ราคาข้าวที่ตกต่ำ มีต้นทุนการผลิตสูง หรือการเป็นหนี้ล้วนเป็นปัญหาเรื้อรังของชาวนาไทย ทั้งๆ ที่เคยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก ชาวนาซึ่งเป็นประชากรหลักของประเทศยังคงมีฐานะยากจนอยู่เมื่อเทียบกับชาวนาญี่ปุ่นที่แม้จะมีพื้นที่ทำนาน้อยกว่าแต่กลับมีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรญี่ปุ่นมีความเป็นอยู่ที่ดี เกิดจากมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็งและมีการใช้นวัตกรรมในระบบการผลิต
ปัจจุบันหลายภาคส่วนของไทย ได้พยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาข้าวราคาตกต่ำโดยการรับซื้อขายข้าวทางออนไลน์ การระดมทุน การเปิดจุดบริการรับซื้อข้าวจากชาวนา เป็นต้น วิธีการเหล่านี้แม้จะแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนไทย แต่ยังคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ยั่งยืน ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของชาวนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบสหกรณ์ที่มีการบริหารการเงินที่เหมาะสม มีการสร้างโรงสีชุมชน มีการจัดสรรเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ใช้ในชุมชน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง การทำเกษตรอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยสั่งตัด และนวัตกรรมเพื่อแปรรูปหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าว ฯลฯ จะทำให้ชาวนาสามารถวางแผนและจัดการการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิต ขายสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปข้าวสดเพียงอย่างเดียว มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย จึงจัดประชุมเวที TRF Forum เรื่อง "การแก้ปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืน : สหกรณ์และนวัตกรรมคือทางออก" เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืนในเชิงนโยบายแก่กระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในเวทีเสวนาดังกล่าวช่วงที่ 1 "การรวมกลุ่มและสหกรณ์...หนึ่งในทางออกของชาวนา"
นายบุญเกิด ผจก.สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่สหกรณ์การเกษตรต้องเผชิญ ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาราคาข้าวตกต่ำอย่างถึงขีดสุด โครงการที่รัฐช่วยชาวนา ขายข้าวออนไลน์เป็นการทำให้ผู้ผลิตพบกับผู้บริโภคโดยตรงและเป็นช่องทางการตลาดให้กับสหกรณ์ ทั้งนี้การจัดตั้งสหกรณ์ก่อให้เกิดการร่วมด้วยช่วยกันของพันธมิตร แต่ต้องมีความรู้เข้าไปหนุนเสริม และมีการสร้างแบรนด์ในสินค้าข้าว โดยหากรัฐอยากให้สหกรณ์ช่วยเหลือชาวนาเต็มศักยภาพ สหกรณ์จะต้องมีอุกรณ์ในการดำเนินการที่พร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรงสี คน ทุน โรงอบ ฉางเก็บข้าวเลือก ฯลฯ
ด้าน ผอ.เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ นายอดุลย์ โคลนพันธุ์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวล้นตลาดว่า ทางกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญจะขายก่อนแล้วค่อยปลูกหมายความว่า ไปรับออร์เดอร์จากลูกค้ามาก่อนแล้วค่อยวางแผนว่าจะปลูกข้าวแต่ละประเภท จำนวนเท่าไหร่ โดยเราแบ่งกลุ่มลูกค้าข้าวในประเทศเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ตลาดล่าง ลูกค้าที่เป็นกลุ่มแรงงาน สนใจสินค้าราคาถูก เน้นปริมาณ 2.ตลาดกลาง ลูกค้าคนทั่วไปที่สามารถซื้อข้าวได้ในราคาปานกลางและยอมรับในคุณภาพข้าวปานกลาง 3.ตลาดสูง ลูกค้าที่ต้องการบริโภคข้าวคุณภาพสูง เกรดพรีเมี่ยม ไม่เกี่ยงเรื่องราคา
ปัจจุบันเครือข่ายวิสาหกิจของเราประกอบด้วย 21 วิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก 3,500 ราย ผลิตข้าวได้ประมาณ 1,500 ตัน/ปี บนพื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ เคล็ดลับในการพาวิสาหกิจชุมชนให้อยู่รอดคือต้องรู้ว่าเราจะขายให้ใคร มีการกระจายความเสี่ยงโดยการหาลูกค้าหลายๆ ที่ ปัจจุบันข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ ส่งข้าวไปในแหล่งที่รับซื้อประจำทั้งในส่วนของที่สถานที่จัดประชุมอย่างไบเทคและอิมแพ็ค เมืองทองธานี โรงแรม 6 ที่ ร้านซิสเลอร์ และตลาดส่งออก
ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะไปถึงตลาดส่งออกได้คือการทำมาตรฐานทั้งในส่วนของ ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM และตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) แต่สำหรับมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ-มกอช. (National Bureau of Agricultural Commodity and Food Standards-ACFS) หรือ Organic Thailand ทั้งลูกค้าต่างประเทศและลูกค้าไทยยังไม่เชื่อมั่นเท่ามาตรฐานของต่างประเทศ โดยส่วนตัวมองว่าแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ดำเนินการยังไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวนาได้อย่างแท้จริง ตัวชาวนาและสหกรณ์จึงต้องพึ่งพาตัวเองก่อน และไม่อยากให้ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้คำว่า "การช่วยเหลือชาวนา" มาเป็นตัวประกันในการหาผลประโยชน์เข้าตนเอง นอกจากนี้ทางเรายังคิดกลยุทธ์ที่สามารถจำหน่ายข้าวได้ทั้งข้าวสวยและข้าวหักโดยการเจรจากับโรงแรมต่างๆ ว่าจะส่งข้าวกิโลกรัมละ 40 บาท ถ้ามีการผสมข้าวหักลงไปในอัตรา 80 : 20 จะจัดส่งในราคา 35 บาท เป็นต้นซึ่งคุณภาพของข้าวหักนั้นมีความแตกต่างจากข้าวธรรมดาเพียงเล็กน้อยลูกค้าจึงพึงพอใจในราคาจำหน่ายที่ถูกลงและทางเราก็จำหน่ายข้าวได้หมดแม้จะเป็นข้าวหักก็ตาม
ทั้งนี้ รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผอ.สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงข้อเสนอสำหรับสิ่งที่รัฐที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่ควรทำ ได้แก่
1.การจัดโซนนิ่งเพื่อจำแนกพื้นที่ทำนาตามคุณภาพ เช่น พื้นที่นาน้าฝน พื้นที่นาแล้ง ฯลฯ เพื่อการวางแผน ส่งเสริมการทำนาให้เหมาะสมกับบริบท ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทาน การจัดรูปที่ดิน การพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมการเชื่อมโยงโซ่คุณค่าเป็นต้น
2.การส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวนา อาจเป็นในรูปของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือ เป็นสมาชิกสหกรณ์ ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในขนาดธุรกิจ และสมรรถนะของชาวนาในการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อการเป็นองค์การพึ่งพาตนเองในอนาคตซึ่งต้องมีหน่วยงานพี่เลี้ยงไปช่วยยกระดับสมรรถนะเกษตรกรในเรื่องของการผลิต และการเชื่อมโยงธุรกิจ ของกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองด้านราคา และการเชื่อมโยงเครือข่ายในการเข้าถึงตลาด
3.นโยบายสาหรับการแก้ปัญหาเชิงระบบด้วยการใช้นวัตกรรมการยกระดับมูลค่าเพิ่ม ผ่านกลไกการจัดการโซ่คุณค่าในธุรกิจของกลุ่มและสถาบันเกษตรกร ซึ่งตัวแบบที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพรานที่กำลังเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับเครือข่ายผู้ผลิต
4.นโยบายการจัดการความรู้ที่เข้าถึงเกษตรกรและสร้างความเข้าใจในเรื่องของโครงสร้างการผลิต การตลาด การทำไร่นาสวนผสมเพื่อลดความเสี่ยงจากอาชีพทำนา ช่วยให้มีรายได้เสริมอีกทั้งยังจะ ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ตัวอย่างสำหรับการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เช่น หลักสูตรชาวนามืออาชีพที่มีสาระการเรียนรู้ที่นาไปสู่การปรับทัศนคติในการทำนาการปรับกระบวนทัศน์และการเพิ่มพูนความรู้ทักษะ
5.การบูรณาการการทำงานในรูปของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนที่ต้องเน้นชาวนา เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยมีกลไกการติดตามประเมินผลมิให้เกษตรกร ถูกเอาเปรียบ และภาษีตกไปเป็นประโยชน์ของพ่อค้า
6.ควรจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น Smart Officers เพื่อยกระดับสมรรถนะในทิศทางดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีความรู้ภาพใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ โครงสร้างการผลิต การตลาดข้าว การจัดการโซ่คุณค่า มีทักษะเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ และการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในการบรรลุเป้าหมาย
7.กำหนดประเด็น "การสร้างโซ่คุณค่าข้าวไทย"ที่มุ่งเน้นการวางแผนให้เกิดความสมดุล ระหว่างอุปสงค์อุปทานข้าวไทยทั้งระบบและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยเริ่มจากการสร้างระบบฐานข้อมูล ชาวนา ตามระบบโซนนิ่งและขับเคลื่อนโดยใช้ใช้กลไกการจัดการโซ่อุปทานที่มีผู้ประกอบการต่างๆเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ โดยรัฐจะใช้มาตรการและนโยบายสนับสนุน เช่น การลดหย่อนภาษีแก่ผู้ประกอบการ โรงสีผู้ส่งออก และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากข้าว การรณรงค์ให้คนในชุมชนบริโภคข้าวที่ผลิตในชุมชน การรณรงค์ให้คนในหน่วยงานรัฐและบริษัท มีกลไกการอุดหนุนข้าวจากชาวนาและสถาบันเกษตรกร โดยตรง เป็นต้น
สำหรับสิ่งที่รัฐไม่ควรทำ คือ
1.จัดสรรงบประมาณ การช่วยเหลือชาวนาที่เป็นโครงการเร่งด่วน เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ จะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดโชว์ผลงานที่เป็นตัวแบบและแนวปฏิบัติที่ดีมากกว่าการนาไปใช้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง
2.โครงการตามนโยบายรัฐที่ขึ้นมาจัดการเรื่องแก้ปัญหาข้าวค้างสต็อก ตัวอย่างเช่น โครงการกระจายข้าว ซึ่งทำอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดผลกระทบทำให้ราคาข้าวในฤดูกาลใหม่ตกต่ำ ทั้งนี้การแก้ปัญหาเรื่องข้าวและชาวนา อาจต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับนโยบายการลดพื้นที่ปลูกข้าวให้ไปปลูกพืชทดแทนได้สำเร็จนั้น ต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษ โดยตัวละครหลัก ประกอบด้วย รัฐบาล หน่วยงานรัฐทุกระดับ หน่วยวิจัยทุกระดับ ขบวนการ สหกรณ์ และที่สำคัญคือ ผู้บริโภคซึ่งจะเป็นตัวละครสำคัญ อันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า "ตลาดเป็นตัว กำหนดการผลิต" นั่นเอง รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รอง ผอ.ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์และรักษาการ ผอ.ฝ่าย ชุมชนและสังคม สกว. ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวเสริมว่า จากการบรรยายของวิทยากร ทำให้มองเห็นความพยายามร่วมกันที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้บริโภคได้รับประทานข้าวที่ปลอดภัย ทั้งนี้จากในกรณีของประเทศญี่ปุ่นจะพบว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องของของ "การทำตลาด" มาเป็นอันดับแรก"
นายอรุษนวราช เจ้าของ รร.สามพรานริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม กล่าวถึงนวัตกรรมการทำการตลาดข้าวว่าชาวนาจะดีขึ้นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองเป็นนักธุรกิจที่มองตลาดให้เป็นด้วย "สามพรานโมเดล" เป็นการการทำให้ผู้บริโภค ผู้ปลิต ได้ประโยชน์ร่วมกัน ภายในพื้นที่ตลาดสุขใจของโรงแรมมีการทำ Farmer Market ที่ผู้ผลิตจะมาเป็นผู้ขายเอง ด้านช่องทางการตลาดสำหรับเกษตรกรอินทรีย์โครงการ FARM TO FUNCTIONS ได้เชื่อมเกษตรกรอินทรีย์กับอุตสาหกรรม ส่งข้าวอินทรีย์ให้กับ 6 โรงแรม และ 3 ศูนย์การประชุม ประมาณ 300 ตัน/ปี ตามที่คุณอดุลย์ ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้รับรองแบบ PGS หรือ Participatory Guarantee Systems ของเกษตรกรอินทรีย์ใน จ.นครปฐม ที่ IFOAM ให้คำนิยามว่าคือ ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น ที่ให้การรับรองผู้ผลิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งมิได้เพียงทดแทนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แต่ยังเป็นการบริหารและพัฒนากลุ่มเกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างระบบรับรองการรับสมาชิกใหม่การขายและการตลาด โดยปัจจุบันเกษตรกร จ.นครปฐม จำนวน 11 กลุ่ม อยู่ในระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS และมีเกษตรกรจำนวน 60 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในปี 2559
ด้าน ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร รองหัวหน้าภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึง"เครื่องต้นแบบสกัดน้ำมันรำข้าวและข้อจำกัดทางนโยบาย" ว่า "น้ำมันรำข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง หรือ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น ฯลฯ และหากผลิตได้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้ามาก จากที่ข้าวขายได้ราคากิโลกรัมละ 7 บาท แต่น้ำมันรำข้าวขายได้แคปซูลละ 350 บาท โดยข้อดีของการสกัดน้ำมันรำข้าวคือ มีต้นทุนในการสกัดต่ำ ใช้เครื่องจักรจำนวนน้อยไม่มีกรรมวิธีการผลิตที่ยุ่งยาก ซับซ้อนสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมภายในครอบครัวได้ผลิตภัณฑ์
ผลพลอยได้สามารถนำไปจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์เสริมได้ และเครื่องสามารถนำไปสกัดใช้กับสินค้าเกษตรอื่นๆ แต่ปัญหาที่พบตอนนี้คือเกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ว่าน้ำมันรำข้าวมีประโยชน์ ไม่มีการส่งเสริมการผลิต ไม่มีช่องทางการตลาดไม่มีการรับรองมาตรฐานไม่มีเงินลงทุน และขาดตัวเครื่องซึ่งแต่ละตัวจะมีต้นทุนอยู่ที่เครื่องละประมาณ 80,000 บาท
ในขณะที่ ผช.ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ม.ทักษิณ วิทยาเขตสงขลา กล่าวถึงปัญหาของการพัฒนาข้าวว่าประกอบด้วย 1.ตัวเกษตรกร พื้นฐานองค์ความรู้ของเกษตรกร ความสามารถในการเรียนเรียนรู้ อายุของเกษตรกร ความพร้อมของตัวเกษตรกร
2.นักวิจัย ทำวิจัยตามความต้องการของตนเอง ทำวิจัยเพื่อเงินมากกว่าทำงานวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ นักวิจัยไม่สามารถนำงานวิจัยถ่ายทอดให้เกษตรกรใช้งานได้
3.ภาครัฐขาดนโยบายการทำงานอย่างต่อเนื่อง และการคอรัปชั่นในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐแนวทางการทางานเพื่อวิจัยและพัฒนาข้าวให้มีความยั่งยืนมีดังนี้คือ 1.เกษตกรต้องรู้จักตัวเอง และพึ่งพาตนเองและทรัพยากรที่มีในชุมชนเกษตรกรต้องเรียนการแปรรูปและการตลาดของข้าว และมีความสามารถในการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ส่งเสริมให้มีการทำงานวิจัยข้าวที่ร่วมกับเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มากขึ้น และ 3.หน่วยงานของรัฐต้องมีนโยบายการพัฒนาในเรื่องข้าวอย่างต่อเนื่อง
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้ดำเนินรายการกล่าวสรุปถึง นวัตกรรม 1 ในทางออกของชาวนาว่า การขายข้าวต้องคำนึงถึงตลาดเฉพาะและตลาดทั่วไป อย่างข้าวที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะอาจเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง บุคคลสำคัญสุดตลอดห่วงโซ่อาหารคือ "เกษตรกร"ต้องเปลี่ยนแค่คำว่าการขายข้าว เป็นความเข้าใจ ทั้งในเรื่องของการตลาด ตลอดจนมีทีมส่งเสริมเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์ที่รักษามาตรฐานไว้ได้ตลอด หรือในส่วนของข้าวหอมมะลิ หากเราอยากแข่งขันกับเวียดนามได้ น่าจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานความหอม เพื่อสร้างความแตกต่าง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่านโยบายเรื่องข้าวมีความละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงลูกค้าและตลาดที่มีความซับซ้อนและหลากหลายอยู่เสมอ
ที่มา : บ้านเมือง วันที่ 30 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.