนำไปสู่การตราพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) และจากการให้กรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินของเอกชนดังกล่าว ทำให้ผู้ที่มีที่ดินจำนวนน้อยก็จัดซื้อหาที่ดินเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เช่าก็สามารถเก็บออมจนสามารถซื้อที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองเพื่อความอยู่ดีกินดีนั่นเอง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความรุ่งเรืองของการค้าภายใต้การเปิดตลาด การสร้างความตระหนักให้ชาวนาได้มีความรู้ความเข้าใจในบริบทของการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการบริหารจัดการในโครงสร้างการผลิต การสร้างกำลังนักวิจัย รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่ดิน เพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับชาวนาเป็นกลไก
ที่สำคัญที่ไม่อาจจะละเลยได้หากจะสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับขาวนาไทย
โดย - รศ.สมพร อิศวิลานนท์
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 17 ก.พ. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.