ภาพของชาวนาที่สังคมไทยคุ้นเคย ย่อมหลีกหนีไม่พ้นความเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ต้องสำนึก (และสงสาร) ในพระคุณและความยากลำบากสำหรับคนไทยทั่วๆไป ภาพชนบทอันโรแมนติกสำหรับทั้งชนชั้นกลางที่ใฝ่หาความเรียบง่าย และสำหรับนักเคลื่อนไหวที่มองเห็นพวกเขาเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยศึกษาในทุกสาขาวิชา ก็ได้เพียรพยายามอธิบายให้สังคมไทยเห็นว่าภาพเหล่านี้ ไม่เพียงพอต่อไปแล้ว ที่จะใช้ในการอธิบายระบบสังคมของชาวนาไทยในปัจจุบัน
และได้ชี้ให้เราเห็นภาพในมุมที่กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น หรือในอีกนัยหนึ่ง ภาพชาวนาไทยในอุดมคติเหล่านั้น เป็นเพียงภาพในอดีตหรือมายาคติที่ไม่เคยเป็นจริง และสังคมชาวนาไทย ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปไกลเกินกว่าภาพเหล่านั้นมานานแล้ว
และนั่นก็คือสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ในงานเสวนา "พหุการเมืองของชาวนา" โดยเครือข่าย People Go Network เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ในโอกาสเปิดตัวหนังสือ "ชาวนาการเมือง: อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย" ฉบับแปลภาษาไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบทบทวิเคราะห์สำคัญที่สุด ที่เคยมีการศึกษาวิเคราะห์มา
แอนดรูว วอล์คเกอร์
โดยแอนดรูว วอล์คเกอร์ นักวิชาการไทยศึกษา ชาวออสเตรเลีย โดยในงานนี้ บรรดานักวิชาการไทยศึกษาที่โชกโชนในการค้นคว้าปัญหาเกี่ยวกับชนบทไทยมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาร่วมกันอภิปรายถึงประเด็นที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้
หนึ่งในลักษณะที่เปลี่ยนไปของชาวนา คือการปรับบทบาทของตนเองมาเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพียงชาวนาแบบทั่วไปอีกต่อไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขาเริ่มทิ้งวิธีคิดในแบบชาวนาดั้งเดิม ที่ปลูกข้าวเอาไว้กินและขายส่วนเกินไป มาเป็นวิธคิดแบบชาวนาในฐานะนักลงทุน ที่อยู่ในระบบตลาดและพร้อมที่จะยืนอยู่บนความเสี่ยงมากขึ้น
แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ และด้วยปัจจัยอะไรนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการมาจนถึงขณะนี้
อย่างไรก็ดี ระบบตลาดที่ชาวนาเลือกที่จะเสี่ยงเดินเข้าไปอยู่ทุกวันนี้ ดูจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีงามนักสำหรับชาวนาทุกคน อย่างที่เราเห็นสภาวะปัญหาของชาวนาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้ 'อานันท์ กาญจนพันธุ์' เห็นว่าระบบตลาดทุนนิยมในสังคมไทยนั้น ก็เปรียบได้เหมือนควาย ที่หากไม่ได้รับการสนตะพาย ก็ย่อมอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถควบคุมได้ และย่อมนำมาซึ่งอันตรายมากกว่าผลดีในความเจริญก้าวสำหรับทุกคนในระบบอย่างที่มันควรจะเป็น
และระบบตลาดของประเทศไทย ก็คือควายที่ไม่ได้สนตะพายเช่นนั้นนั่นเอง และนั่นเป็นเหตุผลให้ชาวนาที่ไม่มีอะไรเลยมารองรับความพร้อม ต้องประสบกับการขาดทุนจำนวนมหาศาล บางคนถึงขั้นล้มละลาย แต่ชาวนาเหล่านั้น ก็ยังคงมีความเชื่อในระบบตลาดที่ไม่ได้รับการสนตะพายนี้ และเล็งเห็นอยู่ว่ามันมีความท้าทายที่น่าเสี่ยงอย่างยิ่ง จนมิอาจไม่เสี่ยงได้
สำหรับ 'เกษียร เตชะพีระ' สิ่งที่สำคัญในความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือการปรับสถานะทางชนชั้นของชาวนาจากอดีต หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขาส่วนใหญ่ได้กลายมาเป็นชนชั้นกลางในชนบท ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่สิ้นไร้ไม้ตอกอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าพวกเขายังคงต้องพึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐอยู่ในหลายๆด้าน แต่พวกเขาก็มีการปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของสังคมเมืองในลักษณะของการต่อรอง เพื่อแลกกับทรัพยากรบางอย่างด้วยเช่นกัน เหมือนเช่นที่ชาวชนบทในสมัยก่อน (หรือกระทั่งสมัยนี้) มีการปฏิบัติประเพณีเพื่อเอาใจผีบรรพบุรุษ ให้ดลบันดาลสิ่งที่พวกเขาปรารถนา ตามความเชื่อของพวกเขา
เกษียร เตชะพีระ ,ภาพจาก waymagazine.org
และด้วยวิธีการแบบเดียวกัน สังคมชนบทของชาวนา ก็ได้นำวิธีการเดียวกันนี้มาใช้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมเมือง ทั้งการต่อรองผลประโยชน์กับทุนที่เข้ามาจากภายนอก กับรัฐที่ต้องการส่งเสริมโครงการอะไรสักอย่าง หรือกระทั่งกับความต้องการทางจริตของชนชั้นกลางชาวเมือง ไม่ว่าจะเป็น วิถีเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชผสมผสาน และอื่นๆอีกมากมาย
ซึ่งสุดท้ายการปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการเช่นนี้ ก็เพื่อการแลกเปลี่ยนทางทรัพยากรกับสังคมเมืองนั่นเอง
ดังนั้น ชาวนาไทยในปัจจุบันจึงอยู่ในสถานะที่มีความเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท ที่เข้าสู่ระบบทุนมานานแล้วเป็นอย่างยิ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ก็เพียงพอให้พวกเขายังคงสามารถอยู่รอดได้ในห่วงโซ่อาหารของระบบทุนนิยมเท่านั้น ด้วยความที่มันเป็นระบบตลาดที่ไม่ได้ถูกควบคุมให้สามารถเกลี่ยประโยชน์อย่างยุติธรรมต่อทุกคนได้
ธร ปิติดล ,ภาพจาก thaipublica.org
'ธร ปีติดล' เห็นว่าสุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจภาคเกษตรของไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนรูปลักษณ์บางประการไปเท่านั้น โดยเฉพาะในแง่มุมทางการเมือง การต่อรองผลประโยชน์ และลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชนบทกับเมือง แต่ทว่าความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนผลิตภาพทางเศรษฐกิจ กลับมีการเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก
อีกนัยหนึ่ง โครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้เปรียบต่อชาวนา ยังคงดำรงอยู่โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่เลย ซึ่งการอุดหนุนจากภาครัฐที่มีต่อเกษตรกร ก็เป็นเพียงตัวช่วยเพื่อมาพยุงให้พวกเขาอยู่รอดต่อไปได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในภาพปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแอนดรูว์เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา สภาพความสัมพันธ์ของรัฐที่มีต่อสังคมชนบท ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นไปอีก เมื่อรัฐไม่ใช่ผู้แทนประชาชนที่สามารถต่อรองผลประโยชน์ได้ และมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากฝ่ายการเมืองอย่างมาก
พหุการเมืองของชาวนา:มุมมองเชิงวิพากษ์จากรัฐศาสตร์ มานุษยวิทยาว่าด้วยอำนาจ และเศรษฐศาสตร์การเมือง
ที่มา : ispace Thailand วันที่ 14 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.