ปีเก่าผ่านไปและปีใหม่ 2560 ย่างเข้ามา ซึ่งจะเห็นได้ว่าวันและเวลามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่ได้หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับความเป็นพลวัตของโลก เพราะในขณะนี้โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลทั้ง 3 มิติ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกก็
คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นกับการที่จะต้องปรับเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยเช่นกัน
การที่จะทำให้ภาคการเกษตร "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้นั้น เกษตรกรจะต้องปรับตัวและภาคการเกษตรก็จะต้องปรับโครงสร้างไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเช่นกัน การทำการเกษตรเพื่อเน้นปริมาณหรือเพิ่มผลิตภาพให้ได้มากหรือที่เรียกว่าการทำการเกษตรแบบเข้มข้นเพื่อให้อุปทานผลผลิตขยายตัวออกไป คงไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เกษตรกรมีความยั่งยืนและมั่งคั่งในอาชีพได้
ผลของการปฎิวัติเขียวที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับนวัตกรรมการปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงในอดีตที่ผ่านมา แม้จะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมและทำนาได้หลายครั้งในรอบปีก็ตาม แต่รายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นนั้นก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย เพราะเกษตรกรจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี และปัจจัยอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่และแต่ละปีในจำนวนมากได้ทำให้อุปทานผลผลิตขยายตัวและมีมากจนเกินกว่าความต้องการของตลาด อันนำไปสู่ภาวะอุปทานผลผลิตล้นตลาด สร้างแรงกดดันต่อภาวะตกต่ำของราคาตามมา ดั่งที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน
ต่อไปการที่รัฐให้การอุดหนุนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้นต้องลดและเลิกไป พร้อมๆกับการปล่อยให้อุปสงค์และอุปทานหรือกลไกตลาดเป็นตัวสร้างสมดุลในด้านราคาขึ้นเองด้วยแล้ว การผลิตสินค้าพร้อมๆกันจำนวนมาก (mass production) ของเกษตรกรย่อมจะหลีกไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับภาวะตกต่ำของราคา เพราะปริมาณอุปทานของผลผลิตมีมากเกินกว่าความต้องการของอุปสงค์ในตลาดในขณะหนึ่งๆ นั่นเอง
เกษตรกรต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืน!
เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้นกว่าที่จะรู้เพียงแต่ว่าผลิตอะไรเท่านั้น แต่ควรจะต้องสร้างความเข้าใจถึงคำว่าผลิตอย่างไรจึงจะเข้ากับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคก่อนที่ตัวเองจะทำการผลิต อีกทั้งสิ่งที่เกษตรกรจะต้องแสวงหาให้มากขึ้น ได้แก่นวัตกรรมที่จะนำมาใช้ในการสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าให้กับตัวสินค้าที่จะผลิต
โดยไม่ต้องเน้นถึงปริมาณให้ได้มากแต่จะให้ความสำคัญกับความจำเพาะและเน้นที่คุณค่า รวมถึงคุณภาพและความปลอดภัยในตัวของสินค้า(niche product) ก็จะสร้างมูลค่าสูงได้เช่นกัน หากเกษตรกรทำได้ก็จะเกิดช่องทางการตลาดใหม่ที่เป็นตลาดจำเพาะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันภาคการเกษตรของไทยก็จะต้องปรับตัวในโครงสร้างของภาคการผลิตและการตลาดตามไปด้วย โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างสู่กระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพูนคุณค่าของเกษตรภูมิทัศน์ ความปลอดภัยในอาหาร รวมถึงการต่อยอดของกิจกรรมการผลิตในไร่นาสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศน์ ตลอดจนนำมาซึ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การเกษตรพหุกิจกรรมจะเป็นการยกระดับเกษตรกรและภาคชนบทไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รวมทั้งการสร้างความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ อันนำปสู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามมา
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 12 ม.ค. 2560
โดย - รศ.สมพร อิศวิลานนท์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.