ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา "เกาะสุกร" เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เกาะแห่งนี้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในแบบดั้งเดิม ปัจจุบันเกาะสุกรได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไปอย่างต่อเนื่อง จนต้องยอมรับว่า วันนี้ของเกาะสุกรได้เปลี่ยนไปในมิติของความเจริญเติบโตทางการท่องเที่ยวขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
ทันทีที่ภาคการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นการขยับตัวของราคาที่ดินก็สูงขึ้นเช่นกัน "ที่ดิน" มีการเปลี่ยนมือกันมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา "กลุ่มทุน" จากต่างถิ่นเริ่มเข้าไปกว้านซื้อที่ดิน มีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนนี้
ที่ดินบริเวณริมทะเลและผืนนาใกล้ ๆ ชายหาด จากเดิมที่ชาวบ้านเคยเดินไปมาได้ตามอิสระ ตามวิถีของคนที่นั่น กลับกลายเป็นว่ามีรั้วลวดหนามขึงพืดเต็มไปหมด พื้นที่ทุกแห่งก่อนหน้านี้ มีเส้นทางที่เชื่อมกับทะเลหรือริมชายหาดได้อย่างสะดวก ปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนบนเกาะสุกร และยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนพอในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เพราะการรุกเข้าไปของกลุ่มทุนนั้นเร็วกว่าการตั้งรับของคนในพื้นที่
เห็นได้จากกรณีมีการถมดินลงในลำคลองสาธารณประโยชน์จำนวนมหาศาลใกล้ ๆ กับถนนรอบเกาะ บริเวณริมชายหาด และได้ทำการออกเอกสารสิทธิที่ดินเป็นที่เรียบร้อย จนต้องมีการตรวจสอบกันยกใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้พบว่า เริ่มต้นจากเพียงแค่การที่ชาวบ้านถูกปิดทางเข้า-ออก กระทั่งมีการร้องเรียนเกิดขึ้น และท้ายที่สุดกลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว ในการทวงคืนลำคลองสาธารณประโยชน์ และเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ
จากปัญหาที่รุมเร้า ในหลากหลายมิติ อันเนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเกาะสุกร ขณะนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร เริ่มกำหนดแผนตั้งรับเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะริมชายหาด ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งจากถนนสายหลักและสายรอง ในทุก ๆ โซนของชุมชน
"ราตรี จิตรหลัง" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ริมทะเลของเกาะสุกร มากกว่า 50% อยู่ในการครอบครองของนายทุนจากต่างถิ่น ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถควบคุมการซื้อขายได้ การแก้ปัญหาจึงต้องนำระเบียบข้อบังคับมาใช้อย่างเข้มข้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ส่วนเรื่องถนนหรือเส้นทางลงสู่ริมชายหาดหรือทะเล ทาง อบต.จะพยายามสร้างโครงข่ายเส้นทางเหล่านี้ให้กระจายอยู่ภายในชุมชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในมิติทางสังคมบนเกาะสุกรนอกจากจะต้องใช้กฎระเบียบในการแก้ไขปัญหา การประสานความร่วมมือกับชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญ มีความคาดหวังว่าชาวบ้านจะหวงแหนพื้นที่ดินของตนเองมากขึ้น ไม่อยากให้มีการขายเปลี่ยนมือออกไปมากกว่านี้
ชาวบ้านอีกรายหนึ่งกล่าวให้ความเห็นว่า เสน่ห์ของเกาะสุกร คือ ความน่าสนใจทางด้านวิถีชีวิตมากกว่าความเจริญทางด้านวัตถุ แต่ด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดด บนความเชื่อว่าเกาะสุกรมีอนาคตทางการท่องเที่ยวที่สูงมาก เพราะจุดขาย คือ ความสงบ มีธรรมชาติที่สวยงาม และวิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะแห่งนี้ และด้วยสาเหตุนี้นี่เอง จึงเป็นที่มาของการกว้านซื้อที่ดิน และการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ตลอดจนการกระทำที่เข้าข่ายขบวนการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ แม้จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และทำลายทรัพยากรธรรมชาติก็ตาม
"ผลพวงของความเจริญเติบโตในวันนี้ คือ ความขัดแย้งและการทุจริต เกาะสุกรกำลังเผชิญกับปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวบ้านได้แต่หวังว่า การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ จะทำให้ลดปัญหานี้ลงไปได้บ้าง ชาวบ้านไม่ได้ประณามเหมารวมว่า นายทุนทั้งหมดจะเป็นคนที่ชั่วร้ายและเห็นแก่ตัว เพราะนายทุนต่างถิ่นดี ๆ เข้าใจชุมชน ไม่เอารัดเอาเปรียบก็มีอยู่ไม่น้อย"
นั่นคือเสียงสะท้อนของชาวเกาะสุกร ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการปลุกปั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มุ่งแต่ความเจริญทางด้านวัตถุ
ความคาดหวังของชาวเกาะสุกรในวันนี้คือขอให้การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด เพื่อการปกป้องสิทธิของชุมชน ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้านด้วยกันเอง การกีดกันนายทุนนั้นอาจจะไม่สามารถทำได้ แต่ต้องกำหนดให้นายทุนต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และมีความเคารพในวิถีชุมชนตามที่ควรจะเป็น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.