ค่อยๆ จางลง กระแสขายข้าวสารช่วยชาวนาตามสถานที่ต่างๆ ที่พุ่งสูงไม่กี่สัปดาห์
ในเมืองหลวงเมืองใหญ่ ขณะนี้บางแห่งเลิกทำไปแล้ว บางแห่งยังทำอยู่ แต่หายคึกคักไปมาก เช่นตามปั๊มน้ำมัน ธนาคารบางแห่ง โดยเฉพาะ ธกส. สหกรณ์ เทศบาล เป็นต้น สังเกตดูจะไม่ใช่แหล่งจำหน่ายข้าวในยามปรกติ ผู้ซื้อมักมียานพาหนะเข้าถึง เช่นรถยนต์ รถจักรยานยนต์
แม้วิธีขายข้าวช่วยชาวนาการดังกล่าวไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาด้านราคาขายข้าวให้ชาวนาได้ (ชาวนาเองก็ไม่สามารถจะมาขายตรงข้าวสารได้ทุกคน) แต่ปรากฏว่ามีผลกระทบทางสังคมที่ดีมาก
นอกจากในหมู่ผู้ผลิต ได้สร้างความตื่นตัวความเข้าใจทางฝ่ายผู้บริโภคอย่างมากซึ่งจะเป็นพลังสำคัญกำหนดทิศทางตลาด นำไปสู่การตลาดในช่องทางใหม่ๆอื่นๆ โดยเฉพาะการซื้อขายข้าว อีคอมเมิร์ซ ที่ไม่ต้องพึ่งพาสถานที่จำหน่าย หรือการเข้าถึงโดยพาหนะใดๆ ซึ่งกำลังตื่นตัวมากขึ้นและดำเนินมาเรื่อยๆ ไม่ได้คลายความคึกคักลง สังเกตได้จาก อีคอมเมิร์ซ ทั่วๆไป และด้วยบริการของกระทรวงพาณิชย์ ในการเปิดช่องทาง อีคอมเมิร์ซ ให้ชาวนาโดยตรง
พบว่า สามเดือนที่ผ่านมา การตอบรับตอบสนองขายข้าว อีคอมเมิร์ซใน อีสานและภาคกลางไปได้ดี เติบโตกว่าในภาคเหนือ
เราจึงยังมีพื้นที่ขยายผลอีกมาก ให้เข้าที่เข้าทางตรงจุดมีคุณภาพเชื่อถือได้และสะดวกมากยิ่งขึ้นเพราะตลาดผู้บริโภค (ข้าว) ของเรามีพฤติกรรมตอบสนอง
ลองมาดูกันว่าผู้บริโภคที่ตอบรับเกาะติดและพัฒนาวิธีการในกระแส “ขายข้าวช่วยชาวนา” เป็นใครกันบ้าง
โดยการจัดประเภทความต้องการและรสนิยม ของ ยูโรมอนิเตอร์ ผู้ซื้อข้าวสารช่วยชาวนา กลุ่มแรกๆน่าจะคือ ผู้บริโภคกลุ่มมีสตังค์มีจิตสำนึกเรื่องโน้นเรื่องนี้ทางสังคม (conspicuous consumers) เช่น แสดงฐานะ ต้องการช่วยชาวนา ช่วยสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งขณะนี้ในบ้านเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ เช่นอินเดีย เวียตนาม อินโดนีเซีย และกลุ่มผู้บริโภคประเภทซื้อตาม (พรรค) พวก ซื้อไปฝากเพื่อนฝูง เข้าสังคม (spontaneous socializer consumers)โดยกลุ่มนี้ก็ยินดีควักสตังค์ซื้อตามกระแส ทั้งสองกลุ่มนี้จับจ่ายใช้สอยทางมือถือ ทางออนไลน์อยู่แล้ว
ส่วนกลุ่มฉลาดซื้อ (savvy quality-seekers )ก็ยินดีซื้อเมื่อแน่ใจว่าข้าวมีคุณภาพ ในขณะที่กลุ่มซื่อสัตย์กับแบรนด์ เช่น ข้าวถุงยี่ห้อโน้นนี้ ข้าวอินทรีย์ (cautious loyalist consumers )นั้นเล่า ก็อาจช่วยซื้อบ้าง แม้ยังกล้าๆกลัวๆ ส่วนกลุ่มเน้นประหยัด (no-frills savers)เป็นหลัก ถ้าไม่ใช่เอาข้าวสารราคาสูงในตลาดมาขายราคาต่ำเท่าข้าวขาวที่เคยซื้อกินอยู่ เช่นข้าวขาวกิโลกรัมละ 20 บาท หรือราคาต่ำกว่า ไม่ว่าจะอยากช่วยชาวนาขนาดไหน ก็ยากจะควักสตังค์ซื้อ
จะเห็นว่า นอกจาก อีคอมเมิร์ซ ซึ่งผู้บริโภคสองกลุ่มแรกมีศักยภาพดีมากแล้ว ยังมีอีกสองกลุ่มหลังที่มีความเป็นไปได้และต้องพยายามเข้าให้ถึง
กระนั้น การ “ขายข้าวช่วยชาวนา” ในขณะนี้และอาจตลอดไปอีกนาน ยังควรต้องรุกให้ถึงแหล่งจำหน่ายข้าวสารตามปรกติแก่ผู้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก
เรียงตามลำดับ ได้แก่ แหล่งจำหน่ายอาหารสดอาหารแห้งทั้งส่งและปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ โดยมีซูเปอร์มาร์เกตเป็นแหล่งรวมของข้าวสารมากประเภทมากชนิดที่สุด
จากนั้นจึงเป็นแผงหรือร้านจำหน่ายปลีกขนาดเล็กสไตล์ “โชห่วย” ในตลาดสด (ซึ่งไม่รู้จะยืนหยัดอีกนานเท่าไรโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีตัวเลขแสดงว่าตลาดสดในกรุงเทพฯ ลดลงจาก 160 แห่งเหลือเพียง 50 แห่งในรอบสิบปีที่ผ่านมา ยกเว้นว่ามีความพยายามจะต่ออายุ) ข้อดีของแหล่งจำหน่ายประเภทนี้คือ เดินถึง ขายได้ตั้งแต่ครึ่งกิโลเป็นต้นไปและเป็นตลาดของผู้บริโภครายได้กลางถึงต่ำ แต่ว่ามีประเภทและชนิดของข้าวน้อยมากๆ มีเครือข่ายวงแคบ เป็นตลาดข้าวสารระดับล่าง มักมีแต่ข้าวขาวราคากลางๆจนถึงต่ำสุด แพงสุดกิโลกรัมละ 30 บาทขึ้นไป มีสองสามชนิดนับว่าเก่ง ไม่มีข้าวนิล ข้าวแดง ข้าว "ทางเลือก" อื่นๆ ที่ราคาสูงจาก 27 บาท จนถึงกิโลกรัมละ 160-200 บาท อย่างที่ซูเปอร์มาร์เกตและแหล่งจำหน่ายปลีกขนาดใหญ่อื่นๆรวมทั้ง ขายข้าวอี คอมเมิร์ซ มีวางขายให้เลือกมากมายจนตาลาย
กล่าวได้ว่าซูเปอร์มาร์เกตที่เพิ่งมีในบ้านเราเมื่อช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2500 นี้เอง และมีมากขึ้นในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในศูนย์การค้า ได้เข้ามาแทน ตลาดสด ของเราแต่เดิมอย่างแทบจะเบ็ดเสร็จ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมการซื้อข้าวสารมาบริโภคในครัวเรือนของเราด้วยที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความเป็นเมือง (urbanization)
การขยายตัวของตลาดระดับ "ซูเปอร์" ทุกแห่งทั่วโลกนั้น ได้แก่ร้านขายส่งขายปลีกอาหารขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ได้ทำให้ร้าน (ข้าวสาร) สไตล์ "โชห่วย" ปิดไปเป็นระนาว โดยเฉพาะหลังช่วงวิกฤติการเงิน พ.ศ.2540 ประมาณว่าในเมืองไทยปิดตัวไป 25,000 ร้านต่อปีช่วงนั้น
ทุกวันนี้ ชาวนาในต่างจังหวัดที่มีรถปิ๊กอัพ มีรถจักรยานยนตร์ ต่างก็อุดหนุนข้าวถุงบรรจุ 1 ถึง 5 กิโลกรัม 10 กิโลกรัม ตามร้านขายปลีกขายส่งขนาดใหญ่ที่ได้ขยายตัวไปตามจังหวัดใหญ่ๆทั่วถึงไปหมดแล้ว
ซูเปอร์มาร์เกตและร้านขายส่งขายปลีกขนาดใหญ่ทั่วประเทศ คือช่องทางตลาดหลักที่จะต้องทำให้เปิดและเป็นมิตรต่อชาวนาผู้ผลิตข้าวให้มากๆยิ่งขึ้น ทั้งในสเกลการขายระดับทั่วประเทศและในสเกลการขายในท้องถิ่น ในการนี้ ชาวนาฝ่ายเดียวจะทำได้ยาก ต้องต่อสู้ตามลำพังมากเกินไป การบริหารจัดการอื่นๆอีกที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะระดับนโยบาย หน่วยงานองค์กรในท้องถิ่น ควรเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เช่นเรื่องสัญญาที่เป็นธรรม มาตรฐานสินค้า การขนส่ง การเรียนรู้ต่อรองของกลุ่มชาวนาผู้ผลิต ฯ อย่างที่ทำกันใน อินเดีย จีน
นอกจากได้ช่วยชาวนาที่ผู้ประกอบการควรร่วมมือเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรแล้ว ผู้ประกอบการควรได้แรงจูงใจ อื่นๆด้วย เช่นสามารถลดค่าขนส่งจากการไปขนข้าวสารมาจากที่ไกล มีบทบาทในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่แนะนำสู่ท้องตลาด ได้ภาพลักษณ์ดีๆ ในการเข้าสู่เครือข่ายเกษตรยั่งยืน เกษตรลดมลภาวะ เป็นต้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ม.ค. 2560
ผู้เขียน : สุกัญญา หาญตระกูล