"เมื่อก่อนปลูกข้าวต้องซื้อปุ๋ย ใช้เงินลงทุนไร่ละประมาณ 2,300–2,500 บาท ถึงต้นทุนจะแพงก็ไม่มีปัญหา ตอนนั้นข้าวราคายังดี มาปี 2557 แนวโน้มราคาข้าวเริ่มถูกลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีโครงการรับจำนำ อนาคตข้างหน้าข้าวราคาถูกแน่ๆ ถ้าจะทำนาไม่ให้ขาดทุน ไม่ต้องเป็นหนี้ใคร เลยมาคิดหาวิธีลดต้นทุนทำนาด้วยตัวเอง"
เงียบ อ่อนปุย ชาวนา ต.บ้านฝาง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า มีพื้นที่นาทั้งหมด 53 ไร่ ตั้งแต่เด็กเห็นพ่อกับแม่ทำนาปลูกข้าวมาตลอด เมื่อก่อนเกี่ยวข้าว ถ้ายังเปียก มีความชื้นจะนำฟ่อนข้าวมาตากให้แห้งตามหัวคันนา จากนั้นเอาไปนวดแล้วนำข้าวเปลือกมาผึ่งแดดบนลานดิน เพื่อลดความชื้นอีกที ก่อนเก็บเข้ายุ้งฉาง
แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ เพราะต้องพึ่งรถเกี่ยวข้าว เกี่ยวพร้อมกันทีเดียวทั้งหมู่บ้าน หนำซ้ำยุคนี้เกี่ยวข้าวเสร็จขายเป็นข้าวเปลือกรับเงินกันทันที จะไม่มีเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางรอราคา
เมื่อยุคข้าวเปลือกราคาถูกลงเรื่อยๆ ถ้าขายข้าวให้ได้ราคาดี ลุงเงียบ จึงคิดทำนาตามอย่างพ่อแม่ สมัครเข้าโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือก กับธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาตั้งแต่ฤดูนาปี 2557/58 นำเงินกู้มาสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกส่วนลานตากจะใช้ลานดิน ของหมู่บ้าน เพราะข้าวเปลือก จะแห้งอย่างช้าๆ ข้าวจะมีคุณภาพดีกว่าตากบนลานปูน...เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดจะสูง ไม่แตกหักมาก เหมือนตากลานปูน
"เอาข้าวเก็บยุ้งฉางระหว่างรอราคา เราต้องมีรายได้ทางอื่นมาเสริม เลี้ยงหมูขุน 23 ตัว ระยะเวลา 5-6 เดือน จับขายได้แต่ละรุ่นหลังหักค่าซื้อลูกหมู ค่าหัวอาหารยังได้กำเงิน 30,000 บาท ไม่เพียงจะได้เงิน ยังได้ปุ๋ยมูลหมูไปใส่นาข้าว แต่เลี้ยงแค่นี้ได้ปุ๋ยไม่พอ ต้องเลี้ยงวัวเพิ่มอีก 10 ตัว หลังเกี่ยวข้าว ปล่อยวัวลงนา ให้กินไป ถ่ายไปเป็นปุ๋ย พอถึงหน้าทำนาค่อยไถหน้าดินตากแดด แล้วเอามูลหมูมาใส่เพิ่มไปอีกที เลยทำให้ต้นทุนทำนาไร่ละ 2,300-2,500 บาท ลดเหลือ 1,200 บาท และยังมีรายได้จากการขายวัวอีก 200,000 บาทต่อ 2 ปี"
หลังปรับเปลี่ยนการใช้ปุ๋ย จากเมื่อก่อนเคยได้ข้าว 60-70 ถังต่อไร่... ช่วงปีแรกบางแปลงได้ข้าวไม่ถึง 45 ถัง...ปีที่ 2 ปริมาณข้าวเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 50 ถังต่อไร่
แม้ได้ข้าวปริมาณไม่มากเหมือนก่อน แต่หักต้นทุนยังมีกำไรเหลือ...ที่สำคัญเปลี่ยนมาทำนา นำข้าวเปลือกไปตากแดดบนลานดิน 3 วันแล้วเก็บเข้ายุ้งรอราคา นาปีที่เพิ่งจะผ่านไป ชาวนาเพื่อนที่ไม่ยอมลงทุนสร้างยุ้ง เกี่ยวข้าวเสร็จขายเลย ได้ตันละ 7,000-8,500 บาท
ส่วนข้าวของ ลุงเงียบ นอกจากข้าวจะแห้งได้ที่ เปอร์เซ็นต์ข้าวหักมีน้อย เลยได้ราคาที่รอคอย แบบเต็มๆตันละ 11,000 บาท...ให้ใครหลายคนที่เข้าคิวรอขาย ส่งสายตาอิจฉาไปตามๆกัน.
เพ็ญพิชญา เตียว
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 16 ธ.ค. 2559