"เราอยู่ในภูมิประเทศที่มีของดีในท้องถิ่นเยอะและสวยงาม รวมทั้งมีหลากหลาย แต่เราไม่เคยเอาต้นไม้ที่เห็นมาอยู่ในชีวิตเราเลย ผมเคยทำร่องน้ำ เป็นทางออกของน้ำเยอะๆ พอฝนตกมามันไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเลย บนถนนกลายเป็นฟลัดเวย์ สองข้างฝั่งจะมีพื้นที่สีเขียวไม่ถูกน้ำพัดไป และไม่มีการกัดเซาะใดๆ"
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตย์จุฬาฯ จัดบรรยายพิเศษเรื่อง "ภูมิทัศน์แห่งบ้านเกิดเมืองนอน'' ซึ่งเป็นงานออกแบบภูมิทัศน์แบบท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ลานสนามหญ้า ใต้ต้นจามจุรี หน้าคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ
อ.จุลพร นันทพานิช ( นิสิตเก่าคณะสถาปัตย์ปี 2526 ) ถอดประสบการณ์ นำเอาผลงาน วิธีคิด วิถีชีวิตมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนรุ่นหลังไปใช้ในการปฏิบัติการงาน การเรียน แล้วทำให้การงานมีพลานุภาพ
เขาเชื่อว่า วิชาชีพสถาปัตย์ฯ มีมุมมองที่ดี เราอยู่ในประเทศที่ดี มีวัตถุดิบที่ดี ถ้าเรามองเห็น เราจับประเด็นได้ เอามาเรียบเรียงจะทำให้งานเราดีขึ้น ถ้างานดีขึ้นก็จะทำให้ประเทศของเราดีขึ้น
"ผมเชื่อว่าวิชาชีพทางสถาปัตย์ มีพลานุภาพ มีแง่คิด ทำให้มีความคิดที่อยากเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ไปในทางที่ดี และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ"
อ.จุลพร บอกว่า ตอนนี้เขาปลูกต้นไม้มากกว่าแสนต้น "มันให้ความร่มเย็น ผมคิดว่าถ้าเราไม่ออกไปเจออะไรข้างนอก สัมผัสบรรยากาศที่งดงาม ก็คงไม่รู้เลยว่า ข้างนอกมีดีอะไร หรือแม้การไปออกค่ายไปเจออะไรใหม่ๆ ทำให้เห็นสังคมชนบท เห็นช่วงเวลาที่ไม่มีไฟฟ้า เห็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้เป็นต้นทุนทางปัญญา"
ช่วงเวลาหนึ่ง อ.จุลพร เมื่อจบการศึกษา เขาไปทำงานเกี่ยวกับการขุดดิน "ผมได้รู้วิธีการคุมน้ำ ให้น้ำไหลให้ได้ หากฝนตกก็ต้องเตรียมผ้ายางไปคลุม วันหยุดแทนที่จะพัก ผมกลับศึกษาเรื่องต้นไม้ เป็นไกด์นำเที่ยวป่า เรียนรู้เรื่องต้นไม้เยอะๆ ต้นไม้สามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ เดินทางเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่บนเขาได้ ซึ่งในหลายๆที่ ที่ผมได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ เดินสี่วันก็เดินไปแบบนั้นสี่วัน ค่ำไหนนอนนั่น ไม่มีปัญหาในการกิน นั่งรถเมล์อาศัยชาวบ้านไป ก็จะได้เห็นมิติบางอย่าง"
แม้แต่การปลูกพริก ปลูกกระเทียม เขาก็เคยทำมาแล้ว ทำให้เขารู้เรื่องพวกนี้มากกว่าคนอื่น
"นี่คือพื้นฐานที่ผมทำ เพราะคิดว่า การทำแบบนี้จะได้เห็นคนอื่นใช้ชีวิตอย่างไร ให้มองชาวบ้านในขณะที่ออกค่าย มองเท่าเทียมกัน ต้องมีน้ำใจซึ่งกันและกัน มีอะไรแบ่งปันกัน เวลาจะสร้างบ้านต้องสร้างเสาใจบ้านให้ได้ก่อน ต้องมีทำเลที่ดี มิติเรื่องการออกแบบที่ผมเรียนมาก็ถูกผนวกความคิด และจิตวิญญานความรู้สึกเข้าไปด้วย"
อ.จุลพร ยังคำที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนว่า "คุณไม่ต้องเอาปูนไปค่าย ไม่ต้องเอาหลังคาไป คุณก็เอาเครื่องมือไป เอามีดพร้าไป ไปหาของมาทำเอง แล้วเรียนรู้กับงานชาวบ้าน ซึ่งนั่นแหละเป็นข้อคิดสำคัญที่สุดในการที่จะเข้าใจความเป็นท้องถิ่น แล้วคุณจะเข้าใจเลยว่า ของพวกนี้มันสามารถเรียนรู้ที่จะทำได้ ถ้าไม่มีคำของอาจารย์ ผมจะไม่เห็นถึงรายละเอียดตรงนั้น ซึ่งแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม"
ทั้งหมด อ.จุลพร ยืนยันว่า คือสิ่งที่ได้จากการเดินทาง
"ถ้าหากเรามัวแต่เสิร์ชเน็ต ดูโน้นดูนี่ ผมว่า ความเป็นเรามันจะแห้งเหี่ยวไปเรื่อยๆ ถ้าคุณลงมือทำ ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผมไปจะเห็นได้ว่า เขาทำบ้านกับไม้ไผ่ ยันไปถึงทัพพี สิ่งนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เรา เห็นสิ่งรอบๆของภูมิประเทศที่มีอยู่ ทำบ้านในแบบท้องถิ่น
เราอยู่ในภูมิประเทศที่มีของดีในท้องถิ่นเยอะและสวยงาม รวมทั้งมีหลากหลาย แต่เราไม่เคยเอาต้นไม้ที่เห็นมาอยู่ในชีวิตเราเลย
ผมเคยทำร่องน้ำ เป็นทางออกของน้ำเยอะๆ พอฝนตกมามันไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเลย บนถนนกลายเป็นฟลัดเวย์ สองข้างฝั่งจะมีพื้นที่สีเขียวไม่ถูกน้ำพัดไป และไม่มีการกัดเซาะใดๆ งานพวกนี้ผมทำในทัศนคติของชาวนา ชาวไร่ ผมไม่ได้ทำในทัศนคติอื่นของคนเป็นสถาปัตย์ฯ เพราะทำด้วยทัศนคติของผมเอง งานผมก็จะกลายเป็นผังสนามกอล์ฟ จะจัดการน้ำใต้ดินอย่างไรให้อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีน้ำผ่าน วิธีคิดแบบนี้จำเป็นมาก
ถ้าจะทำงานแบบนี้ต้องรู้หมดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การต้านแหล่งน้ำ ต้านทานน้ำเหมือนพระราชดำรัชของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากจะทำก็ต้องทำเลยโดยไม่ต้องรอ แล้วเห็นผลลัพธ์เลย การกักน้ำได้ พอค่อยๆทำความอุดมสมบูรณ์ก็จะเกิดขึ้นเอง ความอุดมสมบูรณ์อย่าไปลงมือทำเองทั้งหมด ต้องปล่อยให้ธรรมชาติทำ เราแค่ลงมือ 10 -16 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นให้ธรรมชาติทำ ทุกอย่างที่พบในธรรมชาติจะเป็นอาหารการกินหมด ถ้าเรากินผัก กินพืชได้ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งนั้น มันสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคและรักษาพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ แก้กระเพาะ เป็นยาทั้งนั้น ถ้าเราเข้าใจก็จะอยู่กับสถานการณ์แบบไหนก็ได้"
หรือแม้แต่การเลี้ยงสัตว์ อ.จุลพร บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์แพงๆ ก็เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไป ซึ่งเป็นของกินที่ดีทั้งนั้น ในส่วนของการจัดการเรื่องน้ำ การกักน้ำ สร้างประตูน้ำ แล้วสร้างอ่างเก็บน้ำใหญ่ๆ เพื่อที่จะได้มีพื้นที่เพาะปลูก ปลูกไม้ยืนต้นเข้าไป คานทั้งหมดให้ต้านแรงน้ำให้อยู่ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำที่จะเกิดน้ำท่วมได้ วิธีนี้สามารถที่จะนำมาเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตได้ เราต้องไปดู ไปศึกษา มีความรู้แล้วมาจัดชุดความรู้ของเราขึ้นมาเอง
" อีกหน่อยฝรั่งต้องมาเที่ยวประเทศเรา ผมมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก และมีความอึดอัดในการศึกษาของสังคมไทย จบก็ไปเรียนเมืองนอก ผมมีความรู้สึกว่า เราต้องสร้างชุดความรู้ ความรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องลงมือ ลงแรง อย่างมุ่งมั่นจริงจัง วันหนึ่งความรู้ในโลกหลักมีปัญหา ความรู้ในสังคมไทยจะได้ช่วยสังคมได้ จะได้เกิดความหลากหลาย จะเห็นได้ว่า ความหลากหลายทางธรรมชาติจะมีสองข้างที่เป็นความรู้ อย่าไปติดสบาย การติดสบายโรคก็จะถามหา เราต้องอยู่กับธรรมชาติเยอะๆ เพราะนี้คือความรู้ที่ยิ่งใหญ่ เจออุปสรรคก็ต้องหยิบจับ
ซึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผมจะเป็นคนเดือดร้อนน้อยที่สุด เพราะผมมีความอิสระที่จะมองโลกทั้งหมดทั้งมวลที่มีเป็นเรื่องเดียวกัน ประเทศนี้ถึงจะมีอะไรบกพร่องบ้าง เราก็ต้องแก้ไข ผมอยากให้ประเทศนี้ดีให้กับคนรุ่นหลัง ลูกๆและญาติพี่น้องได้ลงมือทำ อยากให้มันดีเราต้องช่วยลงมือทำ ประเทศจะได้น่าอยู่และมีความสมบูรณ์แบบในแบบฉบับพระราชดำรัสของในหลวง"
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 16 ม.ค. 2560
เขียน : นัฟฮะห์ ดาอิตำ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.