สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะมีการทบทวนสัญญาเช่าที่ดินส.ป.ก.
ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ นครราชสีมา และชัยภูมิ ที่เอกชนเช่าที่ดินเป็นพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองที่ตัดสินกรณีบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ที่มีแผนก่อสร้างในพื้นที่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเอกชนรายอื่นที่ใช้ที่ส.ป.ก.เช่นเดียวกัน แต่จะมีการยกเลิกหรือทบทวนค่าเช่าจะต้องรอผลการพิจารณาของส.ป.ก.อีกครั้ง โดยคาดว่าสัปดาห์หน้าจะเกิดความชัดเจนขึ้น
ประเด็นที่น่าพิจารณามากกว่าคำสั่งศาลปกครอง ซึ่งเป็นการพิจารณามิติของข้อกฎหมาย คือ ในเรื่องของความเป็นธรรมทางสังคม ระหว่างชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.และได้เอกสารสิทธิ์ กับบริษัทเอกชนผู้ดำเนินการ ซึ่งในบางประเทศที่มีการพัฒนาพลังงานลม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามักจะจ่ายชดเชยให้กับประชาชนเจ้าของพื้นที่ เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จากเสียงการผลิตกระแสไฟฟ้า และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการก่อสร้าง แม้ว่าผลการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมมักจะระบุว่าไม่ส่งผลกระทบโดยตรง
ในกรณีของพื้นที่ส.ป.ก. ทางบริษัทเอกชนมีการจ่ายค่าเช่าพื้นที่เช่นเดียวกับมาตรฐานทั่วไป แต่สิ่งที่น่าพิจารณาคือจ่ายให้กับส.ป.ก.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ในขณะที่ชาวบ้านผู้มีสิทธิในที่ดินทำกินไม่ได้ประโยชน์จากค่าเช่า ดังนั้นเท่ากับว่าชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่ได้ประโยชน์จากโครงการ แม้จะตีความว่าได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวหรือด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการทรัพยากรของภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่
นอกจากนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ยังเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการหาแหล่งพลังงานทดแทน โดยให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้กับภาคเอกชนลงทุน ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการส่งเสริมของภาครัฐนั้นไม่สามารถมองให้เห็นถึงผลกระทบด้านอื่น นอกจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่สามารถเพิ่มเข้ามาในระบบ โดยละเลยประเด็นสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรและสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม
ในกรณีพื้นที่ส.ป.ก.ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนเรื่องใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ในสังคมไทย นั่นคือการแย่งชิงทรัพยากรเพื่อมาใช้ในการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรณีของพลังงานลมที่มองว่าเป็นทรัพยากรที่ได้เปล่าในธรรมชาติ แต่หากคิดในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินแล้ว พลังงานลมจึงไม่ใช่เป็นทรัพยากรที่ได้เปล่าอีกต่อไป แต่เป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นสิทธิของประชาชนในพื้นที่ในการเข้าถึงเช่นเดียวกัน แม้ประชาชนเหล่านั้นจะไม่มีศักยภาพการลงทุน
แต่กรณีของส.ป.ก.กำลังเกิดปัญหากฎหมาย ซึ่งอาจมีการฟ้องร้องไปยังโครงการอื่นในลักษณะเดียวกัน แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย แต่นับว่าเกิดความผิดพลาดตั้งแต่ต้นที่มีการตีความจากส.ป.ก.ให้สามารถเข้าประโยชน์ในลักษณะดังกล่าวได้ ในขณะเดียวกัน ขณะนี้ก็ได้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนไปแล้ว จึงเป็นเรื่องใหญ่หากจะมีการยกเลิกทั้งหมด ซึ่งภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องค่าเสียหายจำนวนมาก แต่การเดินหน้าก็ติดข้อกฎหมายหากมีการตีความตามคำสั่งศาลปกครอง
ดังนั้น ในกรณีนี้ ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาโครงการรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากหน่วยงานรัฐเองหรือให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ซึ่งการพิจารณาโครงการต่างๆจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งประเด็นเศรษฐกิจอาจไม่ใช่เหตุผลเดียวเท่านั้นที่เราต้องตัดสินในนโยบายสาธารณะ แต่เราต้องใช้มุมมองอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ได้รับผลกระทบในฐานะเจ้าของพื้นที่
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 ก.พ. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.