"กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ...
ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม"...
บทเพลง "รำวงกสิกรไทย" ของวงสุนทราภรณ์ สะท้อนอัตลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย นั่นคืออาชีพ "เกษตรกรรม" ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ไปจนถึงผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ถือเป็นอาชีพสำคัญ กระทั่งเมื่อสังคมไทย "เปลี่ยนตามโลก"เข้าสู่การเป็น "สังคมอุตสาหกรรม" นับตั้งแต่ปี 2504 ที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ดูเหมือนภาคการเกษตรของไทยอาจจะ...
ถูกหลงลืม!!!
ณ เวทีเครือข่ายงานวิจัยไทยศึกษา "พลวัตสังคมเกษตรในยุคเสรีนิยมใหม่"..."ดร.เดชรัตน์สุขกำเนิด" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา จำนวนครัวเรือนเกษตรยังเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเพียง 5-6 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 5 เท่านั้น หมายความว่าจำนวนครัวเรือนเกษตรไม่ได้น้อยลง หากแต่เป็น "พื้นที่เพาะปลูก" ที่ค่อยๆ หายไป
ดร.เดชรัตน์ กล่าวว่า การใช้ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 2 ทศวรรษ นาข้าวมีพื้นปลูกแนวโน้มลดน้อยลง แต่ที่เพิ่มมา คือ ยางพารา และที่ลดลงมากอย่างน่าเป็นห่วง คือ พืชผักสมุนไพรไม้พืชผล และไม้ยืนต้น บ่งบอกว่าเกษตรกรตอบสนองต่อ "ราคาผลผลิต" แต่ไม่รู้จักวางแผนล่วงหน้าจนอาจทำให้...
นํ้าตาตก!!!
ดร.เดชรัตน์ ชี้ว่า ข้อน่าเป็นห่วงจริงๆในภาคการเกษตร คือ "แรงงาน" ถ้าเปรียบเทียบอายุของหัวหน้าครัวเรือนเกษตร เห็นได้ว่ามีแนวโน้มของหัวหน้าครัวเรือนเกษตรที่ "สูงอายุมากขึ้น" และแม้หัวหน้าครัวเรือนภาคเกษตรระยะหลังๆ จะมีการศึกษามากขึ้น แต่การหาแรงงานมาทำก็เป็นเรื่องยากเต็มที
"ในปี 2536 เดิมทีอายุ 25-34 ปีจะมีอยู่ร้อยละ 17 อายุ 35-44 ปี จะมีอยู่ร้อยละ 28 พอปี 2556 อายุ 25-34 เหลือแค่ร้อยละ 5 อายุ 35-44 ปี เหลือร้อยละ 18 ส่วนที่เพิ่มขึ้น คือ อายุ 55-64 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป จากการลดลงของประชากรของเกษตร ทำให้มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นแรงกดดันหลักของภาคการเกษตรไทยแม้หัวหน้าครัวเรือนเกษตรมีการศึกษามากขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนจำนวนแรงงานที่น้อยลงได้" นักเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ
หันมาดูใน "ภาคการเลี้ยงสัตว์"...ดร.เดชรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้ "ทุนใหญ่" ได้เข้าครอบครองเส้นทางการเลี้ยงและค้าสินค้าปศุสัตว์ถึง 2 ใน 3 อาทิ "สุกร" (หมู) ในอดีตนั้นฟาร์มที่เลี้ยง 500 ตัวขึ้นไป มีอยู่ร้อยละ 27 ฟาร์มขนาดเล็กมีอยู่ร้อยละ 21 แต่ปี 2546 จำนวนฟาร์มที่เลี้ยง 500 ตัวขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 ส่วนจำนวนฟาร์มขนาดเล็กเหลืออยู่ร้อยละ 11 และในปี 2556 ฟาร์มที่เลี้ยง 500 ตัวขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 67 เพิ่มขึ้น ส่วนฟาร์มขนาดเล็กเหลือเพียง ร้อยละ 5
เช่นเดียวกับ "ไก่" ฟาร์มขนาดใหญ่หากเทียบเป็นสัดส่วนหลังจากเหตุการณ์ไข้หวัดนกปี 2547 ที่มีอยู่ ร้อยละ 32 ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น ร้อยละ63 ส่วนฟาร์มไก่ขนาดเล็กลดลงจากร้อยละ 9.3 เหลือเพียง ร้อยละ 5.5
"การเตรียมความพร้อมของเกษตรกรรายย่อย จึงต้องให้ความสำคัญที่การพัฒนาเทคโนโลยีใช้ทดแทนแรงงาน และการติดตามข่าวสารการพัฒนารูปแบบการผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรของไทยพึ่งตนเองได้" นักเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ให้ความเห็น
อีกด้านหนึ่ง...การขยายของทุนใหญ่ ทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า "เกษตรพันธะสัญญา" หรือก็คือเกษตรกรทำหน้าที่เป็น "แรงงานนอกระบบ" (Outsource) รับจ้างผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรของทุนใหญ่
เรื่องนี้ "ดร.ภัทรพรรณ ทำดี" รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาวิถีชีวิตเกษตรกรใน จ.นครปฐม อันเป็นพื้นที่หนึ่งที่ระบบเกษตรพันธะสัญญาเข้าไปอย่างแพร่หลาย พบว่ามี "ข้อน่าห่วง" คือ หลายรายไม่มี...
สัญญาลายลักษณ์อักษร!!!
อาจารย์ภัทรพรรณ กล่าวว่า แรกๆ เมื่อสอบถาม เกษตรกรจะบอกว่ามีสัญญา แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด กลับมีเพียง "สัญญาใจ" เท่านั้น ไม่มีการร่างไว้เป็นเอกสาร หรือแม้กระทั่งในรายที่แม้จะมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ตัวสัญญากลับร่างขึ้นแบบ "ไม่ชัดเจน" ทำให้เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ
"มีเกษตรกรหลายรายที่บริษัทไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวของสัญญาที่ชัดเจน บางทีก็ขอเพิ่มเงื่อนไขจากที่สัญญากำหนดไว้ จึงกลายเป็นเกษตรกรที่ถูกขูดเลือดขูดเนื้อจากบริษัท" อาจารย์ภัทรพรรณ กล่าว
อาจารย์ภัทรพรรณ กล่าวอีกว่า เกษตรกรที่เข้ามาอยู่ในระบบพันธะสัญญามีอยู่ 2 ทางเลือก คือ "เลิกเพราะทำแล้วไม่ไหว" ขอยุติสัญญา เพราะเห็นว่าเกษตรกรจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างที่สูงกว่าระบบการเกษตรทั่วไป รู้สึกเหมือนถูกเอารัดเอาเปรียบ จนทำให้เกษตรกรบางรายตัดสินใจ "ยกธงขาว" กับกลุ่มที่ "ทำแล้วพออยู่ได้" ขอไปต่อกับระบบนี้ เพราะมองว่าไม่ขาดทุนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในระบบพันธะสัญญามีความมั่นคงในเรื่อง "การรับประกันรายได้"เกษตรกรไม่ต้องหาตลาดเอง แต่มีคนกลางหรือกลุ่มทุนที่ว่าจ้าง เป็นผู้รับซื้อไปจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทน
แต่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ "ปลูกเอง-ขายเอง" หรือเป็นเกษตรกรที่ "รับจ้างผลิต" ให้กลุ่มทุน "อาจารย์ภัทรพรรณ" ยํ้าว่า ต้องมี "ต้นทุน 3 ประการ" อันจะมีผลต่อการตัดสินใจ คือ 1.ตัวตนเป็นทักษะเฉพาะของเกษตรกรแต่ละคน เพื่อเอาตัวรอดจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ 2.ความรู้ เป็นสิ่งที่เกษตรกรจำเป็นต้องสะสมความรู้ไม่ใช้แค่ความรู้ในเรื่องเพาะปลูก ต้องรู้เรื่องการบริหารจัดการ การควบคุม และการวางแผน และ 3.เครือข่าย เพื่อเป็นฐานเชื่อมต่อกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งเครือข่ายความรู้ เครือข่ายแหล่งทุน เครือข่ายระหว่างผู้นำกับผู้สนับสนุน ที่สำคัญคือ "เครือข่ายตลาด" เพราะจะได้ไม่เสี่ยงกับสถานการณ์...
ผลิตได้...แต่ขายไม่ออก!!!
ส่วนเกษตรกรที่เลือกระบบพันธะสัญญา ก็ต้องหาวิธีทางจัดการกับบริษัทที่คอยเอารัดเอาเปรียบด้วยเช่นกัน
"หากต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งตนเอง และดำรงชีวิตอยู่ได้ราบรื่นในระบบพันธะสัญญา จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกษตรกรมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการปรับตัว โดยส่งเสริมในด้านความรู้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการผลิต ทั้งในเรื่องของการป้องกันและจัดการโรคในพืช ตลอดจนความรู้ในการบริหารจัดการกลุ่มเกษตรโดยอาศัยฐานข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร" อาจารย์ภัทรพรรณ ฝากทิ้งท้าย
เป็นที่ทราบกันดีว่า สัดส่วนรายได้ (GDP) ของประเทศไทยในภาคเกษตรนั้นถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาคบริการ (ท่องเที่ยว) หรือภาคอุตสาหกรรม แต่ถึงกระนั้นภาคเกษตรยังมีความสำคัญในฐานะ"ผู้ปิดทองหลังพระ" ผลิตอาหารเป็น "เสบียง" ไว้บริโภคภายในประเทศ ทำให้ไม่ต้อง"นำเข้า" อย่างหลายชาติที่พื้นที่เพาะปลูกน้อยจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยรวม
ฉะนั้นแล้ว "โจทย์ใหญ่" ของภาครัฐ คือ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ได้อย่าง "ยั่งยืน" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นฐานของ "ความเป็นธรรม" ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจาก "กลุ่มทุน"ที่เข้าไปหาประโยชน์จาก "กระดูกสันหลังของชาติ"
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 26 ม.ค. 2560
ผู้เขียน : พันแสง เดชามาตย์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.