อินเดีย มีประชากร 1,200 ล้านคน จะรองก็แต่จีนเท่านั้น
อินเดียผลิตข้าวได้มากเป็น อันดับ 2 รองจากจีนเช่นกัน คือผลิตได้ปีละ 155 ล้านตัน ขณะที่จีนผลิตได้ ปีละ 208 ล้านตัน ส่วนไทยผลิตได้ 25 ล้านตัน (ลดลงจากประมาณ 27 ล้านตัน หลายปีก่อนนี้) คือ ได้แค่ครึ่งหนึ่งของคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม
ข้าว เป็นแรงขับสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของอินเดีย
อินเดียผลิตทั้งข้าวขาวและข้าวซ้อมมือ ว่ากันว่า มีราวร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งโลก ข้าวเป็นอาหารหลักในภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศด้วย
ผลผลิตข้าวของอินเดียเพิ่มจาก 53.6 ล้านตัน ในปี 2523 มาเป็น 74.6 ล้านตัน ในปี 2533 เรียกว่าในทศวรรษเดียวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39 ที่จริงปีการผลิต 2552-2553 ผลผลิตลดลงเหลือ 89.14 ล้านตัน เพราะเจอภัยแล้ง พื้นที่เกษตรกรรมครึ่งหนึ่งของประเทศได้รับผลกระทบหนัก แต่ที่สุดผลผลิตก็เพิ่มขึ้นหลังจากนั้น และแตะร้อยล้านตันในปี 2554 เพราะได้ลมมรสุมที่เหมาะสมช่วยหนุน
ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ไม่ใช่มาจากการเพิ่มพื้นที่ปลูก แสดงว่าเขาพัฒนาการปลูกข้าวของเขาได้ดีมาก
ผลผลิตข้าวของอินเดียต่อเฮกตาร์ (ราว 6.25 ไร่) เพิ่มจาก 1,336 กิโลกรัม ในปี 2523 เป็น 1,751 กิโลกรัม ใน 10 ปีต่อมา หรือถ้าจะนับระยาวกว่านั้น ผลผลิตต่อเฮกตาร์เพิ่มราว ร้อยละ 262 ระหว่างปี 2943 จนถึงปี 2535
ข้าว เป็นผลผลิตหลัก อินเดียมีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดในบรรดาผลผลิตเกษตรกรรมทั้งหลาย อากาศร้อนชื้นของอินเดียเหมาะแก่การปลูกข้าวอย่างยิ่ง อุณหภูมิที่เหมาะแก่การปลูกข้าวคือ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส และมีฝนเกิน 100 มิลลิเมตร ต่อปี ซึ่งอินเดียก็มีพื้นที่จำนวนมากตรงมาตรฐานนี้ พื้นที่ไหนที่มีฝนน้อยก็จะมีระบบชลประทานเข้าช่วย แต่บางรัฐอย่างอุตตรประเทศ ปัญจาบ และหรยาณา (Haryana) มักจะมีปัญหาน้ำท่วมช่วงมรสุม
ข้าวปลูกได้หลายวิธีแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ในอินเดีย วิธีการเพาะปลูกดั้งเดิมยังถูกนำมาใช้ในการเพาะปลูก คือยังไถพรวนด้วยคันไถแรงคน ใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย เหมือนที่ยังคงค้างอยู่ในชนบทของไทยจำนวนไม่มากนัก
พื้นที่ปลูกข้าวกระจายอยู่ตามพื้นที่ฝั่งทะเลทางตะวันตก ฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่จริงก็คือครอบคลุมพื้นที่สามเหลี่ยม อย่างพื้นที่อัสสัม ภูมิภาค Terai ไปจนถึงเขตใกล้หิมาลัย ในรัฐใหญ่อย่างเบงกอลตะวันตก รัฐพิหาร รัฐอุตตรประเทศ รัฐมัธยประเทศทางใต้และทางตอนเหนือ และรัฐโอริสสา ตลอดจนพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ที่กระจายไปทั่วประเทศ ชาวนาอินเดียทำนาได้อย่างน้อย 2 ครั้ง หลายที่ทำได้ 3 ครั้ง เลยทีเดียว
ระบบชลประทานมีกระจายทั่วไป กระทั่งในรัฐปัญจาบ และ รัฐหรยาณา (Haryana) ที่ภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับปลูกข้าวอยู่แล้ว ระบบชลประทานของอินเดียมีมานาน หนอง คลอง บึง เขาเจาะเชื่อมต่อกันได้เหมาะ
ซึ่งทำให้ฉันงงงวยมากกว่า เหตุไฉนคนจนอินเดียถึงยังมีมากเหลือเกิน
ข้าว เป็นพืชที่ปลูกบนพื้นที่สามเหลี่ยมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ทางตะวันออกที่มีลมมรสุมพาฝนและอากาศที่เหมาะสมมาช่วยในหน้าร้อน ที่จริงอินเดียมีอากาศและฝนที่เหมาะกับการปลูกข้าวทั้งประเทศ
รัฐบาลกลางสนับสนุนชาวนาให้เพิ่มผลผลิต มีโครงการสำคัญอย่าง Special Rice Development Program (SRPP) และ National Food Security Mission (NFSM) เพื่อส่งเสริมให้ชาวนาพัฒนาการทำนาของตนเอง และมีนโยบายช่วยเหลือทั้งการพัฒนาพันธุ์ เงินกู้ เครื่องจักร เพื่อให้ต้นทุนการทำนาต่ำที่สุด และผลผลิตเพิ่มมากที่สุด ไฟฟ้าและระบบชลประทานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางให้มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้เพื่อประโยชน์อื่น เครื่องจักรที่ใช้ในการทำนามีราคาถูกกว่าเครื่องจักรทั่วไป ปุ๋ยก็เช่นกัน
รัฐบาลยังสนับสนุนอย่างมากในการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ทนทานต่อโรคและศัตรูพืช
รัฐวิสาหกิจหลักที่รัฐบาลใช้ในการช่วยชาวนาคือ บรรษัทข้าวแห่งอินเดีย หรือ Food Corporation of India (FCI) บรรษัทนี้จะเข้ารับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนา และเป็นผู้แบกสต๊อกทั้งหมดไว้ รัฐบาลสนับสนุนราคารับซื้อข้าวสีแล้ว หรือสนับสนุนการส่งออก เพื่อให้ราคารับซื้อข้าวจากชาวนาสูงขึ้น
แม้โดยทั่วไปพื้นที่จะเหมาะสมกับการปลูกข้าว แต่ก็มีพื้นที่ไม่ประสบปัญหาฝนไม่สม่ำเสมอ ทั้งภัยแล้งไปจนถึงน้ำท่วม นอกจากนั้น ก็คือความยากจนของเกษตรกรที่นำมาซึ่งความขาดแคลนอ่อนด้อยในสารพัดทาง ขาดวัตถุดิบ ขาดนั่นนี่ไปหมดเหมือนชาวนาในประเทศอื่นๆ ที่มักจะยากจนเสมอ (มีชาวนาในญี่ปุ่นที่พ้นจากกฎเกณฑ์นี้ จากการสนับสนุนอย่างมากของรัฐบาล วันหลังจะเล่าให้ฟัง)
ปัญหาหนักอย่างหนึ่งคือ อินเดียยังขาดการบำรุงดิน เพราะเป็นประเทศใหญ่และภาระของรัฐบาลก็มีมากมายหลากหลายสำหรับประชากรพันกว่าล้านคน
ผู้เขียน : กรรณิกา เพชรแก้ว
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 13 ม.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.