'ช่วยชาวนาขายข้าว' อยากเห็นแนวทางยั่งยืน บทความนี้เคยนำเสนอตอน 1 เมื่อวัน พฤ.ที่ 17 พ.ย. 2559
ผ่านมาราว 1 เดือนเห็นความเปลี่ยนแปลงชััด จึงขออนุญาตเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะเริ่มมองเห็นช่องทางและโอกาสที่น่าสนใจ จากแรกเริ่มเมื่อครั้งเห็นสังคมตื่นตัว เรื่องการจะช่วยชาวนาขายข้าวโดยตรงถึงมือผู้บริโภค เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ไม่คิดว่าจะแพร่หลายอย่างที่เห็น แต่ด้วยพลังสื่อสังคมสมัยใหม่ ทำให้ประเด็นจุดติดได้ง่ายอย่างไม่คาดคิด
การช่วยชาวนาขายข้าว ที่หลายหน่วยงานลุกขึ้นมาจัดเวที เปิดตลาดช่องทางขายใหม่ๆ ให้ชาวนา กลายเป็นเรื่องที่ทำกันแพร่หลาย และผู้บริโภคตอบรับเป็นจำนวนมาก
มาถึงวันนี้ต้องบอกว่า ไม่เพียงการขายข้าวแบบปลีกย่อยจากชาวนาสู่มือผู้บริโภคเท่านั้น แต่มันยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ช่องทางใหม่ ให้ชาวนาขายข้าวล็อตใหญ่ถึงมือผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มผู้ค้าข้าวรายย่อย รวมถึงหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่พร้อมใจกัน รับซื้อข้าวชาวนามาขายให้พนักงานในบริษัทโดยไม่บวกกำไร
บรรยากาศตื่นตัวครั้งนี้ทำให้เห็นโอกาสเรื่องช่องทางการตลาด สำหรับพี่น้องชาวนาไทยที่่ขายข้าวได้กก.ละ 30-35 บาท สำหรับข้าวหอมมะลิทั่วไป และสามารถขายข้าวเกรดพรีเมี่ยมได้กก.ละ มากกว่า 300 บาทได้โดยตรงถือมือผู้บริโภค
ไม่ต้องดูอื่นไกล ขออนุญาตยกตัวอย่างงาน 'ตลาดนัดพอเพียง' ที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-11 ธ.ค.2559 ที่สตูดิโอ NOW@SIAM สยามสแควร์ซอย7 ซึ่งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ งานนี้ไม่ได้มีเพียงการขายข้าวแต่มีสินค้าชุมชนมากมายมาร่วมออกร้านด้วย บรรยากาศการซื้อขายคึกคัก โดยเฉพาะร้านขายข้าวของชาวนาที่มาร่วมออกร้าน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ที่สำคัญการขายไม่จบแค่วันที่ 11 ธ.ค.เท่านั้น เพราะหลังงานได้รับข้อความจากชาวนาว่า มีออเดอร์ข้าวตามมาอีกเป็นตัน!.. ชาวนาดีใจคนจัดงานก็ดีใจ และดีใจยิ่งกว่าคือมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ของช่องทางการตลาด สินค้าคุณภาพดีราคาสมเหตุผลคือจุดขายที่นำสู่ความสำเร็จ งานนี้ชาวนาได้ขายข้าวในราคาที่มีกำไร ผู้บริโภคก็ได้ซื้อข้าวในราคาที่ถูกลง แถมได้สินค้าดีข้าวสารสดใหม่ จึงไม่แปลกที่จะมีออเดอร์ตามมาหลังงาน
ดูกรณีตัวอย่างนี้แล้ว ทำให้คิดได้ว่า ช่องทางการทำตลาดช่วยชาวนาไม่ยากเกินกำลัง หากมีผู้ให้ความสนใจที่จะช่วยเหลือจริงจัง ถ้าหน่วยงานรัฐจะเป็นคนกลางช่วยชาวนาขายข้าว โดยการจัดหาพื้นที่จัดตลาดเฉพาะกิจให้ ก็น่าจะช่วยได้ไม่น้อย จากนั้นชาวนาจะสามารถต่อยอดการขายไปได้เอง หากทำได้เช่นนี้ได้ทุกปีชาวนาก็คงไม่ต้องลำบากขายข้าวเปลือกขาดทุนปีแล้วปีเล่า ขอฝากเป็นแนวทาง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา เผื่ีอทำแผนงานช่วยเหลือชาวนาขายข้าวแบบยั่งยืนต่อไป
ที่มารูปภาพ : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 ธ.ค. 2559
โดย อรวรรณ หอยสังข์