วิถีชีวิตชาวสวน เช่นชาวสวนฝั่งธนบุรี จะแตกต่างจากชาวนา อยู่บางประการ เป็นต้นว่า
ขนาดพื้นที่ของสวนจะไม่เรียกเป็นไร่ แต่เรียกว่าขนัด แต่ละขนัดจะประกอบด้วยร่องสวนที่ใช้ปลูกพืช แต่ละร่องสวนจะล้อมรอบด้วยด้วยร่องน้ำ ที่เรียกว่าท้องร่อง
สวนแต่ละขนัดจะประกอบด้วย ร่องสวนประมาณ 10-20 ร่อง ยาวประมาณ 100- 150 เมตร พืชหลักที่นิยมปลูกในสวน เช่นส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะพร้าว ลิ้นจี่ กล้วยหอม แต่ละสวนไม่ว่าจะเป็นสวนส้ม สวนลิ้นจี่ จะปลูก แซมด้วยพืชอีกหลายชนิด
ที่นิยมปลูกกันมากคือกล้วยน้ำว้า มะม่วง มะปราง มะไฟ หมาก และบรรดาพืชสวนครัว เช่น มะนาว มะกรูด พริก ตะไคร้ ข่า กะเพรา โหรพา บริเวณรอบขนัดสวน ก็จะเป็นต้นมะพร้าวที่ช่วยบังลม การทำสวนจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำเพราะอาศัยน้ำจากร่องสวนได้ตลอดทั้งปี เว้นแต่ช่วงที่เกิดปัญหาภัยแล้ง บางท้องที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มที่หนุนเข้ามา
สำหรับรายได้หลักของชาวสวน ส่วนมากขึ้นอยู่กับผลผลิตของพืชหลัก ปีละครั้ง ช่วงเวลาที่พืชหลักยังไม่ให้ผลผลิต ชาวสวนสามารถเก็บเกี่ยวหารายได้จาก กล้วย ทั้งผลกล้วย หัวปลี ใบตอง จากมะพร้าว หมาก และพืชสวนครัวอื่นได้ทั้งปี แม้แต่พืชแซมอื่น ถ้าให้ผลผลิต ก็จะเป็นตัวที่เสริมรายได้ที่สำคัญ ในชีวิตประจำวัน ก็สามารถจับกุ้งจับปลา ในร่องสวน และเก็บพืชสวนครัวปรุงอาหารเลี้ยงครอบครัวลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย บางรายอาจเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ให้หากินตามธรรมชาติ ไว้ในสวน ก็อาจมีไข่บริโภคตลอด วิถีชีวิตชาวสวน ถ้าทำสวนเพียงครอบครัวละสี่ห้าขนัด อย่างขยันขันแข็ง จะมีพอกินพอใช้ มีรายได้จับจ่ายใช้สอยตามอัตภาพโดยไม่ขัดสน รายที่ทำสวนหลายๆ ขนัด อาจ มีรายได้เข้าขั้นเป็นเป็นเศรษฐีย่อยๆ ได้ทีเดียว
สำหรับการทำนา นั้นพื้นที่ทำนาจะเป็นพื้นราบเป็นผืนนากว่างใหญ่ติดต่อกัน มีคันนากั้น น้ำที่ใช้ทำนาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ยกเว้นพื้นนาที่ติดหรือใกล้กับแม่น้ำหรือคลอง ก็อาจอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวได้ ขนาดพื้นที่นาเรียกเป็นไร่ และเนื่องจากผลผลิตข้าวต่อไร่ ของชาวนาไทย ยังได้ผลผลิตต่อไร่ในอัตราที่ไม่สูงนัก หากจะให้ได้ผลผลิตข้าวในปริมาณที่จะทำให้ชาวนามีรายได้ระดับพอมีพอกิน ชาวนาต้องมีที่ทำนาแปลงใหญ่ เป็นหลายสิบไร่ขึ้นไป แต่ปัญหาใหญ่ของชาวนาคือ ส่วนมากมีพื้นนาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองจากมรดกตกทอดแต่ละครอบครัว ไม่กี่ไร่ ผลผลิตข้าวที่ได้จึงไม่อาจทำให้มีรายได้ พอมีพอกินได้ แม้บางท้องที่จะสามารถทำนาได้ปีละสองถึงสามครั้งก็ตาม โดยเฉพาะในท้องที่ที่ทำนาเฉพาะนาปี เมื่อหมดฤดูการทำนาหากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานไม่มีแหล่งน้ำ ก็ไม่สามารถปลูกพืชอื่นหารายได้เพิ่มเติมได้เลย ซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตของชาวสวนดังกล่าวมาข้างต้น
พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรภูมิพลอดุลเดช พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ได้พระราชแนวคิดปรัชญา เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และตามมาด้วยแนวคิดที่จะทำให้เกษตรกรที่มีที่ทำกินผืนไม่ใหญ่นัก สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงตัวเองได้ มีพอกินพอใช้อย่างยั่งยืน แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพราะอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ดังปรากฏตามเอกสารที่มีหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องได้บันทึกไว้คือ พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทร ภูมิพลอดุลเดช มีพระราชดำริ ให้ทดลองใช้ทฤษฎีใหม่ ด้วยการจัดซื้อที่ดินประมาณ 15 ไร่ ในเขต ต.ห้วยบง อ.เมือง จ.สระบุรี ทรงใช้แบบจำลองทฤษฎีใหม่ แบ่งที่ดินส่วนหนึ่ง 30% ขุดเป็นสระน้ำประจำไร่ ลึก 4 เมตร เก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ทำนา และใช้สอยอุปโภคบริโภค ตลอดจน ทำการเกษตรแบบผสมผสานได้พอเพียงตลอดทั้งปี ส่วนที่สองพื้นที่60% ใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำไร่นาสวนผสม ปลูกข้าว 30% ที่เหลือปลูกพืชสวน ผักผลไม้ตามความเหมาะสมกับท้องที่ ส่วนที่สามพื้นที่ 10% เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย โรงเรือน คอกสัตว์ ทำกองฟาง กองปุ๋ย ลานตาก นวด พืช เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และอื่นๆ
แบบจำลองทฤษฎีใหม่ สามารถใช้ได้กับเกษตรกรรายย่อยที่พื้นที่ไม่ใหญ่นัก 5ไร่ 6ไร่ก็กระทำได้ ขั้นแรก ทำให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำในการทำนาหรือทำสวนยังชีพอยู่ได้ แม้ช่วงหนึ่งช่วงใดจะเกิดฝนแล้ง ขั้นต่อไป ให้จัดการไร่นา ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสมปลูกพืชสวนที่เหมาะสม ซึ่งต่อมาได้มีการขยายผลไปยังพื้นที่ต่างฯหลายแห่ง หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนส่งเสริม มีเกษตรกรที่มาดูงานแล้วนำไปเป็นต้นแบบ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำไร่นาสวนผสม ในพื้นดินทำกินของตนเองที่ผืนไม่ใหญ่นัก จนประสบความสำเร็จมีพอกินพอใช้ ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืนเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่การดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำไร่นาสวนผสม ขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากนักการเมือง นำลักทธิประชานิยม เป็นเครื่องมือในการหาเสียง ทำให้เกษตรกรบางส่วนหวนกลับรอแต่พียงความช่วยเหลือจากรัฐ เท่านั้น
แต่เมื่อกลางปีที่แล้วก็มีข่าวที่น่ายินดี คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในยุครัฐบาล ปัจจุบัน ได้จัดทำกิจกรรมส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการส่งเสริมปรัชญาของหลักเศรษฐกิจพอเพียงและหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ คัดเลือกเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีประมาณ 7หมื่นราย เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรดังกล่าวสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในการทำเกษตรแบบผสมผสาน ไร่นาสวนผสม ในพื้นที่ทำกินของตนเองที่ผืนไม่ใหญ่นัก ให้มีพอกินพอใช้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน
โดยจะให้มีผลปฏิบัติจริง ก็หวังว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน จะช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์อันจะเป็นการสนองต่อพระราชปณิธาน ของพ่อหลวงของคนไทย ที่จะให้เกษตรกรของพระองค์ท่านพึ่งพาตนเองได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ที่มารูปภาพ : http://kaset.vwander.com
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 ม.ค. 2560
ผู้เขียน : สกล หาญสุทธิวารินทร์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.