ในปี 2559 ราคาข้าวตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นที่ราคาข้าว เปลือกหอมมะลิช่วงต้นฤดู ณ วันที่ 26 ต.ค.2559 ที่ความชื้น 30% ชาวนาขายได้ตันละ 6,800–7,000 บาท ส่วนความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 9,000 บาท เป็นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตกต่ำอย่างหนัก แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
มูลเหตุของราคาข้าวตกต่ำครั้งนี้ประเด็นสำคัญมาจากราคาข้าวในตลาดโลกทรุดฮวบ เนื่องจากผลผลิตข้าวของโลกออกมามาก ผลจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ประเทศไทยเองหลังจากเกิดภัยแล้งต่อเนื่องมา 2 ปี จึงเกิดภาวะ "อั้น" เกษตรกรอยู่ในภาวะยากลำบากทำนาไม่ได้มานาน พอฝนตกน้ำท่าดี จึงปลูกข้าวกันขนานใหญ่
เมื่อผลผลิตข้าวในตลาดโลกมีมากจนเกินความต้องการ และสต๊อกข้าวของโลกเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ราคาจึงตกต่ำตามหลักอุปสงค์อุปทาน ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่ เริ่มจากพ่อค้าผู้ส่งออกหันมากดราคารับซื้อจากโรงสี ส่วนโรงสีก็กดราคารับซื้อจากชาวนาเป็นทอดๆไป
นำไปสู่ความสนใจของผู้คนในสังคมที่ต้องการจะช่วยเหลือชาวนา และได้หาทางแก้ปัญหาให้ชาวนาขายข้าวโดยตรงสู่มือผู้บริโภค เพื่อตัดวงจรของพ่อค้าคนกลาง ดารานักแสดง และผู้มีชื่อเสียงต่างแสดงเจตนาให้ชาวนาขายข้าวออนไลน์ผ่านพื้นที่ของตนเองในโลกโซเชียลได้ ซึ่งกระแสแห่ช่วยชาวนาเป็นไฟลามทุ่งอยู่สักพักก่อนที่จะเงียบหายไป
ด้านการเมืองเรื่องข้าวก็ร้อนแรงปะทุขึ้นมา เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในคดีจำนำข้าว และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 35,717 ล้านบาท เปิดขายข้าวที่บอกว่าซื้อมาจากชาวนามาขายด้วยตนเอง มีภาพของการโอบกอดชาวนา แสดงความห่วงใยปรากฏให้เห็นในสื่อ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามตอบโต้กันไปมา
ขณะที่รัฐบาลทหารก็แก้ปัญหากันฝุ่นตลบหลังมีชาวนารวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลเรื่องราคาข้าวตกต่ำและดูท่าจะลุกลามใหญ่โต กดดันให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ต้องเรียกประชุมด่วน ในวันที่ 31 ต.ค.2559 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
มติ นบข.ในวันนั้นได้เห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ หรือโครงการจำนำยุ้งฉาง โดยเบ็ดเสร็จข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 15% ชาวนาจะได้รับเงินตันละ 11,525 บาท คำนวณมาจาก 90% ของราคาตลาด ซึ่งอยู่ที่ตันละ 9,700 บาท เมื่อคิดที่ 90% จะอยู่ที่ 8,730 บาท รวมกับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพไร่ละ 500 บาท หรือคิดเป็นตันละ 1,295 บาท และค่าเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางซึ่งเป็นโครงการเดิมอีกตันละ 1,500 บาท
หลังจากมติ นบข.ออกมา ราคาที่ได้ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของชาวนา จึงเกิดปรากฏการณ์ปาดหน้าเปลี่ยนมติ นบข.ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขึ้น ในตอนเช้าของวันที่ 1 ต.ค.2559 มีการประชุม นบข.นัดพิเศษ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในฐานะรองประธาน นบข. ซึ่งการประชุมนัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด
ผลปรากฏว่า นบข.นัดพิเศษได้ปรับราคาตลาดที่นำมาใช้คำนวณเป็นฐานของราคารับจำนำยุ้งฉางใหม่ จากเดิมคิดที่ 9,700 บาท เพียงข้ามคืนปรับขึ้นเป็น 11,000 บาท ส่วนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงสภาพข้าวก็ปรับขึ้นจากไร่ละ 500 บาทเป็นไร่ละ 800 บาท ส่งผลให้เงินที่ชาวนาจะได้รับสำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 13,000 บาท จากมติ นบข.วันก่อนหน้าอยู่ที่ตันละ 11,525 บาท
หลังจากนั้นรัฐบาลก็ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันออกมาสำหรับชาวนา ผู้ปลูกข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวหอมปทุมธานี โดยข้าวเปลือกเหนียวจะได้รับเงินที่ตันละ 13,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,500 บาท และข้าวหอมปทุมธานีตันละ 11,300 บาท
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2559 ได้ออกมาเป็นระลอกรวมแล้วใช้วงเงินมากกว่าแสนล้านบาท โดยโครงการรับจำนำยุ้งฉางในส่วนของการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงสภาพข้าวตันละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 12,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 41,090 ล้านบาท และยังมีงบประมาณจ่ายขาดเป็นค่าเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท จำนวน 5,679 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณที่ต้องใช้วงเงิน 46,769 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาปล่อยกู้ให้กลุ่มเกษตรกรในโครงการเกษตรแปลงใหญ่วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ในอัตรา 3% เป็นเวลา 5 ปี คิดเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท
ส่วนโครงการที่ออกไปก่อนหน้านี้ ที่สำคัญได้แก่ การสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 จำนวนประมาณ 3.7 ล้านราย โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ รวมงบประมาณของโครงการทั้งสิ้น 37,860 ล้านบาท
รวมถึงมาตรการดูแลหนี้สินเดิมผ่านโครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/2560 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 1.5% ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 1.5% ต่อปี คิดเป็นเงินที่รัฐบาลรับภาระปีละ 2,700 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท และโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 มีค่าใช้จ่ายในส่วนของภาครัฐจำนวน 2,071 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท จะช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท และผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะช่วยเหลือเงินรายละ 1,500 บาท รวมทั้งสิ้น 2.85 ล้านคน ใช้วงเงินประมาณ 6,540 ล้านบาท รวมทุกโครงการข้างต้นเป็นเงินทั้งสิ้น 101,640 ล้านบาท ยังไม่นับรวมโครงการยิบย่อยหลักร้อยล้านบาทอีกหลายโครงการ
เมื่อนำตัวเลขไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็พบว่าในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ทำโครงการประกันรายได้ โดยจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาตลาดอ้างอิงกับราคาประกันของรัฐบาลในฤดูการผลิตปี 2552/2553 ใช้เงินชดเชยไปให้เกษตรกรจำนวน 59,140 ล้านบาท และปี 2553/2554 อีกจำนวน 71,315 ล้านบาท รวม 2 ปีใช้เงินไปจำนวน 130,455 ล้านบาท
ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส.รับจำนำข้าวตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2554/2555 ถึงฤดูการผลิตปี 2556/2557 ไปกว่า 800,000 ล้านบาท มีข้าวเข้าโครงการทั้งหมด 55.77 ล้านตันข้าวเปลือก มีการชำระเงินคืนให้ ธ.ก.ส.ไปแล้วจำนวน 397,622 ล้านบาท มาจากเงินจากการระบายข้าว 288,482 ล้านบาท และมาจากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใช้หนี้ให้ ธ.ก.ส.จำนวน 109,140 ล้านบาท มีภาระหนี้คงเหลืออยู่ประมาณ 362,562 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้าวเหลือในสต๊อกจากโครงการรับจำนำอีกประมาณ 9 ล้านตัน โดยหลังรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 มีข้าวสารเหลือในสต๊อกประมาณ 18 ล้านตัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.2557 จนถึงวันที่ 6 ก.ย.2559 รัฐบาลนี้ได้เปิดระบายไปแล้วรวม 22 ครั้ง คิดเป็นปริมาณข้าวที่ระบายออกรวม 8,408,786 ตัน มูลค่า 85,563 ล้านบาท
นอกจากปริมาณข้าวสารที่เหลืออยู่ในสต๊อกจากโครงการรับจำนำจำนวนมากนี้จะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาข้าวแล้ว ทิศทางราคาข้าวในตลาดโลกก็ดูจะอยู่ในช่วงขาลง โดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (ยูเอสดีเอ) รายงานว่าในฤดูกาลผลิตข้าวปี 2558/2559 โลกมีสต๊อกข้าวสารรวม 116.3 ล้านตัน ขณะที่ในปี 2559/2560 เพิ่มขึ้นมา 4.6% อยู่ที่ 121.7 ล้านตัน
ขณะที่ผลผลิตข้าวสารทั่วโลกในปี 2558/2559 มีจำนวน 472.1 ล้านตัน ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 470.4 ล้านตัน ส่วนปี 2559/2560 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 483.8 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 11.7 ล้านตัน ส่วนความต้องการบริโภคข้าวอยู่ที่ 478.4 ล้านตัน จะเห็นว่าความต้องการบริโภคข้าวน้อยกว่าผลผลิตถึง 5.4 ล้านตัน
จากตัวเลขขั้นต้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผลผลิตข้าวโลกล้นตลาด และผลจากปริมาณการผลิตมากกว่าความต้องการมาหลายปีทำให้สต๊อกข้าวของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2550/2551 อยู่ที่ 80.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 121.7 ล้านตันในปี 2559/2560 หรือเพิ่มขึ้น 40.8 ล้านตันในรอบ 9 ปี ขณะที่การซื้อขายข้าวสารในตลาดโลกแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 41 ล้านตันเท่านั้น หรือประมาณ 8.4% ของผลผลิต ที่เหลือคือผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่า ราคาข้าวสาร 5% ของไทยในปี 2554 อยู่ที่ตันละ 549 เหรียญสหรัฐฯ, ปี 2555 อยู่ที่ตันละ 573 เหรียญสหรัฐฯ, ปี 2556 ตันละ 518 เหรียญสหรัฐฯ, ปี 2557 ตันละ 423 เหรียญสหรัฐฯ, ปี 2558 ตันละ 390 เหรียญสหรัฐฯ และปี 2559 ในเดือน ม.ค.-ต.ค.อยู่ที่ตันละ 402 เหรียญสหรัฐฯ ช่วงเวลา 6 ปี ราคาข้าวลดลงไปกว่า 147 เหรียญสหรัฐฯ และที่สำคัญคือราคาข้าวของไทยแต่ละชนิดยังสูงกว่าคู่แข่งด้วยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตลาด
จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวของทุกรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ใช้งบประมาณในลักษณะแจกเงินให้ชาวนามากกว่าที่จะใช้เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตอย่างจริงจังจึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น การบริหารจัดการน้ำให้สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพมากกว่าเน้นแค่ปริมาณ ผลผลิต รวมไปถึงการแก้ไขกลไกด้านตลาดที่ไม่ให้ชาวนาตกเป็นเบี้ยล่าง ไร้อำนาจต่อรอง.
**************
หากปล่อยให้การแก้ปัญหาเป็นแบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปแบบนี้เรื่อยๆ ประเทศ ไทยก็ยังจะต้องสูญเสียงบประมาณในลักษณะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนับแสนล้านเช่นนี้อยู่ทุกปี เหมือนการให้กินยาแก้ปวดชั่วครั้งชั่วคราว ก็เป็นได้แค่การเลี้ยงไข้ ไม่อาจรักษามะเร็งร้ายคือความยากจนให้ชาวนาได้.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 30 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.