การแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตัวแปรที่เกิดขึ้นทั้งคาดการณ์ได้ และคาดการณ์ไม่ได้ เกิดขึ้นตลอดเวลา มีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับธุรกิจจนความล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จ อยู่ห่างกันนิดเดียว
แน่นอนการแข่งขันตัวคนเดียว นอกจากจะเป็นการแบกความเสี่ยงไว้ในระดับปัจเจก ความคิดเรื่องการรวมกลุ่ม คิดและทำในลักษณะองค์กร จึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบสหกรณ์ เพราะเมื่อมีการร่วมตัดสินใจกันในลักษณะองค์รวมมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะลดลงนั่นเอง
ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ลองไปฟังตัวอย่างดีๆ จากสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จกันดีกว่า ว่าหลักสำคัญสำหรับคนที่สหกรณ์ ที่จะทำอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
นางสุรีรัตน์ จอมแปลง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตร อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ วิทยากรเสวนาหัวข้อ "สหกรณ์การเกษตรพร้าว โมเดลความสำเร็จชาวนา 4.0" บนเวทีงานวันยางและกาชาดบึงกาฬ เผยเคล็ดลับดีๆ ที่ผู้อ่านที่กำลังสนใจควรรู้ โดยกล่าวว่า
หากถอดบทเรียนความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตร อ.พร้าว ที่ทำนาครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ชาวนาได้ ก็จะพบว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสหกรณ์ชาวสวนยาง หรือกลุ่มเกษตรกรสวนยางได้เช่นกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ
1.ตัวเกษตรกร ที่ต้องรู้จักศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง รู้จักปรับตัว ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ยึดติดการทำเกษตรรูปแบบเดิมๆ หากไม่ได้ผลก็รู้จักที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก เพื่อผลผลิตที่สูงขึ้น และต้นทุนที่ลดลง
2.กรรมการสหกรณ์ ที่ต้องเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถ และมีความทุ่มเทให้แก่สหกรณ์
3.ผู้จัดการสหกรณ์ ที่เป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และการตลาด รู้จักแนวโน้มของการตลาดว่า ขณะนี้ตลาดมีความต้องการอะไรบ้าง สินค้าแบบใดเป็นที่นิยม เพื่อพัฒนาและต่อยอดลงไปในสินค้าเกษตรที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ โดยเมื่อทั้ง 3 ส่วนรวมด้วยการอย่างเข้มแข็ง ก็จะทำให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง
นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า เมื่อสหกรณ์มีความเข้มแข็งแล้ว สหกรณ์จะต้องมี 3 แผน คือ
1.แผนการผลิต ที่ต้องประเมินตามสถานการณ์ของตลาดว่า ขณะนี้มีความต้องการเท่าไหร่ แล้วจะผลิตเท่าไหร่ รวมทั้งจะยกระดับการพัฒนามาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้นได้อย่างไร
2.แผนการตลาด จะต้องดูแนวโน้มของตลาดว่า ต้องการสินค้าประเภทใด แนวโน้มเป็นอย่างไร หากไม่มีตลาดก็ต้องรู้จักแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อหาช่องทางการระบายสินค้าเกษตรที่ผลิตมาได้ รวมทั้งอาจนำสินค้ามาแปรรูป หรือปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด จะเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในแก่สินค้าได้อีกทาง
3.แผนการเงิน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อที่สหกรณ์จะได้รับรู้ถึงรายรับ และรายจ่ายว่าสมดุลกันหรือไม่ หากไม่สมดุลจะต้องลดรายจ่ายอย่างไร หรือเพิ่มรายได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงิน รวมทั้งหากต้องการที่จะขยายการลงทุน ซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม จะต้องหาแหล่งเงินทุนจากทางใดบ้าง เมื่อทำได้ตามนี้ เชื่อว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะมีระดับรายได้ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
"ดิฉันเชื่อว่า หากเกษตรกรชาวสวนยางไม่ต่างคนต่างอยู่ มีการร่วมกลุ่มเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง และดำเนินการตามทั้ง 3 แผนข้างต้น จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีกว่าชาวนา อ.พร้าว อย่างแน่นอน เนื่องจากชาวสวนยางมีข้อได้เปรียบมากว่าชาวนา คือ สามารถเกี่ยวเก็บผลผลิตได้ทุกวัน แต่ชาวนายังต้องรอเป็นฤดูกาล ทำให้ชาวสวนมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ หากสหกรณ์มีความเข้มแข็งร่วมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ ซึ่งช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองซื้อปัจจัยการผลิตได้ถูกลง จะยิ่งช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปอีก และหากยิ่งได้ผู้จัดการสหกรณ์ที่เข้มแข็งรู้จักหาตลาด และคิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ยางสามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนมากยิ่งขึ้นไปอีก" นางสุรีรัตน์กล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 ก.พ. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.