ก่อนอื่นขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องภาคใต้ต่อสู้กับอุทกภัยที่รุนแรงมากในครั้งนี้ครับ บางท่านถึงกับกล่าวว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี บางท่านก็ว่า 50 ปี นี่เป็นข้อมูลในพื้นที่ผสมกับประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูล ยังไม่ถือเป็น "สารสนเทศ" ครับต้องการกลั่นกรองกันก่อน
ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ผมได้ยินอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า "บางพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีฝนตกหนักถึงกว่า 600 มิลลิเมตรภายในหนึ่งวันหรือ 24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าฝนตกหนักมาก"
ผมพยายามค้นข้อมูลปริมาณน้ำฝนสูงสุดของประเทศไทยในช่วง 24 ชั่วโมง แต่ก็ไม่พบ สิ่งที่พบเป็นค่าเฉลี่ยรายเดือน ซึ่งไม่สามารถอธิบายเรื่องน้ำท่วมได้ดีพอ แต่ผมกลับพบข้อมูลฝนตกสูงสุดในฮ่องกงจำนวน 534 มิลลิเมตร (ปี 1926) ในรัฐควีนส์แลนด์ (ออสเตรเลีย) 907 มิลลิเมตร (ปี 1893) และที่เมือง Cilaos ฝรั่งเศส 1,825 มิลลิเมตร (ปี 1966) แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้บอกว่าน้ำท่วมหรือไม่ท่วม เท่าที่ผมจำได้ในบางพื้นที่ของจังหวัดสงขลามีฝนตกถึง 500 มิลลิเมตรใน 24 ชั่วโมง แต่น้ำก็ไม่ท่วม
ข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งสัมภาษณ์ชาวบ้านถึงสาเหตุน้ำท่วม เขาบอกว่า "ผมว่าเป็นเพราะ La Nina และผังเมือง" ผมก็เข้าไปค้นในทบวงภูมิอากาศของประเทศออสเตรเลียซึ่งศึกษาครอบคลุมถึงบริเวณประเทศไทยด้วยรายงานในช่วง 3-16 มกราคม 2560 เขาบอกว่า ยังไม่มีทั้ง El Nino และ La Nina แต่เป็นกลาง (neither El Niño nor La Niña, http://www.bom.gov.au/climate/enso/)
ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้ประตูระบายน้ำในโครงการพระราชดำริ (คุณประเสริฐ คงสงค์-สารวัตรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม) ได้ถ่ายรูปมาให้ดูว่า ประตูระบายน้ำเปิด 4 บานจากทั้งหมด 5 บาน (6 มกราคม) และเปิดเมื่อน้ำท่วมแล้วแทนที่จะระบายน้ำออกตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งๆ ที่น้ำทะเลอยู่ในระดับต่ำกว่า
ข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงพื้นที่แล้วถามชาวบ้านว่า "ต้องการอ่างเก็บน้ำไหม" ผมเช็กข้อมูลจากเขื่อนรัชชประภา (สุราษฎร์ธานี) พบว่าใน 24 ชั่วโมงระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียง 2 ล้านลูกบาศก์เมตรและบรรจุน้ำ 89% ของความจุแล้ว ถ้าจะช่วยป้องกันน้ำท่วมก็ได้น้ำแค่พื้นที่กว้าง 1 กิโลเมตร ยาว 2 กิโลเมตร ลึก 1 เมตร ในขณะที่พื้นที่ถูกน้ำท่วมกว้างขวางสุดลูกหูลูกตาราวกับทะเล แนวคิดเรื่องอ่างเก็บน้ำมันจะรับไหวหรือครับท่าน
ผมไม่ได้ตั้งใจจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุน้ำท่วมให้ละเอียดนะครับ แต่ผมอยากจะบอกว่าการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศไทยเรายังมีปัญหา รวมถึงท่านนายกฯ ด้วย
ผมขอหยุดเรื่องน้ำท่วมภาคใต้ซึ่งมีรายละเอียดเฉพาะพื้นที่เยอะมาก แต่ขอมามองในภาพรวมใหญ่ของโลกด้วยข้อมูลสำคัญ 2 ชิ้น คือ สถิติเรื่องจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในโลกกับข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีส่วนร่วมในก๊าซเรือนกระจกถึง 72%
ข้อมูลเรื่องจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติในโลก จัดทำโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า "The International Natural Databases" (http://www.emdat.be/) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติและรัฐบาลประเทศเบลเยียม ภัยพิบัติทางธรรมชาติในที่นี้มี 4 ประเภท (ดูจากกราฟข้างล่างครับ)
สิ่งที่น่าสนใจมากในกราฟนี้คือแนวโน้มของจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติครับ เราจะเห็นว่าในช่วงต้น (1950-1962) ทั่วโลกจะเกิดภัยพิบัติประมาณปีละ 20 ครั้ง (หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์วาตภัยที่แหลมตะลุมพุก นครศรีฯ 2505-ซึ่งผมเองได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย) แล้วก็เกิดเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยในช่วงปี 2000 จนถึงปัจจุบัน (2016) เฉลี่ยประมาณ 300 ครั้งต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 15 เท่าตัว
ที่เพิ่มมากที่สุดก็คือน้ำท่วม (สีน้ำเงิน) กับพายุ (สีเหลือง) อะไรคือสาเหตุสำคัญของการทำให้เกิดพายุและน้ำท่วม? ผมขอค้างเอาไว้ก่อนครับ แต่อยากให้ดูข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) จากภาพข้างล่างนี้
อย่าเพิ่งตกใจกับรายละเอียดหยุมหยิมนะครับกรุณาดูอย่างช้าๆ แล้วจะง่ายนิดเดียว
ภาพซ้ายมือแสดงจำนวนและแหล่งการเกิดขึ้นและถูกใช้ไปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2006-2015 ตัวเลขที่เห็นภาพต้องคูณด้วย 1,000 ล้านตัน นั่นคือ เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล 34,000 ล้านตันต่อปี ในขณะที่การใช้ประโยชน์จากการใช้ที่ดิน เช่น การไถและการเผามีเพียงประมาณ 1 ใน 10 ของการปล่อยจากการเผาฟอสซิล ยังมีรายละเอียดอีกเยอะแต่ขอพูดเท่านี้ก่อน
คราวนี้มาดูรูปกราฟทางขวามือ อาจจะเล็กไปสักนิดแต่พอดูได้นะ แล้วขอให้นำไปเปรียบเทียบกับกราฟจำนวนครั้งของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ได้นำเสนอไปแล้ว
ขอเริ่มต้นในปี 1950 ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่าง 1940-1960 พบว่ามีการปล่อยประมาณ 9,000 ล้านตัน แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 36,400 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว
แม้จำนวนเท่าของการเพิ่มจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติของโลกจะไม่เท่ากัน แต่แนวโน้มมันไปในทางเดียวกัน
นักสถิติเขาจะมีวิธีการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ชุดนี้ แต่คนทั่วไปดูด้วยตาเปล่าก็สามารถตอบได้ว่ามีความสัมพันธ์กัน ด้วยระดับความเชื่อมันที่สูงมากอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ผมยังได้เขียนเพิ่มเติมเอาไว้ในภาพว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมานี้ มนุษย์ได้ใช้พลังงานฟอสซิลเท่ากับเมื่อหลายร้อยปีย้อนหลังไป
การที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทำหน้าที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ ส่งผลให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์เข้ามาแล้วไม่สามารถออกกลับไปด้วย จึงส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยที่กราฟของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกและกราฟความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็มีลักษณะและแนวโน้มเดียวกันกับกราฟของจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและกราฟของปริมาณการปล่อยก๊าซ
หลายท่านอาจจะฝากความหวังไว้ที่ข้อตกลงปารีสที่ประชาคมโลกได้ให้สัตยาบันว่าจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมา เพื่อจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงไม่เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส ในกรณีที่หวังมากกว่านั้น
แต่จากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า แม้ไม่มีประเทศใดเบี้ยวเลยสักรายเดียว ก็ยังไม่สามารถลดลงมาได้ตามที่ต้องการ (ดูข้อมูลจากกราฟครับ) ในขณะที่ความจริงก็มีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาทำท่าจะเบี้ยว เดี๋ยวอีกไม่กี่วันก็คงจะรู้ว่าใครเป็นหมู่ใครเป็นจ่า
ผมอยากจะปิดท้ายบทความนี้ด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายร้อยเมืองตามชายฝั่งของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าหาว่าผมนำเรื่องคนอื่นทุกข์มาปลอบใจเลยครับบ้านเราน้ำท่วมเพราะฝนตกหนัก แต่ในสหรัฐอเมริกาน้ำท่วมทั้งๆ ที่ไม่มีฝน แดดจ้า และไม่มีหิมะ แต่เป็นน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำขึ้นสูงซึ่งเกิดจากโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
บางเมืองท่วมถึงปีละ 80 วัน ดูรูปครับแม้ความเสียหายไม่มากเท่าบ้านเรา แต่สร้างความเดือดร้อนรำคาญและงบประมาณของรัฐในการแก้ปัญหาสาธารณูปโภค
และโปรดสังเกตว่า จำนวนวันที่ถูกน้ำท่วมในแต่ละปีตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปี 2015 ก็เพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกันกับกราฟของภัยพิบัติ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ข้อมูลทุกอย่างมันสอดรับกันหมดครับ
นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า เรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องของทฤษฎีหรือในตำราอีกต่อไป แต่มันได้เกิดขึ้นจริงแล้วในหลายพื้นที่ของโลก โดยมีสาเหตุมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งในปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงที่แพงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์แล้วแต่ผู้นำโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำไทยกลับสร้างกฎหมายมาล้อมเป็นคุกกักขังไม่ให้คนไทยได้รับรู้ และปลดปล่อยตนเองจากทาสให้เป็นอิสระจากพ่อค้าฟอสซิล แล้วแถมด้วยภัยพิบัติที่ทำให้พี่น้องได้ทุกข์ทรมาน
เรื่องน้ำท่วมภาคใต้คราวนี้ แม้จะมีเหตุปัจจัยเฉพาะพื้นที่ แต่เราไม่สามารถละเลยปัจจัยสำคัญในระดับโลกได้ เราจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาในระดับโลก
หนทางที่โลกนี้จะกลับมาร่มเย็นและยั่งยืนยังมีครับ เช่น ขณะนี้กว่า 80 บริษัทชั้นนำของโลกต่างได้ให้สัญญาว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (World Economic Forum) ประธานาธิบดีประเทศอาร์เจนตินาได้ประกาศให้ปี 2017 เป็นปีแห่งพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ช่วยกันครับ ทุกคน ทุกบ้าน เริ่มได้เลยครับ เริ่มตรงไหนหรือครับ ก็เริ่มที่การทำความเข้าใจระบบของโลกครับ
ที่มา : ผู้จัดการ วันที่ 8 ม.ค. 2560
โดย ประสาท มีแต้ม
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.