ชาวนาไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจชาติหรือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งคำกล่าวนี้มีมาแต่โบราณกาล ทั้งนี้ เพื่อยกย่องความสำคัญของชาวนาในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารหลักให้กับคนในชาติ และยังรวมถึงการเป็นผู้จ่ายค่าหางข้าวหรือค่านาให้กับข้าหลวงเดินนาเพื่อเป็นค่าภาคหลวงในการใช้ที่ดินให้กับฝ่ายพระคลังทั้งในสมัยอยุธยาและในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเพราะที่ดินในสมัยนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตรืย์ที่ได้ทรงอนุญาตให้ราษฏรเข้าไปบุกเบิกทำมาหากินและอยู่อาศัย
หลังจากที่ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษปี 2398 ซึ่งอยู่ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เพื่อเปิดประตูการค้าระหว่างประเทศสยามในสมัยนั้นกับประเทศอังกฤษ และสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวยังได้เป็นต้นแบบของสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันกับชาติตะวันตกอีกหลายประเทศ ผลของการทำสนธิสัญญาได้ทำให้สิทธิในการที่ชาติตะวันตกจะซื้อสินค้าจากสยามสามารถติดต่อจัดทำได้กับเอกชนทั่วไป และในขณะเดียวกันก็เป็นการทอนอำนาจการผูกขาดของฝ่ายพระคลังในสมัยนั้นต่อกิจกรรมการค้าลงไป
ในอดีตการผลิตข้าวของโลกและของเอเชียมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้เพราะการผลิตข้าวทำได้เพียงปีละครั้ง ประเทศในเอเชียหลายประเทศที่มีพลเมืองมากและมีที่ดินต่อประชากรจำนวนน้อย มีผลผลิตข้าวไม่เพียงพอที่จะใช้เลี้ยงประชากรภายในประเทศของตน และต้องนำเข้าข้าวเพื่อทดแทนอุปทานผลผลิตที่ขาดไปและพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ประเทศไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากการมีประชากรในอดีตจำนวนน้อยและมีที่ดินต่อประชากรในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เจมส์ ซี อินแกรม ได้อธิบายว่าในปี 2438 ประเทศไทยมีประชากรเพียง 5 ล้านคน การผลิตข้าวของไทยในยุคนั้นจึงมีมากเกินพอแก่ความต้องการภายในประเทศ
การทำสนธิสัญญาการค้ากับชาติตะวันตกในขณะนั้น ได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อการส่งออกสินค้าข้าวและการขยายตัวของตลาดการค้าข้าวของไทยในตลาดต่างประเทศ ข้าวได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยตั้งแต่นั้นมา พร้อมกับการสร้างรายได้ให้กับประเทศและชาวนาไทยเป็นอย่างมากดังจะเห็นได้ว่า มูลค่าส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นจาก 1.87 ล้านหาบ(1 หาบประมาณ 60 ก.ก.) เฉลี่ยในช่วงปี 2413-2417 มาเป็น 15.22 ล้านหาบ เฉลี่ยในช่วงปี 2453-57และเพิ่มขึ้นเป็น 25.37 ล้านหาบ เฉลี่ยในช่วงปี 2473-77ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวได้ขยายตัวจาก 11.5 ล้านไร่เฉลี่ยในช่วงปี 2453-57 มาเป็น 20.1 ล้านไร่เฉลี่ยในช่วงปี 2473-77
ความรุ่งเรืองของการค้าข้าวและสินค้าข้าว ทำให้เกิดการขยายตัวของการขุดคลองเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆในภาคกลางเข้าด้วยกันกับแม่น้ำสายหลักๆที่มีอยู่เดิมทั้งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และต่อเนื่องมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เช่น ในด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน รวมถึงคลองทวีวัฒนาและคลองพระพิมล สำหรับในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ได้มีการขุดคลองพระโขนงที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองด่านและมีคลองประเวศบุรีรมย์ที่เชื่อมคลองพระโขนงกับแม่น้ำบางปะกง คลองรังสิตที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำป่าสักเข้าด้วยกัน เป็นต้นคราวนี้จะพูดถึง ความสำคัญของข้าวไทยในยุคในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ครับ!
โดย - สมพร อิศวิลานนท์
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 10 ก.พ. 2560