เวลาคนพูดถึงรายได้ของเกษตรกรไทยว่าต่ำ คนเหล่านั้นมักจะมองแต่ราคาสินค้าเกษตร และมองข้ามรายได้ของคนที่อยู่นอกภาคเกษตร
ในหลายประเทศที่รายได้นอกภาคเกษตรสูงนั้น คนส่วนใหญ่จะเดินออกจากภาคเกษตรเอง ทำให้เหลือคนในภาคเกษตรไม่มาก รายได้เฉลี่ยของพวกเขา (เกษตรกร) ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย (ถึงแม้จะยังต่ำกว่าและผันผวนกว่าบ้าง) และในประเทศเหล่านี้ ต่อให้ปีไหนราคาสินค้าเกษตรดี ก็จะมีคนไม่มากที่หันกลับไปเป็นเกษตรกร
แต่ในไทยนั้น รายได้ของแรงงานนอกเกษตรไม่ได้สูงมาก ทำให้มีคนเดินเข้าออกไปมาระหว่างสองภาคนี้เกือบตลอดเวลา โดยคนเหล่านี้จะดูจากราคาสินค้าเกษตรหลักๆ (และมาตรการของรัฐที่มีผลต่อราคาสินค้าเกษตรเหล่านั้น)
แต่ถ้ากลับมาสู่คำถามที่ว่า แล้วทำไมรายได้ของคนนอกภาคเกษตรของไทยจึงไม่ได้สูงเหมือนในหลายประเทศ คำตอบส่วนหนึ่งคงมาจากคุณภาพคนและระบบการศึกษาที่สร้างคนเหล่านั้นขึ้นมา (จากตารางข้างล่าง จะเห็นได้้่ว่าเกือบ 3/4 ของเด็กไทยอยุู่ในระดับ(เกรด) 1-2 ในการสอบ PISA ในปีที่ผ่านมา) ในประเทศที่ขาดแคลนแรงงานอย่างในประเทศไทย แต่คนจำนวนมากยังมีผลิตภาพต่ำ (มีผลผลิตที่ต่ำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ) ค่าจ้างก็ย่อมจะสะท้อนปัจจัยเหล่านี้ด้วย
การแก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรและคนไทยในระยะยาว จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้คนไทยมีคุณภาพ สามารถวิเคราะห์/แยกแยะได้ ซึ่งข้อมูลที่เห็นในตารางข้างล่างก็ชี้ให้เห็นว่าเรามีคนที่มีความสามารถวิเคราะห์/แยกแยะน้อยมาก และสถานการณ์นี้คงจะไม่ดีขึ้นถ้าระบบการศึกษาของเราจะยังคงเน้นการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง รวมทั้งการท่องค่านิยมและการพร่ำสอนให้เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ทั้งในบ้าน รร และผู้ที่มีอำนาจ/บารมีในบ้านเมืองกันต่อไป
ที่มา : เฟซบุ๊ก Viroj NaRanong วันที่ 17 ธ.ค. 2559