ประเทศไทยถูกขนานนามจากประเทศอื่นๆ ว่าเป็นดินแดนสุวรณภูมิ ซึ่งหมายถึงพิ้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแผ่นดินทองของเอเชีย ในน้ำมีปลาในนามีข้าว กระทั่ง มีเป้าหมายไทยจะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ขณะที่ในความเป็นจริง คนที่ประกอบอาชีพการเกษตรส่วนใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จด้านอาชีพเท่าที่ควร ปัญหาส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ของภาคการเกษตรไทย
ทว่า ต้นตอของปัญหาดังกล่าวมาจากการวางแผนการพัฒนาทางการเกษตรของไทยไม่มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่มีความจำเป็นต่อภาคการเกษตร ซึ่งถ้าหากไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตคงไม่ยากเกินกว่าที่จะคาดเดาได้
จากบทเรียนที่ผ่านมาในเรื่องของน้ำ พบว่าภาคการเกษตรเจอทั้งปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเป็นวงกว้าง ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงที่รับผิดชอบดูแลภาคการเกษตรโดยตรง จึงได้พยายามที่จะปรับยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ เพื่อวางแผนบริหารจัดการภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเเข็งแกร่ง ผ่านการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ในการใช้น้ำให้เป็นระบบมากขึ้น คุ้มค่า เพียงพอกับการอุปโภคบริโภค และนำมาใช้ในภาคการเกษตรที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ
สำหรับในช่วงฤดูแล้งที่ใกล้จะเข้ามาถึงนี้ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล่าให้ฟังถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดว่าเท่าที่มีการตรวจสอบ ข้อมูลพบว่าช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้พื้นที่ทั่วประเทศจะใช้น้ำจากเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 448 แห่ง โดยลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด เป็นปีที่มีน้ำเข้าเกณฑ์เฉลี่ย ปริมาณน้ำใช้การ 9.7 พันล้านลบ.ม.ถือว่าดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าจะให้ดีต้องมีน้ำระดับ 1 หมื่นล้านลบ.ม.ขึ้นไป ซึ่งจะพอใช้เพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง
"หลังจากวันที่ 1 พ.ย.59 เป็นต้นมา กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำในทุกกิจกรรม 5.9 พันล้าน ลบ.ม.และเตรียมปริมาณน้ำสำรอง 3.7 พันล้านลบ.ม.ไว้กรณีฝนทิ้งช่วงเดือน พ.ค.ปี'60 โดยปี59/60 จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1.1 พันล้านลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 1.4 พันล้านลบ.ม. เพาะปลูกทำเกษตรต่อเนื่อง 400 ล้านลบ.ม. และใช้น้ำปลูกข้าวนาปรัง 2.9 พันล้านลบ.ม. ส่วนนาปรังรอบสอง ต้องขอให้งดปลูก ซึ่งเป็นไปตามแผนการที่วางเอาไว้"
รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เผยต่อว่า นอกจากนี้ทางกรมชลประทานก็ได้กันน้ำไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อสนับสนุน พื้นที่ที่ต้องปลูกข้าวก่อนพื้นที่อื่น ๆ เพื่อหนีฤดูน้ำหลาก โดยกระทรวงเกษตร ฯ ได้มีการศึกษา อย่างละเอียดจนเป็นที่มาของการปรับปฎิทินการเพาะปลูกพืชเร็วขึ้นก่อนฤดูน้ำหลาก และกันน้ำไว้อีก 70 ล้านลบ.ม. ในพื้นที่เร่งปลูกข้าวก่อนให้กับชาวนา อาทิ พื้นที่จ.พิษณุโลกและพิจิตร เพื่อหนีน้ำหลากเก็บเกี่ยวก่อน และจัดสรรพื้นที่เอาไว้เป็นแก้มลิงรับน้ำต้นฤดูฝนลดปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ
เลิศวิโรจน์ ยังย้ำด้วยว่าที่กล่าวมานั้นยังไม่รวมถึงการเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำผ่านแม่น้ำ และลุ่มน้ำต่างๆ จนมาถึงทุ่งเจ้าพระยาในคราที่ต้องรับน้ำหลาก ซึ่งไหลมาจากภาคเหนือในช่วงหน้าฝน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงเกษตรฯจะต้องวางแผนบริหารจัดการให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องจัดเก็บน้ำ เพื่อเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้งที่จะตามมา ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงาน วางแนวทางการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกันอย่างลงตัวไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นมา
"น่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาแหล่งปลูกข้าวของประเทศอย่างจริงจังเสียทีว่า น้ำที่ใช้ในปัจจุบันเกินครึ่งของปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อน ที่รัฐต้องบริหารจัดการเพื่อนำไปใช้ในการปลูกข้าวนาปรัง หากคิดตามหลักการลงทุน มันไม่คุ้มและน่าจะถึงเวลาปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่นที่คุ้มค่าแทน นั้นหมายถึงภาครัฐเองต้องมีพืชทางเลือกให้กับเกษตรกร ที่ต้องดูแล้วมันจูงใจให้เขาทำชดเชยกับการปลูกข้าวได้ ซึ่งจากนี้ไปก็น่าจะถึงเวลา "ต้องทำ" อย่างจริงจังแบบว่าบูรณาการณ์จริงๆ และต้องเริ่มทำทันที เพราะยิ่งนาน น้ำที่มีอยู่นั้นยิ่งต้องใช้อย่างจำกัดและคุ้มค่าที่สุด"
รองปลัดกระทรวงเกษตรฯยังย้ำด้วยว่านอกจากทุ่งเจ้าพระยาแล้วยังมีพื้นที่อื่นๆที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของภาคการเกษตรไทย ซึ่งพบว่า ขณะนี้มีหลายเขื่อนที่มีปัญหาน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย อย่างเช่นภาคอีสานตอนใต้ ที่ต้องงดส่งน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานเพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรัง เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอให้ปลูกพืชในฤดูแล้ง รวมถึงเขื่อนในลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ปีนี้ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อทำนาปรังได้ เพราะต้องกันน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลักและสำรองน้ำไว้ปี 2560 ด้วย
เนื่องจากปี 2559 ที่ผ่านมาน้ำจากสองเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำใช้การได้ 5.4 พันล้าน จัดสรรน้ำ 2.9 พันล้านลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภค 300 ล้านลบ.ม.รักษาระบบนิเวศ 1.7 พันล้านลบ.ม. ส่งน้ำปลูกพืชต่อเนื่อง 950 ล้านลบ.ม. รวมทั้งเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนปราบุรี เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำต้นทุนเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับปลูกพืชฤดูแล้งได้เช่นเดียวกัน ส่วนเขื่อนมีน้ำใช้การเกณฑ์น้อย ไม่ส่งทำนาปรัง แต่ส่งปลูกพืชฤดูแล้ง ได้แก่เขื่อนแม่งัด เขื่อนลำนางรอง เขื่อนบางลาง เพราะช่วงแล้งยาวถึง 6 เดือน จึงได้มีการกันน้ำจากเขื่อนไว้ให้ระบบปะปาได้มีการแจกจ่ายน้ำให้แก่ชุมชนเพื่อใช้อุปโภคบริโภคต่อไป
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีเเผนการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของภาคการเกษตร ก็เพื่อจะให้การทำเกษตรของเกษตรกรไทย ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน มีรายได้ที่ดี มั่นคง ไม่เดือดร้อนเพราะปัญหาน้ำท่วมหรือขาดแคลนน้ำเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ให้สมกับที่ไทยถูกมองว่า เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 4 ม.ค. 2560
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.