"...การลดความเหลื่อมล้ำรัฐต้องเอางบประมาณไปให้การศึกษาให้บริการพื้นฐานไม่ใช้เอาไปซื้ออาวุธเพราะต่อให้เราเก็บภาษีให้ตายหากเราไม่ได้เอาไปใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำสุดท้ายก็กลายเป็นการคอรัปชั่นกัดกร่อน คอรัปชั่นจึงเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ..." ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
หลายคนคงตกใจไม่น้อยหากจะบอกว่า คนไทยร้อยละ 40 ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนอีกร้อยละ 37 ไม่มีโฉนดที่ดิน และที่เหลือไม่มีที่ดินเพียงพอในการทำมาหากิน และในขณะที่คนจนที่สุดยังคงดิ้นรนเพื่อที่จะมีที่ดิน หรือไม่ให้สูญเสียที่ทำกินที่มีอยู่ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ทั้งหลายก็แทบจะไม่ได้ใช้ที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ใดๆ
ในปี 2545 กลุ่มผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 5,000 ไร่ ใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
ความเท่าเทียมกันตรงจุดนี้ จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าหากจะมีการปรับแก้เพื่อลดช่องว่าง เท่าไรจึงจะเท่ากัน
บนเวทีเสวนาเรื่องความเหลื่อมล้ำ 'เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?' ที่จัดโดย องค์การ อ๊อกแฟม(Oxfam) ประเทศไทย
อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร Way Magazine ตั้งประเด็นชวนคิดว่า ในทฤษฎีหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในสังคมไทย นั่นคือทฤษฎีเกษตรพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เศรษฐกิจพอเพียงบอกเราว่า ให้ครอบครัวหนึ่งมีที่ดิน 15 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกพืชหมุนเวียน 5 ไร่ 3 ไร่ขุดบ่อเลี้ยงปลา เหลืออีก2 ไร่เอาไว้ปลูกเรือนชานที่อยู่อาศัย
ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ 321 ล้านไร่ มีประชากร 66 ล้านคน แบ่งเป็นครัวเรือนประมาณ 20 ล้านครัวเรือน ถ้าเราแบ่งที่ดินให้ครัวเรือนละ 15 ไร่ สามารถหารได้ลงตัวกับพื้นที่ประเทศไทยอย่างพอดี อันนี้แสดงถึงปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 9
คำถามคือว่า ผมชอบเขียนหนังสือ ชอบทำสื่อด้วย งั้นผมขอต่อรองได้ไหม ผมขอที่ดิน 15 ไร่แถวลาดพร้าว ผมจะได้ทำเกษตรด้วย ทำสื่อไปด้วย หรือ คนอื่นอาจจะบอกว่า ขอที่ดินแค่ครึ่งไร่ แต่ขอทำเลใกล้รถไฟฟ้า จะได้สร้างบริษัทให้พนักงานมาทำงานได้สะดวก
"จากคำถามตรงจุดนี้ เรามองเห็นอะไร" อธิคม ชวนคิด คำตอบคือ เกิดการต่อรอง กุญแจของการบอกว่า "เท่าไรถึงเท่ากัน"จึงอยู่ที่การต่อรอง แลวเมื่อไรจะเกิดบรรยากาศของการต่อรอง
"เวลาเราต่อรองกับใคร อันดับแรกเราต้องมองเห็นเขามีตัวตนก่อน ลำดับที่สอง การต่อรองเกิดขึ้น เมื่อเรายอมรับสิทธิ และอำนาจการต่อรองอีกฝ่ายหนึ่ง" อธิคมกล่าว
แล้วระบบการเมืองการปกครองเเบบไหน ที่เอื้อให้เกิดการต่อรอง คือคำถามอีกชุดที่อธิคมชวนคิด
อธิคม พยายามอธิบายคำตอบของคำถามนี้ว่า ในเชิงกระบวนการหรือรายละเอียดขั้นตอนการต่อสู้ต่อรอง เราไม่จำเป็นต้องออกไปเป็นคู่เจรจาต่อรองด้วยตัวเองเสมอไป ระบบการเมืองการปกครองที่มีอารยธรรมถูกออกแบบมารองรับสถานการณ์เช่นนี้อยู่แล้ว
ยกตัวอย่างการต่อรองในกรณีขนส่งมวลชนว่า ถ้าผมเห็นด้วยว่าประเทศเราต้องการระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย ระบบรางที่มีประสิทธิภาพ แต่เรื่องพวกนี้ผมจะมีความรู้มากกว่าคุณชัชชาติ(อดีตรัฐมนตรีคมนาคม)ได้ยังไง
เพราะฉะนั้น ผมจึงให้คุณชัชชาติออกไปเป็นคนต่อรองแทน โอเค ต่อรองแล้วได้คำตอบว่า ให้ถนนลูกรังหมดประเทศก่อนค่อยทำระบบราง อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า เออ เขาสามารถตอบแบบนี้ก็ได้ด้วย
อธิคม มองว่าปัญหาที่กล่าวมาจึงสะท้อนให้เห็นว่า ถ้ากลไกการต่อรองและการตัดสินใจเป็นไปโดยปกติ เราก็ไม่ต้องมานั่งอึดอัดคับแค้นเหมือนกรณีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีคนคัดค้าน 300,000 กว่า แต่แพ้เสียงคนแค่ 10 กว่าคน
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเท่าไหร่ถึงเท่ากัน อธิคมจึงสรุปว่า กุญแจสำคัญคือจงอย่าใด้มีใครบังอาจไปถือสิทธิ์ ตอบคำถามนี้แทนคนอื่น เราต้องให้ผู้เกี่ยวข้องเจรจา เข้าไปต่อสู้ ต่อรอง
"พูดง่ายๆ ก็คือ เริ่มจากเห็นหัวกันก่อน เมื่อเห็นตัวเห็นตนกันแล้ว กรุณาเห็นด้วยว่าเรามีสิทธิ์ มีอำนาจ ในการเข้าไปเจรจาเข้าไปต่อสู้ เข้าไปต่อรอง เพื่อที่จะบอกว่าต้องเท่าไหร่" อธิคมกล่าว
ขณะที่สื่อควรทำหน้าที่อธิบายเรื่องเหล่านี้อย่างไรนั้น อธิคมให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาทุกท่านคงบังเกิดความอึดอัด คับข้องใจในช่วงความขัดแย้งในรอบสิบปี สื่งน่าจะทำหน้าที่อธิบายว่าเหตุใด เราถึงยังพัวพัน กับเรื่องเหล่านี้ รากที่ลึกที่สุดคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ตัวละครต่างๆ ล้วนแต่เกิดจากเรื่องเล่านี้
ยกตัวอย่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพิ่งมีการพูดเรื่องของต้องเอาคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ช่วงปี2540-44 สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา เรามองไม่เห็นคน เราไม่สนใจว่าคนอยู่ตรงไหน เราเพิ่งมาตระหนัก เมื่อเวลาผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษ
เราเพิ่งมีคำว่าสิทธิชุมชนปรากฏในรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 ที่เขียนเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น นโยบายบางอย่างที่ทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน การรักษาพยาบาล ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่คือการผลักดันจากรากหญ้า หน้าที่นักการเมืองคือตอบสนองความต้องการของประชาชน
เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในหลายๆ เรื่องเวลาเราพูดถึงสื่อว่าทำหน้าที่นั่นนี่ แต่ความจริงสื่อคือธุรกิจอย่างหนึ่งเราจึงพบว่าบทบาทของสื่อกระแสหลักไม่มานั่งอธิบายว่า มูลเหตุต่างๆ เกิดจากความเหลื่อมล้ำ การอธิบายอย่างนั้นไม่สามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้ ต้องสร้างตัวละคร สร้างผู้ร้าย เพื่อการสื่อสารที่ง่ายในสังคม
อธิคม มองว่า ปัจจุบันสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม มีอิสระ มีโอกาส มีช่องทางในการทำงานหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันสื่อดั้งเดิม ยังปรับตัวไม่ทัน
" การเกิดขึ้นของสื่อรายย่อย จึงช่วยเติมข้อมูล เสนอมุมมองบางมุมที่อาจจะถูกละเลย"
"สำหรับบทบาทของคนเล็กคนน้อยในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่อยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร เสียงเจี๊ยวจ๊าวที่เคยเป็นเสียงนกเสียงกา เมื่อมันถูกจัดการ ออกแบบขบวน และผูกเครือข่าย เรามาเจอกัน มองเห็นว่าใครทำอะไรได้บ้าง จากเรื่องที่เคยทำคนเดียว ทำได้เฉพาะเรื่องเล็กๆ มันก็อาจผลักดันไปสู่ผลลัพธ์ที่ขยายผลใหญ่ขึ้น กระทั่งอาจส่งผลไปถึงการออกแบบนโยบายสาธารณะ"
เพราะฉะนั้นการเชื่อในเสียงของตัวเอง อดทนที่จะอยู่ร่วมในเสียงเจี๊ยวจ๊าวตามธรรมชาติของสังคมเปิด เราก็จะได้ยินเสียงที่หลากหลาย มองเห็นกันและกันมากขึ้น ระบบสังคมที่ถูกต้องมันจะไม่มีใครมานั่งพูดคนเดียวให้คน 60 ล้านคนฟัง
"สังคมที่เปิดให้มีเสียงหลากหลาย เรียนรู้ที่จะผูกเครือข่าย ดึงคนที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันมาช่วยกันทำงาน เคารพในสิทธิ เสียงและอำนาจต่อรองซึ่งกันและกัน บรรยากาศสังคมแบบนั้นต่างหากที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ" อธิคมกล่าว
ขณะที่ทางด้าน "คนจนเมือง มีปัญหาเรื่องการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยมากที่สุด" นี่คือสิ่งที่ นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค สะท้อนปัญหาที่น่าห่วง โดยเฉพาะสถานการณ์การไล่เรื้อที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
"การเวนคืนที่ดิน พื้นที่ริมคลอง ที่ดินเพื่อสร้างรถไฟฟ้า คนอื่นอาจคิดว่ารถไฟฟ้าสำคัญ แต่อย่าลืมว่ารถเมล์ยังเป็นขนส่งพื้นฐานของคนชั้นแรงงานในเมืองที่เข้าถึงมากกว่า"
เรื่องที่ทำกิน เรื่องการไล่ที่ป่า เพื่อนำไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราอ้างว่าจะความเจริญมาสู่เมือง แต่ชาวบ้านที่ทำมาหากินไร้ที่ดินทำกิน เพราะถูกต่างชาติเข้ามาเช่า ปลูกพืชผักเอง เรากำลังจะสูญเสียที่ดิน
นุชนารถ เล่าว่าคนในสลัมมักถูกมองว่าพอลูกโตอายุได้ 14-15 ก็มีผัว ติดยาเสพติด แต่ปัญหาที่แท้จริงคือเรื่องการเข้าถึงการศึกษาที่ดี ขาดโอกาสที่จะแข่งขันทางการศึกษา ความรู้ไม่มี การศึกษาไม่สูงพอ งานก็ทำได้ไม่กี่อย่าง เป็นแรงงานเพราะไม่มีโอกาสให้เลือก การศึกษาจึงสำคัญ
เพราะฉะนั้นการจะลดความเหลื่อมล้ำการต่อรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างเรื่องบัตรทองหรือโครงการบ้านมั่นคง ก็เป็นสิ่งที่พวกเราเป็นคนผลักดัน การมีประชาธิปไตย อย่างน้อยคนจนก็มีสิทธิแสดงออก เรามีทุกข์ มีความยากจน ลำบาก สามารถบอกนักการเมืองได้ และหากนักการเมืองไม่ทำ เราก็มีสิทธิ์ไม่เลือกได้เช่นกัน
"เราเป็นเจ้าของเสียง เป็นเจ้าของสิทธิ์ เราเลือกคนที่ทำงานให้สังคม เราจะมองถึงว่าพรรคหรือนโยบายไหนที่สามารถช่วยได้ แก้ไขปัญหาได้ เราไม่ได้มองที่ตัวบุคคลด้วยซ้ำ" นุชนารถกล่าวและว่า ถ้าเราเห็นแก่ตัวน้อยลง เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้นให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มองคนจนแบบสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นในลักษณะเยียวยา มันไม่สามารถแก้ไขหรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างถาวร
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสะท้อนสภาวะความเหลื่อมล้ำที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่เป็นFifty Shades of Inequality คือถ้าเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำเป็นขาวกับดำ เช่น คำอธิบายว่า คนรวยแปดคน ที่มีรายได้ 80เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ หรือว่ามีการถือที่ดินกี่เปอร์เซ็นต์ มันดูไกลตัวเกินไป ดำกับขาวเกินไป
จริงๆ แล้ว ความเหลื่อมล้ำมันอยู่ทั่วไปรอบตัวคนทุกคน ซึ่งมีตั้งแต่สีขาว สีเทาอ่อน สีเทาเข้ม สาเหตุเนื่องมาจากสังคมไทยชินชากับความเหลื่อมล้ำ จนเรายอมรับไปแล้ว เราเดินวันนี้เราเห็นได้เลย คนที่รุกล้ำทางเท้าขายของ อันนี้เหลื่อมล้ำไหมนักเรียนกวดวิชาในเมือง เหลื่อมล้ำไหม อีกอย่างสังคมเราชินกับคำว่าเป็นเรื่องของบุญวาสนา
"แต่ปัญหาเหล่านี้คือความไม่ยุติธรรมทางโอกาส เหมือนคนที่วิ่งแข่งกัน แต่จุดสตาร์ทไม่เท่ากัน"
ชัชชาติ มองว่าหน้าที่หลักของภาครัฐคือ สร้างความเจริญให้ประเทศ แล้วย้อนกลับให้คนที่มีโอกาสน้อยทั้งสองส่วนต้องบาลานซ์กัน คือ ทุนนิยม (capitalism) แล้วย้อนกลับมาอันนี้สองคือประชาธิปไตย
"เราพูดเเต่เรื่อง GDP เพิ่มเท่าไร แต่ไม่เคยพูดเรื่องรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร การกระจายรายได้คือโอกาสทางสังคม"
ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่ชาชินอย่างหนึ่งและถือเป็นสุดยอดแห่งความเหลื่อมล้ำคือเรื่องคมนาคม อดีตรมต.คมนาคม กล่าวว่า คนรวยคนจนต้องแชร์ถนนเดียวกัน ท้องถนนจึงเป็นส่วนผสมของความไม่ธรรมมากที่สุด เราทำรถไฟฟ้า 4 แสนล้านบาทแต่ขณะที่รถเมล์ ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาทแต่ไม่เคยสำเร็จ
ในกรุงเทพฯ มีรถเก๋งจำนวน 4 ล้านคันต่อวัน ที่สัญจรอยู่ตามถนน ขณะที่ขนส่งมวลชนซึ่งผู้ใช้บริการมากที่สุดอย่างรถเมล์พบว่ามีอยู่เพียง 5,000 คันเท่านั้น วิธีแก้ต้องเอารถเมล์มาใช้แก้ปัญหารถติด เราไปเน้นเรื่องรถไฟฟ้า แต่เราลืมเบสิคคนส่วนใหญ่
คนจนส่วนใหญ่ยังคงโดยสารผ่านรถเมล์ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคนต่อวัน ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมีจำนวนผู้โดยสาร 700,000 คน ต่อวัน รถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 400,000 คนต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รถเมล์คือหัวใจการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ชัชชาติ ชี้ว่า ระบบทุนนิยมทำให้บริษัทใหญ่ๆ เข้าไปครอบครองตลาดทั้งหมด ดังนั้นบทบาทของรัฐ จึงต้องเข้าไปเกลี่ยความยุติธรรมตรงนี้ โดยที่รัฐจะต้องไม่ถูกกลืนหรือถูกครอบงำจากบริษัทใหญ่ๆ ได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จะต้องบาลานซ์กับทุนนิยมได้คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องเอาเสียงส่วนใหญ่ของคนอื่นมารับฟัง
"ถ้ามีการแข่งขันที่ดี ความเหลื่อมล้ำจะลดลง ยกตัวอย่าง สายการบินโลวคอสที่ทุกคนบินได้ แข่งขันอย่างเป็นธรรม"
สุดท้ายเเล้วความเหลื่อมล้ำขั้นแรก ไม่ได้แก้ที่ตัวรัฐบาล เราต้องเริ่มจากตัวเรา เราต้องเห็นความสำคัญของชีวิตคนอื่นด้วยการมองความเหลื่อมล้ำจะเปลี่ยนไป ขอให้เรามีใจดูคนรอบตัวเรา เราจะมีความรู้สึกดูเเล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงจากภายในได้ ชีวิตทุกคนสำคัญเท่ากัน
ส่วนระดับบน เรื่องอย่างการคอรัปชั่นด้านนโยบาย หลักการลดความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องเอางบประมาณไปให้การศึกษา ให้บริการพื้นฐาน ไม่ใช้เอาไปซื้ออาวุธ เพราะต่อให้เราเก็บภาษีให้ตาย หากเราไม่ได้เอาไปใช้ ในการลดความเหลื่อมล้ำสุดท้ายก็กลายเป็นการคอรัปชั่นกัดกร่อน คอรัปชั่นจึงเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ
ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการบริษัทป่าสาละ มองว่า โลกปัจจุบัน เราไม่สามารถปฏิเสธทุนนิยมได้ นั่นหมายความว่าย่อมไม่มีความเท่าเทียมอยู่เเล้ว และถ้าเราอยากให้ทุกอย่างเท่าเทียมก็ต้องกลับไปเป็นแบบคอมมิวนิสต์ คำถามของโจทย์ตรงนี้ คำตอบสองมุมคือ ข้อเท็จจริง และศีลธรรม
แน่นอนเรามีคนจำนวนมากที่เป็นคนดี คนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อยากรู้ว่าสถานการณ์ของผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างไร และอีกด้านคือ คนเห็นแก่ตัวที่พยายามมองไปข้างหน้า กล่าวคือ เราสามารถอยู่ได้ไหมโดยไม่พึ่งพาคนอื่น คนที่มีอะไรน้อยกว่าเราคำตอบคือ เป็นไปไม่ได้
ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะสนใจคนที่เราพึ่งพาว่าเขาเป็นอย่างไร หากเราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว ก็จำเป็นที่เราต้องสนใจ เขาคิดยังไง รู้สึกยังไง
สฤณี ชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัญหาทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจลดลง ถ้าเรามีความเหลื่อมล้ำมากๆ แล้วเราทิ้งให้คนในสังคม ไม่สามารถสร้างผลผลผลิต ทำให้คนสมองสูญเปล่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้มแข็งก้ลดลง
เราเลยต้องมีเศรษฐกิจโอบอุ้ม เพื่อช่วยความบอบบางลง ในแง่ระบบเศรษฐกิจ ต้องสร้างฐานกว้าง ทำอย่างไร ให้ทุกคนมีโอกาส ความเท่าเทียมของโอกาส
"เราจะเดินในแง่พัฒนาด้านนวัตกรรมได้ ต้องมีความหลากหลาย หากเรามีความคิด เสรีภาพ ยิ่งมีโอกาสในการมองเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ"
สังคมยิ่งเหลื่อมล้ำมากๆ จะมีโอกาสที่คนรวยจะเข้ามาฉวยโอกาสทางการเมือง ครอบงำ ทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหา ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกแตกแยก นโยบายที่เอื้อให้กลุ่มคนไม่กี่คน หากคนรู้สึกอย่างนี้มากๆ จะเกิดปัญหาทางสังคม นำไปสู่ความแตกแยก
ที่มา : สำนักข้าวอิศรา วันที่ 6 ก.พ. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.