เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตร "ธรรมธุรกิจ ยักษ์ กับ โจน"ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
ร่วมกับบุคคลจากหลากหลายอาชีพเกือบ 100 ชีวิต ตั้งแต่ชาวนาที่เรียนจบ ป.6 เกษตรกร แพทย์ วิศวกร นักไอที ศิลปิน จิตรกร นักร้อง คนเรียนระดับปริญญาโท ปริญญาเอกหลายคน ต่างเพศ ต่างวัย เด็กสุดอายุ 21 ปีจนถึงสูงสุดอายุ 70 ปี
ทุกคนสมัครเรียนมาด้วยเป้าหมายเดียวกัน เพื่อเรียนรู้ "ทฤษฎีพอเพียง" และหวังจะเดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมี "อาจารย์ยักษ์" ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และโจน จันไดผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านดิน มาเป็นวิทยากรหลัก
อ.ยักษ์บอกเล่าถึงที่มาของปรัชญาพอเพียงว่า เนื่องจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาอิงการพัฒนาตามกระแสโลก เชื่อเรื่องการค้าเสรี หวังกำไรสูงสุดได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ ตามมามากมาย มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำเกษตรจากการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง พึ่งพิงธรรมชาติ ไปสู่การผลิตด้วยการพึ่งพาปุ๋ยเคมี พึ่งพิงตลาด และอยู่รอดด้วยเงินจากการค้าขาย ทุกคนอยากรวย "เอาเงินเป็นตัวตั้ง" ไม่แบ่งปัน จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันยังพยายามเดินไปสู่วิถีดังกล่าวในภาคเกษตร ไม่เดินตามแนวทางที่พระองค์ท่านบอกไว้
พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี2541ความบางส่วนว่า "เศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้"
"หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เชื่อเรื่อง "การให้จะทำให้รวย" ในหลวงทรงเคยรับสั่งว่า Our loss is our gain. หรือ "ขาดทุนคือกำไร" เชื่อเรื่องการให้ การบริจาค แต่การจะบริจาคได้ ในบ้านต้องทำให้เหลือกิน ของใช้ต้องเหลือ
โดยแปลงไปสู่ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยไม่ให้นำเงินมาเป็นตัวตั้ง ให้เริ่มจาก "การเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง"ด้วยการสร้างแหล่งอาหารใน "ขั้นที่ 1 พอกิน ขั้นที่ 2 พอใช้ ขั้นที่ 3 พออยู่ ขั้นที่ 4 พอร่มเย็น" ด้วยการ "ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ซึ่งป่า 3 อย่างจะให้ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สมุนไพร สำหรับรักษาโรคคน โรคพืช โรคสัตว์ ให้ไม้สำหรับสร้างบ้าน และให้ความร่มเย็นกับบ้าน กับชุมชน กับโลกใบนี้ หยุดใช้ปุ๋ยเคมี หยุดใช้ยาฆ่าหญ้า หยุดใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำลายดิน เพื่อฟื้นคืนระบบนิเวศ เพื่อทำกสิกรรมธรรมชาติ "เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช" "เลี้ยงแม่ธรณี ให้แม่ธรณี เลี้ยงแม่โพสพ"
หลังจากพอกิน พอใช้ พออยู่แล้ว แบ่งปันด้วย "ขั้นที่ 5 ทำบุญ ขั้นที่ 6 ทำทาน" ไม่เน้นการสะสม ละกิเลสในการอยากได้อยากมี จะทำให้ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีในสังคมไทย หลังจากนั้นเมื่อพึ่งพาตัวเองได้ ต้องรู้จัก "ขั้นที่ 7 เก็บรักษา" เช่น เก็บเมล็ดพันธุ์ สร้างรากฐานยามเกิดวิกฤต หลังจากนั้นเผื่อแผ่ให้คนอื่นด้วย "ขั้นที่ 8 ขาย" สิ่งดี ๆ ที่ปลูกให้คนอื่น และสุดท้ายนำไปสู่ "ขั้นที่ 9 การสร้างเครือข่าย" จะผนึกให้เกิดความแข็งแกร่งของกลุ่มเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งของสังคมไทย
ยกตัวอย่าง มีที่ดิน 10 ไร่ แบ่งเป็นปลูกพืชเศรษฐกิจ 7 ไร่ อีก 3 ไร่ไว้ปลูกป่า 3 อย่างสร้างระบบนิเวศ บริหารจัดการพื้นที่นำมาขุดโคกปลูกป่าไว้อุ้มน้ำ ขุดหนองไว้รองรับน้ำฝน ทำปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำหมักไว้ใช้เอง โดยใช้วัตถุดิบจากในธรรมชาติในครัวเรือน ไม่เริ่มต้นด้วยการซื้อ ถ้าไม่มีใช้ระบบแลกเปลี่ยนแบ่งปัน เป็นต้น
การเข้าไปเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี มีตัวอย่างให้เห็นจากป่าของจริง การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอด้วยการขุด "โคก หนอง นา โมเดล" เพื่อบริหารจัดการน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ทำให้กล้าพูดอย่างไม่อายว่า "เพิ่งเริ่มเข้าใจ" พระราชดำรัสที่พระองค์ท่านเพียรสอนลูกหลานไทย และยังต้องใช้เวลาศึกษาต่อไป เพราะสิ่งที่พระองค์ท่านดำรัสไว้มีมากมายหากใครสนใจไปเรียนรู้ได้ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติฯเปิดหลายหลักสูตรที่น่าสนใจ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 ม.ค. 2560
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.