เปิดงานวิจัยสกว. กระบวนการสำคัญในการต่อสู้ เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิมและการแก้ปัญหาทางออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
กรณีศาลภูเก็ต มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องชาวชุมชนราไวย์ในคดีพิพาทที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยระหว่างชาวเลราไวย์กับเอกชน จำนวน 4 คดี โดยศาลวินิจฉัยจากหลักฐานการอ่านแปลภาพถ่ายที่สำนักพระราชวังบันทึกเสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่บ้านราไวย์ เมื่อปี พ.ศ.2502 ซึ่งมีชาวราไวย์เฝ้ารับเสด็จ ทำให้ศาลเชื่อว่า ที่ดินนี้เป็นชาวเลราไวย์ที่อยู่มาก่อนการเอกสารสิทธิในโฉนดของนายทัน มุขดี ที่นำมาฟ้องร้องขับไล่ชาวชุนชนราไวย์
ในกรณีนี้ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ด้านชุมชน ท้องถิ่น พื้นที่ และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวถึงแนวทางในการสืบค้นข้อมูลเพื่อยืนยันสิทธิของที่อยู่ว่า ชุมชนราไวย์ เป็นชุมชนหนึ่ง ที่ใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.เรื่องการสืบค้นประวิติการตั้งถิ่นฐานและวิถีวัฒนธรรม เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิมและการแก้ปัญหาทางออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล บ้านราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
โดยฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เข้าไปหนุนเสริมให้ชาวบ้านได้รู้จักตัวเอง รู้จักปัญหา ด้วยกระบวนการวิจัยแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขอย่างเป็นระบบ กล่าวคืองานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ชาวบ้านมีกระบวนการในการสืบค้น และจัดเก็บข้อมูล เพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคม ซึ่งถือเป็นชุมชนชาวเลต้นแบบของชุมชนชาวเล 41 ชุมชน 2,758 ครอบครัวที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต สตูล พังงา ระนอง และกระบี่
รองผู้อำนวยการ สกว.กล่าวอีกว่า การทำวิจัย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน ในส่วนของข้อมูล ขณะเดียวกันการจัดเก็บข้อมูลในแต่ละเรื่องเป็นการทำงานร่วมกันของชุมชน และเครือข่าย ทั้งในส่วนของ สกว.มูลนิธิชุมชนไทย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น
สำหรับเอกสารอ้างอิงประกอบรายงานการวิจัยเรื่องดังกล่าว รองผู้อำนวยการ สกว เปิดเผยว่า คล้ายกับการวินิจฉัยของสาร ซึ่งเป็นวีดีทัศน์ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยวเยียนชาวเล หาดราไวย์ เมื่อปี พ.ศ.2502 ซึ่งขณะนั้นมีบ้านเรือนจำนวน 40 หลังคาเรือน โดยในภาพ เป็นภาพที่ "ชายหยม" ชาวเลราไวย์ เข้าเฝ้าฯรับเสรด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และหลักฐานทะเบียนนักเรียนโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่ และมีอายุมากกว่า 70 ปี รวมถึงภาพถ่ายชาวเลราไวย์รับใบประกาศนียบัตรที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่วัดสว่าง ตลอดจนภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และการอาศัยของชุมชนราไวย์ใน 6 ช่วงปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2493-2552 ซึ่งชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงในการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชุมชน
สำหรับข้อสรุปในการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลราไวย์ ผศ.ดร.บัญชร เสนอว่า เบื้องต้นรัฐต้องดำเนินการบรรเทาในเรื่องระบบสาธารณูปโภค และเร่งรัดเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชน พร้อมกับเยียวยาชาวเลราไวย์ และการจัดระบบที่ดินเป็นพื้นที่โฉนดรวมหลังจากการเพิกถอนเอกสารสิทธ์ของเอกชน เพื่อป้องกันการสูญเสียที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเลในอนาคต
ภาพข่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 ก.พ. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.