เกษตรกรปลูกข้าวโพดแม่แจ่มประสบปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี เหลือ กิโลกรัมละ 5 บาท เหตุรัฐห้ามพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ซึ่งมีมากถึง 95% และเปิดช่องให้ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวสาลี วอนรัฐพิจารณาพื้นที่ 3แสนไร่ให้เกษตรกรใช้ทำกินและอยู่อาศัย
นายอุทัย บุญเทียม ประธานกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกข้าวโพด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจังหวัดเชียงใหม่จะมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกมาประมาณ 250,000 ตัน/ปี เป็นผลผลิตจากอ.แม่แจ่มประมาณ 120,000 ตัน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อำเภอแม่แจ่ม ขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี เกษตรกรจำหน่ายข้าวโพดกิโลกรัมละ 5 บาท จากเดิมที่เคยจำหน่ายได้ในราคา 8 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.25 บาท
ขณะนี้เกษตรกรได้จำหน่ายผลผลิตไปแล้วประมาณร้อยละ 75 โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อไปจำหน่ายให้กับฟาร์มเกษตรกรในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องขายขาดทุนเพื่อจะนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว สำหรับอีกร้อยละ 25 ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปเพราะต้องการรอให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นก่อน แต่เชื่อว่าจากภาวะตลาดเช่นนี้ ราคาไม่น่าจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนสาเหตุหลักเกิดจาก ภาครัฐอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหญ่นำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ 5 ล้านตัน ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรในประเทศไทยไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตผลิตได้ ประกอบกับภาครัฐการทวงคืนพื้นที่จากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิทำกิน โดยออกมาตรการไม่ให้พ่อค้าคนกลางรายใหญ่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่มอย่างหนัก
เนื่องจากร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่มไม่มีเอกสารสิทธิ์ เกษตรกรจึงต้องหาช่องทางจำหน่ายผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางรายย่อยที่เข้ามารับซื้อในพื้นที่ แต่ต้องประสบกับปัญหาการกดราคาเนื่องจากภาครัฐไม่ได้มีการกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ นอกจากนั้นพ่อค้าคนกลางรายย่อยยังคัดเกรดข้าวโพดมากขึ้น ไม่รับซื้อเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์และมีเชื้อราเจือปน จากเดิมที่เคยรับซื้อผลผลิตทั้งหมด ทำให้เกษตรในพื้นที่ประสบกับปัญหาหนี้สินสะสมเป็นจำนวนมาก
สำหรับอ.แม่แจ่มมีพื้นที่อยู่ประมาณ 1.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ออกโดยกรมที่ดินประมาณ 19,000 ไร่ เป็นโฉนด และ น.ส.3 ก. แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยร้อยละ 40 เป็นพื้นที่การเกษตร ร้อยละ 60 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชไร่ ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดของอำเภอแม่แจ่มมีประมาณ 120,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดิน สทก. ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ทำกินประมาณ 5,000 ไร่ ร้อยละ 95 เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทำกินที่ได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ ทำให้เกษตรกรประสบกับปัญหาพ่อค้าคนกลางซึ่งเคยรับซื้อผลผลิต ไม่รับซื้อเนื่องจากที่ดินที่ปลูกข้าวโพดไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงจำเป็นต้องจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางรายย่อย ที่เข้ามารับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐพิจารณาอนุญาตเกษตรกรในอำเภอแม่แจ่ม ได้ทำการเกษตรกรในพื้นที่ป่านสงวนต่อไป เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนนั้นมาภายหลังจากที่ชาวแม่แจ่มใช้พื้นที่ทำกินอยู่ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ป่าสงวนทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ประมาณ 60,000 ราย จึงอยากให้พิจารณาพื้นที่จำนวน 300,000 ไร่ จาก 1.4 ล้านไร่ของพื้นที่ป่าในอำเภอแม่แจ่ม เพื่อให้ชาวบ้านใช้ทำกิน และอยู่อาศัย
โดยเมื่อเปรียบเทียบการใช้ที่ดินแล้วเชื่อว่ายังคงมีความสมดุลระหว่างป่ากับพื้นที่ทำกิน ทรัพยากรที่แม่แจ่มยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำการรักษาผืนป่าไว้เป็นอย่างดี โดยไม่ให้นายทุนมานำทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ออกไปโดยเด็ดขาด อยากให้ภาครัฐมองว่าผู้ที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ปัจจุบันเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จริง ไม่ได้เป็นกลุ่มทุนที่จะเข้ามาเพื่อนำทรัพยากรของพื้นที่ออกไป
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 26 ม.ค. 2560
โดย - นิศานาถ กังวาลวงศ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.